กรมพัฒน์ฯ ปรับแผนตรวจนอมินี...ยุคโควิด-19เน้นตรวจสอบเชิงแนะนำ...ให้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย

กรมพัฒน์ฯ ปรับแผนตรวจนอมินี...ยุคโควิด-19
เน้นตรวจสอบเชิงแนะนำ...ให้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย
 
          กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ลุยตรวจนอมินีต่อเนื่อง...ปรับแผนยุคโควิด-19 เน้นตรวจสอบเชิงแนะนำให้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย ไม่วาย..ปี 2563 โควิด-19 ระบาด พบนิติบุคคลน่าสงสัยว่าอาจมีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นความผิดนอมินี 3 ราย ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยว 2 ราย และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1 ราย ส่งข้อมูลกรมสอบสวนคดีพิเศษขยายผลสอบสวนเชิงลึกเพิ่มเติม หากผิดจริงต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 แสน - 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
          นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำเนินการติดตามตรวจสอบนิติบุคคลไทยที่มีคนต่างด้าวร่วมถือหุ้นที่อาจมีลักษณะนอมินีมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 ธุรกิจเป้าหมายที่ตรวจสอบ ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ และโรงแรม รีสอร์ท สำหรับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวได้บูรณาการการตรวจสอบร่วมกับกรมการท่องเที่ยว กรมสอบสวนคดีพิเศษ และตำรวจท่องเที่ยว ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญและเป็นแหล่งที่มีคนต่างชาติมาลงทุน
 
          โดยผลการตรวจสอบเบื้องต้น พบนิติบุคคลน่าสงสัยว่าอาจมีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นความผิดนอมินี จำนวน 3 ราย ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง 2 ราย (จังหวัดชลบุรีและเชียงใหม่) และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1 ราย (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) ซึ่งกรมฯ ได้ส่งข้อมูลให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนสอบสวนเชิงลึกเพิ่มเติม เช่น ตรวจสอบความสัมพันธ์ของคนไทยกับชาวต่างชาติ ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ตรวจสอบการจ่ายชำระภาษี ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งหากเข้าข่ายเป็นความผิดนอมินี กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะร้องทุกข์กล่าวโทษตามขั้นตอนของกฎหมาย หรือหากธุรกิจที่กระทำความผิดมีมูลค่าสินทรัพย์ตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป กรมสอบสวนคดีพิเศษจะรับเป็นคดีพิเศษเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
 
           อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า สำหรับปี 2564 กรมฯ กำหนดกลุ่มธุรกิจเป้าหมาย 3 ประเภทธุรกิจ คือ ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวกับการเกษตร (ล้ง) ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ ชลบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร โดยลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว 2 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ตและเชียงใหม่ เบื้องต้นพบพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายนอมินีของผู้ถือหุ้นคนไทยจำนวน 11 ราย ซึ่งถือหุ้นร่วมกับคนต่างด้าวในหลายบริษัท มูลค่าหุ้นรวมกว่า 200 ล้านบาท กรมฯ อยู่ระหว่างตรวจสอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของแหล่งเงินทุน การถือครองหุ้นในแต่ละช่วงเวลา และอาจต้องส่งข้อมูลให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสอบสวนในเชิงลึกต่อไปด้วย
 
          อย่างไรก็ดี ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ที่แพร่กระจายในหลายพื้นที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจจำนวนมากทำให้ต้องหยุดดำเนินกิจการชั่วคราว ซึ่งธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวเช่นเดิม กรมฯ และหน่วยงานพันธมิตรได้ปรับแผนการตรวจสอบฯ โดยจะเน้นตรวจสอบเชิงแนะนำการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว การขออนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว รวมถึง มีการติดตามและประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดก่อนดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบการกระทำผิดจะส่งดำเนินคดีให้ถึงที่สุดทุกราย เพื่อปราบปรามไม่ให้มีการใช้ตัวแทนอำพรางและอาจลงพื้นที่เดิมซ้ำหรือพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติม
 
         ทั้งนี้ การกระทำความผิดเกี่ยวกับการถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) ส่วนใหญ่เกิดจากการที่มีคนไทยยอมรับผลประโยชน์ หรือสมยอม หรือที่ปรึกษากฎหมายแนะนำให้หลีกเลี่ยงกฎหมาย และจากฐานข้อมูลพบว่ามีคนไทยถือหุ้นในกิจการร่วมกับคนต่างด้าวในหลายๆ กิจการ ซึ่งเป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับที่มาของแหล่งเงินทุนของคนไทยรายดังกล่าว อีกทั้ง ปัญหาเรื่องนอมินีเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศในวงกว้าง หากไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้จะทำให้ไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและสูญเสียรายได้เป็นอย่างมาก ดังนั้น กรมฯ จึงขอเตือนคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เพื่อให้คนต่างด้าวสามารถประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมาย คนไทยที่ถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในลักษณะนอมินี รวมทั้ง กรรมการบริษัทก็ต้องรับผิดด้วย โดยมีความผิดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 - 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000 - 50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
 
#PoweredByDBD
 
***************************************************
 
ที่มา : กองธรรมาภิบาลธุรกิจ                                                                              ฉบับที่ 74 / วันที่ 19 มีนาคม 2564