พาณิชย์' จับมือ ปตท. ส่งผลิตภัณฑ์ชุมชนเข้าจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ต่อเนื่อง

พาณิชย์ จับมือ ปตท. ส่งผลิตภัณฑ์ชุมชนเข้าจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ต่อเนื่อง
ภายในงาน "ไทยเด็ด แมชชิ่ง เดย์" ครั้งที่ 5 จ.กาญจนบุรี
 
                                            กระทรวงพาณิชย์ และ ปตท. เดินหน้าโครงการไทยเด็ดต่อเนื่อง จัดงาน "ไทยเด็ด แมชชิ่ง เดย์" ครั้งที่ 5 นำผลิตภัณฑ์ชุมชนเข้าจำหน่ายที่มุมไทยเด็ด ภายในร้านขายของฝาก สถานีบริการน้ำมัน PTT Station บจ.ไอเอสเค บิสซิเนส อ.เมือง จ.กาญจนบุรี กระตุ้นตลาดสินค้าชุมชนไทยให้ครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่ม กวาดยอดขายเพิ่มรายได้ให้คนในท้องถิ่น พร้อมนำหน่วยงานพันธมิตรแบงก์รัฐ 3 แห่ง : SME D Bank ธกส. และออมสิน เปิดบูธให้คำปรึกษาด้านการประกอบธุรกิจแก่ผู้ประกอบการชุมชน เชื่อ!! ท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแกร่ง
 
                                            นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (PTTOR) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME D Bank) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารออมสิน และหน่วยงานพันธมิตร จัดงาน "ไทยเด็ด แมชชิ่งเดย์" (THAI DET Matching Day) ครั้งที่ 5 ณ สถานีบริการน้ำมัน PTT Station บจ.ไอเอสเค บิสซิเนส อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด/กระจายสินค้า สร้างความเข้มแข็งและเพิ่มรายได้ให้คนในท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้แข็งแกร่ง ตามนโยบายสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศ"
 
                                          "วันนี้ (วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม 2563) กรมฯ และหน่วยงานพันธมิตรดังกล่าวข้างต้น ได้ร่วมกันจัดงาน "ไทยเด็ด แมชชิ่ง เดย์" (THAI DET Matching Day) ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ได้เจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อคัดสรรสินค้าเข้าจำหน่าย ณ จุดจำหน่ายสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการปั๊มน้ำมันในพื้นที่จะเข้าใจความต้องการของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในการเลือกซื้อสินค้าทั้งประเภทสินค้า รูปลักษณ์ การบรรจุหีบห่อ (Packaging) การใช้ประโยชน์ ฯลฯ ซึ่งจะทำให้โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี รวมทั้ง เป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนที่จะได้รับคำแนะนำจากผู้ประกอบการปั๊มน้ำมันในการพัฒนาสินค้าให้ตรงความต้องการของลูกค้าและตลาด ทำให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนมีโอกาสที่จะขยายตลาดครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น"
 
                                         "นอกจากนี้ ธนาคารของรัฐทั้ง 3 แห่ง ยังได้มีการออกบูธเพื่อให้คำปรึกษาด้านการประกอบธุรกิจแก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อเป็นการต่อยอดการประกอบธุรกิจ เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการและเกษตรกรในพื้นที่ให้เข้าสู่แวดวงธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยความมั่นคง เพราะวัตถุประสงค์หลักของโครงการ "ไทยเด็ด" คือ การยกระดับและพัฒนาสินค้าวิสาหกิจชุมชน หรือ เอสเอ็มอีรายย่อยให้มีความเข้มแข็ง สินค้าได้รับการพัฒนาให้มีมาตรฐานเดียวกัน สามารถขยายตลาดและมีแหล่งกระจายสินค้าได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงาน ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจฐานรากของประเทศมีความแข็งแกร่ง ซึ่งจะส่งผลถึงระบบเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศที่จะมีความมั่นคง และยั่งยืนมากขึ้น"
 
                                        อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า "กรมฯ ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก ผู้ให้บริการสถานีบริการน้ำมัน PTT Station และหน่วยงานพันธมิตร ได้ร่วมกันคัดสรรสินค้าชุมชนที่โดดเด่นของแต่ละภูมิภาคและกลุ่มจังหวัด จำนวนกว่า 100 รายการ มาจำหน่ายที่มุมไทยเด็ด ภายในร้านขายของฝาก สถานีบริการน้ำมัน PTT Station ทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกซื้อสินค้าชุมชนได้สะดวก โดยไม่ต้องเดินทางไปซื้อสินค้าดีเด่นถึงจังหวัดนั้นๆ ซึ่งจนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 6 มีนาคม 2563) มีสถานีบริการน้ำมัน PTT Station เข้าร่วมโครงการไทยเด็ดแล้ว จำนวน 177 แห่ง ประกอบด้วย ภาคเหนือ 17 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 45 แห่ง ภาคตะวันออก 12 แห่ง ภาคตะวันตก 16 แห่ง ภาคใต้ 22 แห่ง และภาคกลาง 65 แห่ง
 
                                        "งาน "ไทยเด็ด แมชชิ่ง เดย์" จัดมาแล้วทั้งสิ้น จำนวน 4 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 : สถานีบริการน้ำมันสยามด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ครั้งที่ 2 : สถานีบริการน้ำมัน PTT Station (หจก.โค้งวิไลไทยเสรี) อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ครั้งที่ 3 : สถานีบริการน้ำมัน PTT Station (หจก.อุไรรัตน์ชะอำปิโตเลียม) อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และ ครั้งที่ 4 : สถานีบริการน้ำมัน PTT Station สาขาสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดยการจัดงานทั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถเพิ่มยอดขายให้แก่สินค้าชุมชนและสร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่นมากขึ้น"
 
                                        "ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนขยายช่องทางการตลาดทั้งในรูปแบบออฟไลน์/ออนไลน์ และได้จัดหาช่องทางการจัดจำหน่ายให้มีความหลากหลาย อาทิ เชื่อมโยงการจำหน่ายสู่ร้านค้าชุมชน แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ห้างสรรพสินค้า สนามบิน ฯลฯ ทำให้เกิดการกระจายสินค้า สร้างงาน สร้างโอกาส สร้างรายได้ และเกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการฐานรากของประเทศ กรมฯ ได้คัดสรรผลิตภัณฑ์ชุมชนคุณภาพดีจากกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP Select และจากเครือข่ายธุรกิจ "MOC Biz Club" ที่กรมฯ จัดตั้งขึ้นทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์รวมเครือข่ายผู้ประกอบการฐานรากตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เกิดพันธมิตรทางการค้าที่เกื้อกูลกัน เกิดการเชื่อมโยงการค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่เพื่อเข้าร่วมเจรจาธุรกิจ ทำให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการฐานรากอย่างแท้จริง" อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
 
****************************************
ที่มา : กองธุรกิจภูมิภาคและชุมชน                                      ฉบับที่ 76 / วันที่ 7 มีนาคม 2563