ด่วน!!! ผู้ประกอบการโชวห่วยควรเร่งปรับตัว หลังโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่
ด่วน!!! ผู้ประกอบการโชวห่วยควรเร่งปรับตัว หลังโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่
ใส่ใจเรื่องความสะอาดของร้านค้าและสินค้าโดยต้องปราศจากเชื้อโรค
พร้อมรับพฤติกรรมใหม่ผู้บริโภค...ใช้ชีวิตในสังคมแบบสุขอนามัยที่ยั่งยืน
กระทรวงพาณิชย์ เตือน!! ผู้ประกอบการโชวห่วย...นิ่งเฉยไม่ได้แล้ว หลังโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ การ์ดต้องตั้งให้สูงขึ้น พร้อมระวังเรื่องความสะอาดของร้านค้าและสินค้าโดยต้องปราศจากเชื้อโรค ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่ยกระดับจาก New Normal เป็น Next Normal เพิ่มความระมัดระวัง...ใช้ชีวิตในสังคมแบบสุขอนามัยที่ยั่งยืน
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไปอีกขั้น โดยอยู่บนพื้นฐานของความระมัดระวังมากขึ้น และมีการยกระดับการดำเนินชีวิตจาก วิถีปกติใหม่ (New Normal) เป็น วิถีปกติถัดไป (Next Normal) ที่เทคโนโลยีดิจิทัลจะกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตและเข้ามามีบทบาทในทุกมิติ โดยทุกคนต้องหันมาพึ่งพาตนเองมากขึ้น ดังนั้น ร้านค้าโชวห่วยของไทยจึงไม่สามารถประกอบธุรกิจได้เหมือนเดิมอีกต่อไป ต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภค เช่น ปรับวิธีการบริหารจัดการร้านค้าให้เป็นระบบ/ระเบียบมากขึ้น ต้องให้ความใส่ใจเรื่องสุขอนามัยที่ดี ร้านค้า/สินค้าต้องสะอาดปราศจากเชื้อโรค และต้องหมั่นทำความสะอาดร้านค้าให้บ่อยมากขึ้น รวมทั้ง ต้องใช้ระยะห่างทางสังคมเข้ามาช่วยในการบริหารลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการภายในร้านค้า สินค้าในร้านต้องหาง่าย เนื่องจากลูกค้าจะใช้เวลาอยู่ภายในร้านไม่นาน ฯลฯ และที่สำคัญ คือ ต้องเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์ควบคู่กับการขายสินค้าหน้าร้าน (Omni-Channel) ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้เพิ่มขึ้นทั้งลูกค้ารายเดิมและลูกค้ารายใหม่ ซึ่งผู้ค้าไม่จำเป็นต้องสร้างเว็บไซต์เป็นของตนเอง แต่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้กันอยู่เป็นประจำ เช่น แอพพลิเคชั่นไลน์ หรือ แมสเซนเจอร์ เป็นช่องทางการตลาดให้กับผู้บริโภคในการสั่งซื้อสินค้า ซึ่งผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่จะมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าวกันอยู่ก่อนแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเรียนรู้การใช้สื่อสังคมออนไลน์เพิ่มเติม เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ซื้อ และผู้ขายก็จะมียอดขายเพิ่มขึ้น โดยมีการจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าแบบเดลิเวอรี เช่น จักรยานยนต์ หรือ จักรยาน เป็นต้น"
นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังเดินหน้าผลักดันให้ร้านค้าโชวห่วยมีการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการร้านค้า เช่น ระบบการขายหน้าร้าน (Point of Sale : POS) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน/เพิ่มกำไรให้แก่ธุรกิจ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุค Next Normal และแข่งขันได้อย่างยั่งยืน"
รมช.พณ. กล่าวต่อว่า "ทั้ง นี้ ผู้ประกอบการโชวห่วยส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการเข้าร่วมโครงการ คนละครึ่ง ของรัฐบาล ทำให้มียอดขายและสภาพคล่องดีขึ้น รวมทั้ง ส่งผลดีต่อผลประกอบการของผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้ขับเคลื่อนได้อย่างตรงจุด ซึ่งจนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 3 มกราคม 2564 : กระทรวงการคลัง) มีร้านค้าที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งแล้วกว่า 1.1 ล้านร้านค้า มีผู้ใช้สิทธิตามโครงการคนละครึ่ง และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 แล้วจำนวน 12,050,115 คน มียอดการใช้จ่ายสะสม 53,431.90 ล้านบาท (แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 27,353.40 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 26,078.50 ล้านบาท) โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา ชลบุรี เชียงใหม่ และ นครศรีธรรมราช ตามลำดับ"
"ร้านค้าโชวห่วยท้องถิ่นถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มีความเข้มแข็ง ช่วยอำนวยความสะดวกประชาชนให้สามารถซื้อหาสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันได้อย่างง่ายดาย รวมถึง เป็นแหล่งกระจายสินค้าท้องถิ่นและสินค้าชุมชนของประเทศ อย่างไรก็ดี ร้านค้าโชวห่วยและร้านค้าชุมชนท้องถิ่นต้องเผชิญกับความท้าทายจำนวนมาก ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และการแข่งขันในอุตสาหกรรมค้าปลีกที่ค่อนข้างรุนแรงจากการเข้ามาของร้านค้าปลีกสมัยใหม่และร้านค้าปลีกออนไลน์ ทำให้จำเป็นต้องปรับตัวทั้งด้านการปรับภาพลักษณ์ร้านค้า การตลาด การบริหารคลังสินค้า รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ภายในร้านค้าอย่างเหมาะสม" รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่งค้าปลีกโชวห่วยขนาดกลาง จำนวน 6,217 ร้านค้า และโชวห่วยขนาดเล็กประมาณ 400,000 ร้านค้า
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หมายเลขโทรศัพท์ 0 2547 5986 สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th
#วีรศักดิ์ดูแล#WeerasakTakeCare
***********************************************
ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ ฉบับที่ 42 / วันที่ 14 มกราคม 2564