สินิตย์ ปลื้ม "ธุรกิจผลิตและแปรรูปสมุนไพร"รุ่ง! นิติบุคคลจัดตั้งใหม่ 9 เดือนเพิ่มขึ้นเกือบ 70% จากปีก่อน รับอานิสงส์ผู้บริโภคหนุนภูมิปัญญาไทย ใช้สมุนไพรดูแลตัวเองช่วงโควิด-19 ระบาด
สินิตย์ ปลื้ม "ธุรกิจผลิตและแปรรูปสมุนไพร" รุ่ง!
นิติบุคคลจัดตั้งใหม่ 9 เดือนเพิ่มขึ้นเกือบ 70% จากปีก่อน
รับอานิสงส์ผู้บริโภคหนุนภูมิปัญญาไทย ใช้สมุนไพรดูแลตัวเองช่วงโควิด-19 ระบาด
กระทรวงพาณิชย์ ชี้ยอดจดทะเบียนตั้งใหม่ธุรกิจผลิตและแปรรูปสมุนไพรพุ่ง 9 เดือนแรกมีจำนวน 117 ราย เพิ่มขึ้น 48 ราย คิดเป็น 69.56% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 จากบทวิเคราะห์ธุรกิจประจำเดือนกันยายน 2564 ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมาผู้บริโภคมีความตื่นตัวนำสมุนไพรไทยมาใช้ดูแลตัวเองและรักษาอาการเบื้องต้นของโรคต่างๆ มากขึ้น ส่งผลให้เกิดนักธุรกิจไทยหน้าใหม่เข้ามาครองตลาดสมุนไพรกว่า 93.06% โดยมีนโยบายรัฐบาลช่วยสนับสนุน ตั้งเป้าเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ในอาเซียน
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจที่มีศักยภาพเป็นรายเดือน เพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาและอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง จากบทวิเคราะห์ธุรกิจประจำเดือนกันยายน 2564 พบว่า "ธุรกิจผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร" มีอัตราการเติบโตของธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดใน 9 เดือนตั้งแต่มกราคม-กันยายน 2564 มีนิติบุคคลจัดตั้งใหม่จำนวน 117 ราย เพิ่มขึ้น 48 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ที่มีจำนวน 69 ราย คิดเป็น 69.56% และในปี 2564 (9 เดือนแรก) มีทุนจดทะเบียน จำนวน 305.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 จำนวน 109.74 ล้านบาท คิดเป็น 56.04%
รมช.พณ. กล่าวต่อว่า "ประเทศไทยมีนิติบุคคลที่จดทะเบียนเป็นธุรกิจผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร จำนวน 1,014 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 6,669.97 ล้านบาท โดยนิติบุคคลส่วนใหญ่จัดตั้งในรูปแบบบริษัทจํากัดจำนวน 886 ราย คิดเป็น 87.37% แบ่งมูลค่าทุนเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1 ล้านบาท จํานวน 667 ราย ทุนจดทะเบียน 1.01-5.00 ล้านบาท จํานวน 262 ราย ทุนจดทะเบียน 5.01-100 ล้านบาท จํานวน 75 ราย และมากกว่า 100 ล้านบาท จํานวน 10 ราย จากจำนวนนี้คิดเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) มากที่สุด จํานวน 983 ราย คิดเป็น 96.94% ธุรกิจขนาดกลาง (M) จํานวน 22 รายคิดเป็น 2.17% และธุรกิจขนาดใหญ่ (L) จํานวน 9 ราย คิดเป็น 0.89% ทั้งนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่จัดตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครจำนวน 430 ราย คิดเป็น 42.41% ทุนจดทะเบียนรวม 2,529.52 ล้านบาท"
"ปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้ธุรกิจฯ เติบโตอย่างมีนัยสำคัญมาจากการตื่นตัวของผู้บริโภคที่นำสมุนไพรมาใช้เพื่อดูแลตนเองและบรรเทาอาการเจ็บป่วยในเบื้องต้นและเกี่ยวเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การนำสมุนไพรไทยที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านซึ่งผ่านการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพได้ถูกนำมาใช้ร่วมในการรักษา สุขภาพและกลายเป็นธุรกิจใหม่ที่มาแรงในขณะนี้ โดยพบว่าการลงทุนในธุรกิจฯ มาจากนักลงทุนสัญชาติไทยมากถึง 93.06% มูลค่า 6,205.30 ล้านบาท อีกทั้งจากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยในประเทศไทยยังส่งผลให้การรักษาด้วยยาสมุนไพรเป็นทางเลือกสำคัญและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามมาอีกด้วย"
"นอกจากนี้ รัฐบาลให้การสนับสนุนโดยเน้นการพัฒนาสมุนไพรไทยตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ไปจนถึงการส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรและตั้งเป้าเป็นตลาดชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน ในปี 2564 มีมูลค่าการส่งออกเครื่องเทศและสมุนไพรไทย (มกราคม-สิงหาคม) จำนวน 6,288.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีจำนวน 3,453.65 คิดเป็น 82.08% ดังนั้น จึงไม่ใช่แค่เพียงความท้าทายในการเติบโตของธุรกิจนี้ในประเทศเท่านั้น แต่ด้านการส่งออกก็ยังช่วยให้สมุนไพรไทยกลายเป็นที่นิยมกับผู้บริโภคต่างชาติได้เช่นกัน โอกาสนี้ จึงขอฝากไปถึงผู้ประกอบธุรกิจจะต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ พร้อมนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการผลิตเพื่อสร้างมาตรฐานสินค้าให้เป็นที่ยอมรับในสากล ประกอบกับให้ความสำคัญกับความปลอดภัยตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการปลูกสมุนไพรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า และสร้างตลาดรองรับการเติบโตที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต" รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย
#PoweredByDBD
****************************************
ที่มา : กองข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฉบับที่ 15 / วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564