วีรศักดิ์ สั่งการ กรมพัฒน์ฯ เร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบการสร้างองค์ความรู้ผู้ประกอบการ เน้นอบรมผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก รับมือวิกฤตโควิด-19
วีรศักดิ์ สั่งการ กรมพัฒน์ฯ เร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบการสร้างองค์ความรู้ผู้ประกอบการ
เน้นอบรมผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก รับมือวิกฤตโควิด-19
วีรศักดิ์ สั่งการเข้มให้กรมพัฒน์ฯ เร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบการสร้างองค์ความรู้ผู้ประกอบการ เน้นอบรมผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก และให้อบรมฟรี...ไม่มีค่าใช้จ่าย รับมือวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังสร้างความปั่นป่วนทั่วโลก ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการติวเข้มสร้างฐานความรู้ด้านการประกอบธุรกิจ เน้นมาตรการเชิงรุกส่งเสริมให้เดินหน้าเข้าสู่แวดวงธุรกิจด้วยความเข้มแข็ง
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ขณะนี้ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 กำลังสร้างความปั่นป่วนให้แก่เศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลก หลายคนไม่สบายใจที่ต้องเดินทางเข้าไปในชุมชนที่มีผู้คนจำนวนมาก รวมถึง การเข้าประชุมและการอบรมต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ทำให้แต่ละหน่วยงานมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินการ ทั้งการประชุมและการอบรมแบบไลฟ์สดผ่าน VDO Conference การอบรมผ่านช่องทางออนไลน์ และการเรียนรู้แบบ e-Learning ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ/ประชาชนให้ไม่ต้องเดินทางเข้ามารวมกันในที่ชุมชน"
"เบื้องต้น ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบการอบรม/สัมมนาเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเน้นการอบรมผ่านช่องทางออนไลน์ และ e-Learning เป็นหลัก เพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ในลักษณะเชิงรุก อย่างไรก็ตาม การพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อให้มีองค์ความรู้ยังเป็นสิ่งจำเป็นและต้องเดินหน้าต่อไป แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ เร่งเพิ่มพูนและพัฒนาทักษะด้านการบริหารจัดการธุรกิจของตนเองรองรับโอกาสดีดีที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังโรคโควิด-19 สงบ หรือบรรเทาเบาบางลง"
รมช.พณ.กล่าวต่อว่า "ได้ให้แนวทางวางหลักสูตรการสร้างองค์ความรู้ให้ครอบคลุมทั้งผู้ประกอบการรายใหม่และรายเดิม เน้นการสอนเชิงบริหารจัดการธุรกิจและทำการค้าทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึง เทคนิค/กลยุทธ์ใหม่ๆ รองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยกำหนดให้เป็น ศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ด้านบริหารจัดการธุรกิจผ่านสื่อออนไลน์ 24 ชั่วโมง ที่สามารถเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา มีความทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนได้มากที่สุด และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการดำเนินธุรกิจได้จริง ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และการบริการ รวมถึง สามารถเชื่อมโยงเศรษฐกิจภายในประเทศสู่เศรษฐกิจโลกได้อย่างลงตัว"
"ทั้งนี้ กรมฯ ได้วางหลักสูตรด้านการบริหารจัดการธุรกิจที่จะดำเนินการผ่านระบบ e-Learning จำนวน 6 หลักสูตร 27 หัวข้อวิชา ประกอบด้วย 1) หลักสูตรการเริ่มต้นธุรกิจ 2) หลักสูตรการเงินการบัญชี 3) หลักสูตรวิชาบัญชี (สามารถนับชั่วโมง CPD ได้) 4) หลักสูตรพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เบื้องต้น 5) หลักสูตรพัฒนากลยุทธ์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และ 6) หลักสูตรการประกอบธุรกิจยุคอาเซียน คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณเดือนเมษายน 2563 นี้ ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถลงทะเบียนเรียนได้ฟรี!! ไม่มีค่าใช้จ่าย ทางเว็บไซต์ http://dbdacademy.dbd.go.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองธุรกิจบริการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร 0 2547 5962 สายด่วนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 1570 และ www.dbd.go.th"
"นอกจากนี้ ขอเชิญชวนผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปทำธุรกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรมฯ ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น การจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) การนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) บริการตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลด้วยตนเองผ่าน 2 ช่องทาง คือ www.dbd.go.th เลือก DBD Business Data Warehouse และทางแอพพลิเคชั่น DBD e-Service (ทั้งระบบ IOS และ Android) การบริการออกหนังสือรับรองนิติบุคคลรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Certificate File) โปรแกรมบัญชีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (e-Accounting for SMEs) ระบบจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ (e-Secured) ฯลฯ เป็นต้น โดยธุรกรรมต่างๆ ที่ต้องมีการชำระเงิน ก็สามารถชำระเงินผ่านช่องทาง e-Payment ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งการให้บริการดังกล่าว ล้วนแล้วแต่เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจและประชาชนทั้งสิ้น ตลอดจน เป็นการพัฒนาการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ตามนโยบายรัฐบาล e-Government ที่ทำให้เกิดความสะดวกในการตรวจสอบ การจัดเก็บเอกสาร ลดการใช้กระดาษ รวมถึง ช่วยประหยัดงบประมาณรายจ่ายทั้งของภาคเอกชนและภาครัฐอีกทางหนึ่งด้วย" รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย
#วีรศักดิ์ดูแล #WeerasakTakeCare
***************************************************
ที่มา : กองธุรกิจบริการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฉบับที่ 83 / วันที่ 19 มีนาคม 2563