การจดทะเบียนธุรกิจ ประจำเดือนตุลาคม 2562 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
การจดทะเบียนธุรกิจ ประจำเดือนตุลาคม 2562
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้มอบหมายให้ นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงข่าวการจดทะเบียนธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประจำเดือนตุลาคม 2562 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ผลการจดทะเบียนธุรกิจ
ธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนตุลาคม
- จำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ ในเดือนตุลาคม 2562 จำนวน 5,751 ราย เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2562 จำนวน 6,954 ราย ลดลงจำนวน 1,203 ราย คิดเป็นร้อยละ 17 และเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2561 จำนวน 6,197 ราย ลดลงจำนวน 446 ราย คิดเป็นร้อยละ 7
- ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 524 ราย คิดเป็น ร้อยละ 9 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 323 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร จำนวน 193 ราย คิดเป็นร้อยละ 3
- มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ในเดือนตุลาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 98,509 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2562 จำนวน 28,315 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 70,194 ล้านบาท คิดเป็น 2.48 เท่า และเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2561 จำนวน 19,962 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 78,547 ล้านบาท คิดเป็น 3.93 เท่า
- ธุรกิจจัดตั้งใหม่แบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 4,024 ราย คิดเป็นร้อยละ 69.97 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 1,624 ราย คิดเป็นร้อยละ 28.24 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 80 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.39 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 23 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.40
- ธุรกิจจัดตั้งใหม่สะสม จำนวนธุรกิจตั้งใหม่สะสมตั้งแต่เดือน ม.ค. - ต.ค. 62 มีจำนวน 63,359 ราย เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค. - ต.ค. 61) จำนวน 62,468 ราย โดยเพิ่มขึ้นจำนวน 891 ราย คิดเป็นร้อยละ 1 และเป็นการตั้งธุรกิจสะสม 10 เดือนแรกที่สูงที่สุด สำหรับมูลค่าทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่สะสมตั้งแต่เดือน ม.ค. - ต.ค. 62 มีจำนวน 284,618 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24,170 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับของปีที่ผ่านมา (ม.ค. - ต.ค. 61) จำนวน 260,448 ล้านบาท
ธุรกิจเลิกประกอบกิจการ เดือนตุลาคม
- จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 2,116 ราย เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2562 จำนวน 1,938 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 178 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 และเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2561 จำนวน 2,166 ราย ลดลงจำนวน 50 ราย คิดเป็นร้อยละ 2
- ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 180 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 135 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และธุรกิจภัตตาคาร / ร้านอาหาร จำนวน 64 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ
- มูลค่าทุนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ ในเดือนตุลาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 8,050 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2562 จำนวน 15,361 ล้านบาท ลดลงจำนวน 7,311 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 48 และเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2561 จำนวน 10,088 ล้านบาท ลดลงจำนวน 2,038 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20
- ธุรกิจเลิกประกอบกิจการแบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศ มากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 1,464 ราย คิดเป็นร้อยละ 69.18 รองลงมาคือช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท จำนวน 519 ราย คิดเป็นร้อยละ 24.53 ลำดับถัดไปคือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 125 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.91 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 8 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.38
- ธุรกิจเลิกสะสม จำนวนธุรกิจเลิกสะสมตั้งแต่เดือน ม.ค. - ต.ค. 62 มีจำนวน 14,070 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 288 ราย คิดเป็นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค. - ต.ค. 61) จำนวน 13,782 ราย สำหรับมูลค่าทุนจดทะเบียนธุรกิจเลิกสะสมตั้งแต่เดือน ม.ค. - ต.ค. 62 มีจำนวน 82,959 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,550 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค. - ต.ค. 61) จำนวน 72,409 ล้านบาท
ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ ณ เดือนตุลาคม
- ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 31 ต.ค. 62) ธุรกิจที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน746,504 ราย มูลค่าทุน 18.18 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด , ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 184,539 ราย คิดเป็นร้อยละ 24.72 บริษัทจำกัด จำนวน 560,708 ราย คิดเป็นร้อยละ 75.11 และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,257 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.17
- ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่แบ่งตามช่วงทุน ธุรกิจส่วนใหญ่มีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 441,932 ราย คิดเป็นร้อยละ 59.20 รวมมูลค่าทุน 0.39 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.15 รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 218,572 ราย คิดเป็นร้อยละ 29.28 รวมมูลค่าทุน 0.72 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.96 รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 70,610 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.46 รวมมูลค่าทุน 1.92 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.56 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 15,390 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.06 รวมมูลค่าทุน 15.15 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 83.33 ตามลำดับ
แนวโน้มการจัดตั้งธุรกิจ
แนวโน้มของการจัดตั้งธุรกิจ เมื่อประเมินจากสถานการณ์การจดทะเบียนและสภาพเศรษฐกิจ คาดว่าในปี 2562 จะมีสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลจากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจสะสม 10 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค. - ต.ค.) ที่มีการเติบโตจากปีที่ผ่านมา ผนวกกับสถิติค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังของการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของแต่ละปี (พ.ย. - ธ.ค.) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.25% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุด และธนาคารพาณิชย์ต่างประกาศลดอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝากลง จะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจการบริโภค การลงทุนของภาคเอกชน ตลอดจนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจให้เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
การลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าว
เดือนตุลาคม
- เดือนตุลาคม 2562 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น 57 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 16 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ 41 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 66,239 ล้านบาท
- นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 17 ราย เงินลงทุนกว่า 10,378 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ จำนวน 8 ราย เงินลงทุน 1,108 ล้านบาท และฮ่องกง 6 ราย เงินลงทุน 1,855 ล้านบาท
- การเปรียบเทียบการลงทุนรายเดือน เมื่อเปรียบเทียบการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติในเดือนตุลาคม กับเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า จำนวนธุรกิจที่คนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น 9 ราย คิดเป็นร้อยละ 19 โดยมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 48,645 ล้านบาท คิดเป็น 2.76 เท่า
*******************************
การให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเดือนตุลาคม 2562
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัล และ พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกเพื่อลดต้นทุน ลดเวลา และลดการใช้กระดาษ โดยพัฒนาการบริการทุกระบวนการของกรม ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ผู้ใช้บริการยื่นขอรับบริการได้ทุกที่ ทุกเวลา
e-Registration การจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์
การจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2560 - 31 ตุลาคม 2562 มีการยืนยันการใช้งาน (Activate) จำนวน 48,417 ราย รับจดทะเบียน 19,488 ราย ซึ่งกรมได้มีการเตรียมการพัฒนาระบบให้อำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น ทั้งด้านการยืนยันตัวตนนิติบุคคลและการใช้ระบบงาน รวมถึงการเชื่อมโยงเพื่อสร้างความพร้อมในการดำเนินธุรกิจให้แก่ SME ทั้งด้านการเงินและซอฟแวร์ รวมทั้งการให้บริการสำเนาเอกสารทะเบียนนิติบุคคลรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ของนิติบุคคลที่จดทะเบียนผ่านระบบ e-Registration
DBD e - Filing การนำส่งงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการยื่นงบการเงินประจำปี 2561 สำหรับนิติบุคคลที่มีรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จะต้องนำส่งงบการเงินภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2562 นิติบุคคลนำส่งงบการเงินแล้วจำนวน 555,739 ราย โดยนำส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ DBD e-Filing) จำนวน 516,379 ราย คิดเป็นร้อยละ 93 และนำส่งในรูปแบบกระดาษ จำนวน 39,360 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 จะเห็นว่าการนำส่งงบการเงินผ่านระบบ DBD e-Filing อยู่ในสัดส่วน 93% ของนิติบุคคลที่ได้นำส่งงบการเงินแล้ว ซึ่งมียอดการนำส่งงบการเงินสูงกว่าปีก่อนเมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน ถือว่าการรณรงค์เชิญชวนให้นิติบุคคลนำส่งงบการเงินผ่านระบบ DBD e-Filing ประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งกรมฯ มั่นใจว่าการนำส่งงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์จะสามารถอำนวยความสะดวกลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายให้แก่ภาคธุรกิจ เนื่องจากสามารถนำส่งงบการเงินได้ทุกที่ ทุกเวลา และสามารถตรวจสอบข้อมูลผ่าน DBD Data Warehouse และ DBD e - Service Application ได้อย่างรวดเร็ว โดยถือเป็น ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการผลักดันให้กรมฯ ก้าวสู่การเป็นหน่วยงานภาครัฐดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และตอบสนองการพัฒนาระบบให้บริการภาคธุรกิจที่เป็นเลิศมุ่งสู่ยุค Thailand 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล
สำหรับนิติบุคคลที่ยังไม่นำส่งงบการเงิน กรมฯ จะดำเนินการติดตามให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างใกล้ชิดต่อไป ซึ่งการนำส่งงบการเงินผ่านระบบ DBD e-Filing จะช่วยให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลงบการเงินเพื่อทำธุรกรรมได้อย่างรวดเร็ว เป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ภาคธุรกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้ารวมทั้ง สถาบันการเงินในการติดต่อทำธุรกรรมอีกด้วย
e- Secured จดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแบบอิเล็กทรอนิกส์
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เปิดให้บริการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจร ผ่าน Web Application และ Web Service แบบ Host to Host และชำระค่าธรรมเนียมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) และออกใบเสร็จรับเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) โดยเจ้าพนักงานทะเบียนลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) รวมถึงสามารถตรวจค้นข้อมูลหลักประกันทางธุรกิจเบื้องต้นผ่านเว็บไซต์ www.dbd.go.th หรือผ่านระบบ mobile application (ios และandroid) บนสมาร์ทโฟน
โดยตั้งแต่ 4 กรกฎาคม 2559 จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 มีการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จำนวน 457,636 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกัน จำนวน 7,239,865 ล้านบาท โดยมีการนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและใช้ประกอบธุรกิจมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สิน
สำหรับเดือนตุลาคม 2562 มีการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จำนวน 10,339 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกัน จำนวน 79,731 ล้านบาท ทั้งนี้ทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจมากที่สุด ได้แก่ สิทธิเรียกร้อง เช่น บัญชีเงินฝาก ลูกหนี้การค้าสิทธิการเช่า คิดเป็นร้อยละ 56.79 (มูลค่า 45,282 ล้านบาท) รองลงมาคือ สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง เครื่องจักรคิดเป็นร้อยละ 43.18 (มูลค่า 34,427 ล้านบาท) กิจการ มีการจดทะเบียนคิดเป็นร้อยละ 0.03 (มูลค่า 22 ล้านบาท) และ ไม้ยืนต้น เป็นประเภทไม้ยางพารา คิดเป็นร้อยละ 0.0002 (มูลค่า 210,000 บาท) และมีผู้รับหลักประกัน รวมจำนวนทั้งสิ้น 217 ราย
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้จัดประชุมหารือแนวทางในการส่งเสริมให้มีการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ร่วมกับสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สมาคมธนาคารไทย สมาคมชีวมวลไทย สมาคมธุรกิจไม้โตเร็ว และบริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด ในการผลักดันให้ไม้โตเร็วประเภทไม้ยูคาลิปตัส เป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกไม้ยูคาลิปตัส ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เมื่อวันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2562 ณ ห้องม่วงเทพรัตน์ ชั้น 7 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
การบริการหนังสือรับรองข้อมูลนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์และผลักดันการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ยกระดับการเป็นหน่วยงานรัฐบาลดิจิทัล โดยการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) มาให้บริการ ซึ่งการบริการ e-Service เป็นการบริการขอหนังสือรับรองผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยขอรับข้อมูลได้ผ่านช่องทาง Walk in EMS Delivery และการออกหนังสือรับรองรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Certificate File) ซึ่งการบริการในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์มีจำนวนการใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนตุลาคม 2562 มีจำนวน 14,108 ราย ซึ่งภาพรวมเฉลี่ยเดือนละ 9,623 ราย และได้ขยายการให้บริการสู่การบริการหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติและสมาคมการค้า หนังสือรับรองภาษาอังกฤษ
ทั้งนี้ การขอรับบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากผ่านทาง www.dbd.go.th แล้ว สามารถขอรับบริการผ่านทาง Application DBD e- Service ได้ทั้งระบบ Android และ IOS
DBD e-Accounting โปรแกรมบัญชีเพื่อช่วยเหลือ SMEs
กรมได้ดำเนินการแจก"โปรแกรม e-Accounting for SMEs" ช่วยเหลือ SMEs สามารถบริหารจัดการร้านค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการบันทึกข้อมูลซ้ำซ้อน ลดระยะเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น โดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ทาง Play store ซึ่งมีการพัฒนาซอฟแวร์บัญชีเชื่อมต่อกับการนำส่งงบการเงินทางระบบ DBD e-Filing ผ่านทาง DBD Connect ซึ่งเป็นการร่วมกับผู้พัฒนาซอฟแวร์บัญชีเพื่อเชื่อมโยงระบบงานบัญชีเข้าสู่งบการเงินทางออนไลน์ได้โดยทันที จำนวน 15 ราย
Total Solution for SMEs
การขับเคลื่อน SMEs ไทย ด้วยนวัตกรรมออนไลน์ โดยส่งเสริมให้ธุรกิจเข้าถึงเทคโนโลยีทางการบัญชี และบริหารจัดการร้านค้าได้โดยง่าย ให้ได้รับข้อมูลในการบริหารจัดการธุรกิจแบบถูกต้อง ครบวงจร เปลี่ยน Traditional SMEs เป็น Smart SMEs ซึ่งกรมได้รวบรวมโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทั้ง 3 ภาคส่วน ไว้ด้วยกันคือ โปรแกรมสำนักงาน (Office) โปรแกรมหน้าร้าน (POS) โปรแกรมบัญชี online (Cloud Accounting) โดยผู้ประกอบการสามารถจัดทำบัญชีเบื้องต้นได้เองก่อนส่งข้อมูลให้ผู้ทำบัญชีตรวจสอบ
DBD Data Warehouse
กรมได้พัฒนาระบบสารสนเทศให้มีความสมบูรณ์หลากหลาย และสามารถจัดทำผลวิเคราะห์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลธุรกิจ ประกอบด้วยข้อมูลนิติบุคคล ข้อมูลและวิเคราะห์งบการเงิน ข้อมูลซัพพลายเออร์ลูกค้า คู่ค้าทางธุรกิจ ข้อมูลโอกาสทางธุรกิจ ข้อมูลการลงทุนจากต่างชาติในนิติบุคคลไทย รวมทั้งข้อมูลสถิติการจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล พร้อมทั้งนำข้อมูลธุรกิจไปสนับสนุนการตัดสินใจในการประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยในปี 2562 (ม.ค.-ต.ค.) มีจำนวนผู้ใช้บริการทั้งสิ้นจำนวน 7,476,568 ครั้ง
****************************
ที่มา : กองข้อมูลธุรกิจ ฉบับที่ 29 / 26 พฤศจิกายน 2562