กรมพัฒน์ฯ อบรม 'เทคนิคการบริหารสินเชื่อ' ให้ผู้รับหลักประกันและผู้เกี่ยวข้องในจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง
กรมพัฒน์ฯ
อบรม 'เทคนิคการบริหารสินเชื่อ'
ให้ผู้รับหลักประกันและผู้เกี่ยวข้องในจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ติวเข้มหลักสูตร 'เทคนิคการบริหารสินเชื่อ' ให้ผู้รับหลักประกันและผู้เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจในจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง
เพื่อช่วยพิจารณาหลักทรัพย์ค้ำประกันและการพิจารณาสินเชื่ออย่างมีธรรมาภิบาล
เป็นการติดอาวุธความรู้ในการพิจารณาทรัพย์สินหลักประกัน 6 ประเภทและบริหารธุรกิจ มั่นใจ!! ช่วยเสริมเทคนิคพิจารณาการบริหารสินเชื่อ
การพิจารณาทรัพย์แต่ละประเภท สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้รับหลักประกัน ส่งผลดีต่อการเพิ่มจำนวนการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจนำไปต่อทุนในอนาคต
นางรวีพรรณ
ช้างเย็นฉ่ำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "วันนี้ (วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม
2565) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
มอบหมายให้เป็นประธานเปิดการอบรมหลักสูตร 'เทคนิคการบริหารสินเชื่อ' ณ โรงแรม บุรีศรีภู คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดสงขลา แก่ผู้รับหลักประกัน (สถาบันการเงินและผู้รับหลักประกันอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เช่น
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ผู้ประกอบธุรกิจแฟคตอริ่ง ผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อแบบลิสซิ่ง
และผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เป็นต้น)
และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ในจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง
โดยเนื้อหาการอบรมฯ แบ่งเป็น 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1) เทคนิคการบริหารสินเชื่อ
การพิจารณาทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกัน ตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ 6 ประเภท
2)
การพิจารณาสินเชื่ออย่างมีธรรมาภิบาล
เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรมทั้งธนาคารพาณิชย์
ธนาคารของรัฐ ผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด
(พิโกไฟแนนซ์) ให้สามารถนำไปปรับใช้ในการพิจารณาการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม และ 3)
ปัญหาที่พบในการปฏิบัติงานกับข้อกฎหมายของการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจจากผู้รับหลักประกันเพื่อเป็นองค์ความรู้ให้กับผู้รับหลักประกันรายอื่น
โดยกูรูด้านการพิจารณาทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ
อาจารย์วสันต์ เอกนุ่ม ติวเข้มผู้รับหลักประกันให้สามารถเป็นพี่เลี้ยงและให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องการนำทรัพย์สินแต่ละประเภทมาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ
เป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้
กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ
เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจ (โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี)
สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น
โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าที่ใช้ในการประกอบธุรกิจมาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้น
ได้แก่ 1)
กิจการ 2) สิทธิเรียกร้อง เช่น บัญชีเงินฝาก สิทธิการเช่า ลูกหนี้การค้า 3)
สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง เครื่องจักร รถยนต์
4)
อสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เช่น
ที่ดินจัดสรร/หมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม 5) ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น
เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ และ 6) ทรัพย์สินอื่น ซึ่งขณะนี้ คือ
ไม้ยืนต้น ทำให้
ผู้ประกอบธุรกิจยังสามารถใช้ทรัพย์สินนั้นต่อยอดทางธุรกิจหรือผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไป
ปัจจุบัน (ข้อมูล
ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2565)
มีผู้รับหลักประกันจำนวน 361 ราย และสถิติการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ
มีผู้มาขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 685,568 คำขอ
จำนวนเงินที่ใช้ทรัพย์สินเป็นหลักประกัน
รวมทั้งสิ้น 12,993,562 ล้านบาท
โดยสิทธิเรียกร้องยังคงเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด ร้อยละ 77.93 (มูลค่า
10,125,750 ล้านบาท) รองลงมา สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ
ได้แก่ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์
เรือ เครื่องบิน สัตว์พาหนะ ร้อยละ 22.04 (มูลค่า 2,863,999 ล้านบาท) ทรัพย์สินทางปัญญา ร้อยละ 0.02 (มูลค่า 1,991 ล้านบาท) กิจการ ร้อยละ 0.01
(มูลค่า 1,287 ล้านบาท)
อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ร้อยละ 0.003
(มูลค่า 398 ล้านบาท) และ ไม้ยืนต้น ร้อยละ 0.001 (มูลค่า 137 ล้านบาท)" รองอธิบดี กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2547 4944 e-Mail : Stro@dbd.go.th สายด่วน 1570 www.dbd.go.th
#PoweredByDBD
******************************************************
ที่มา :
กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ ฉบับที่ 83 /
วันที่ 31 พฤษภาคม 2565