กรมพัฒน์ฯ ร่วมใจประกาศเจตนารมณ์ ปฏิบัติงานตามหลักธรรมาภิบาล พอเพียง.. วินัย.. สุจริต.. จิตอาสา.. ภายใต้โครงการ 'พาณิชย์คุณธรรม' สร้างความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและประชาชนที่มารับบริการ

กรมพัฒน์ฯ ร่วมใจประกาศเจตนารมณ์ ปฏิบัติงานตามหลักธรรมาภิบาล

พอเพียง.. วินัย.. สุจริต.. จิตอาสา.. ภายใต้โครงการ 'พาณิชย์คุณธรรม'

สร้างความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและประชาชนที่มารับบริการ

          ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมใจประกาศเจตนารมณ์ ปฏิบัติงานตามหลักธรรมาภิบาล ยึดหลักคุณธรรม 4 ประการ พอเพียง.. วินัย.. สุจริต.. จิตอาสา.. ภายใต้โครงการ 'พาณิชย์คุณธรรม' มั่นใจ พร้อมก้าวสู่การเป็นพาณิชย์คุณธรรมต้นแบบ สร้างมาตรฐานการทำงาน พัฒนาการให้บริการ เต็มที่ เต็มใจ เต็มร้อย ประพฤติตนเป็นคนดีทั้งต่อตัวเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ สร้างความดีคู่ขนานมีคุณธรรม มั่นใจ!! ช่วยยกระดับการให้บริการและสร้างความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ/ประชาชนที่มาติดต่อราชการ

        นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 100 ในการให้บริการภาคธุรกิจและประชาชน (สถาปนากรมพัฒนาธุรกิจการค้า ครบรอบ 100 ปี : วันที่ 16 มกราคม 2566) ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมฯ ได้พัฒนาการให้บริการมาอย่างต่อเนื่อง โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาระบบการบริการให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย แต่มีสิ่งหนึ่งที่กรมฯ ปลูกฝังและเน้นย้ำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมฯ ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด คือ การประพฤติตนเป็นคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริต ให้บริการประชาชนด้วยความเต็มใจ ไม่ด้อยค่าตนเองด้วยการทำผิดศีลธรรมอันดี จนถึงปัจจุบัน แนวปฏิบัติดังกล่าวยังคงดำเนินเรื่อยมา โดยมีการปรับรูปแบบการทำความดีให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบททางสังคม แต่ยังคงตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความมีคุณธรรม จริยธรรม ความประพฤติดี ประพฤติชอบ"

        "เพื่อให้ปณิธานการทำความดีได้รับการถ่ายทอดสู่สาธารณชน ยกระดับการบริการและสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคธุรกิจ/ประชาชน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ร่วมใจกันประกาศเจตนารมณ์ ปฏิบัติงานตามหลักธรรมาภิบาล โดยยึดหลักคุณธรรม 4 ประการ ประกอบด้วย 1) พอเพียง บุคลากรทุกคนมีความพอเพียงในการดำเนินชีวิต ยึดหลักทางสายกลาง บนพื้นฐานความพอดี พอกิน พอใช้ พอประมาณ ความไม่ประมาท มีเหตุผล และสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ใช้ความรู้คู่คุณธรรมในการดำเนินชีวิต 2) วินัย บุคลากรทุกคนจะปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบ แบบแผนของทางราชการ โดยมีวินัย ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่และรับผิดชอบหน้าที่ของตน รวมทั้ง รักษาชื่อเสียง และรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ"

        "3) สุจริต บุคลากรทุกคนจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในความจริง ความถูกต้อง ความชอบธรรม ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่น และ 4) จิตอาสา บุคลากรทุกคนใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มีจิตสาธารณะ บำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม และทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน"

        อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า "นอกจากเหล่าข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมฯ จะร่วมใจกันประกาศเจตนารมณ์ และยึดหลักคุณธรรมเป็นแนวปฏิบัติราชการและครองเรือนแล้ว ยังจะมีการจัดกิจกรรมทำความดีรูปแบบต่างๆ เพื่อร่วมรับผิดชอบและสร้างสรรค์สังคมไทยให้น่าอยู่ เช่น กิจกรรมมีส่วนร่วมและสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับประชาชน เน้นรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งระดับปัจเจกและองค์รวม เป็นการสร้างบรรทัดฐานการยอมรับความเห็นต่าง ลดความเหลื่อมล้ำ-สร้างความเท่าเทียม ก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลการบริหารรัฐกิจ"

        "ทั้งนี้ การประกาศเจตนารมณ์ ปฏิบัติงานตามหลักธรรมาภิบาล เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ 'พาณิชย์คุณธรรม' ที่กระทรวงพาณิชย์จัดขึ้นเพื่อให้หน่วยงานในสังกัดนำไปดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมในองค์กร ยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักศาสนา โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและวิถีวัฒนธรรมไทยที่ดีงามเป็นหลักธรรมในการดำรงชีวิต ตลอดจนมีส่วนร่วมรณรงค์ส่งเสริมคุณธรรม โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพร้อมก้าวสู่การเป็นพาณิชย์คุณธรรมต้นแบบ เพื่อสร้างมาตรฐานการทำงาน พัฒนาการให้บริการภาคธุรกิจและประชาชนอย่างเต็มที่ เต็มใจ เต็มร้อย ประพฤติตนเป็นคนดีทั้งต่อตัวเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ยึดมั่นที่จะสร้างความดีคู่การมีคุณธรรม พร้อมปรับเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยม และวิธีทำงานโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง สามารถร่วมทำงานกับภาคประชาชนและภาคเอกชนได้อย่างราบรื่นและเป็นมิตร เป็นการยกระดับการให้บริการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งส่งผลดีต่อเสถียรภาพของภาครัฐและความเจริญก้าวหน้าของประเทศในระยะยาว" อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย  

#PoweredByDBD

****************************************

ที่มา : สำนักงานเลขานุการกรม                                                                 ฉบับที่ 34 / วันที่ 7 มีนาคม 2565