รมช.พณ. สั่งการกรมพัฒน์ฯ เร่งแปลงนโยบายสู่ภาคปฏิบัติโดยเร็ว

รมช.พณ. สั่งการกรมพัฒน์ฯ เร่งแปลงนโยบายสู่ภาคปฏิบัติโดยเร็ว
พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจและผู้ประกอบการไทยทุกระดับ
ชูร้านค้าโชวห่วยเป็นพระเอกดันเศรษฐกิจท้องถิ่น
 
                                         รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รับนโยบาย รมว.พณ. แข็งขัน สั่งการกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งแปลงนโยบายสู่ภาคปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนโดยเร็ว ย้ำ!! ต้องสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการไทยทุกระดับ โดยเฉพาะผู้ประกอบการชุมชน เน้นชูร้านค้าโชวห่วยเป็นพระเอกสร้างแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น พร้อมใช้เทคโนโลยีและเครือข่ายออนไลน์มาช่วยบริหารจัดการ อำนวยความสะดวก และขยายช่องทางการตลาด เชื่อ!! ผู้ประกอบการเข้มแข็ง เศรษฐกิจประเทศมั่นคง
 
                                         นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "หลังจากที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้มอบนโยบายและทิศทางการดำเนินงานให้แก่ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ โดยเน้นนโยบายหลัก 10 ข้อ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในฐานะที่กำกับดูแลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้สั่งการให้อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งแปลงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกรมฯ สู่ภาคปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยเน้นที่การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการไทยทุกระดับซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่ในชุมชนต้องได้รับการดูแลและส่งเสริมให้มีความแข็งแกร่ง"
 
                                        "นโยบายหลักที่เกี่ยวข้องกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประกอบด้วย 1) การให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจและประชาชน 2) การพัฒนาร้านค้าปลีกรายย่อย (โชวห่วย) เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจท้องถิ่น 3) การพัฒนาช่องทางการตลาดและรูปแบบการนำเสนอผลิตภัณฑ์ OTOP Select และ 4) ส่งเสริมการสร้างและขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์ รวมถึงการสร้างผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ ซึ่งนโยบายหลักทั้ง 4 ข้อ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินการแปลงนโยบายและกำหนดกรอบการปฏิบัติงานไว้ในเบื้องต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว"
 
                                         รมช.พณ.กล่าวต่อว่า "กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจและประชาชน โดยเฉพาะการจดทะเบียนธุรกิจและบริการข้อมูลธุรกิจที่เป็นภารกิจหลักของกรมฯ รวมทั้ง ได้พัฒนาระบบการให้บริการผ่านอิเล็กทรอนิกส์มาอย่างต่อเนื่อง เช่น บริการออกหนังสือรับรองนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเพิ่มช่องทางการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการ รวมถึงการออกหนังสือรับรองนิติบุคคลภาษาอังกฤษ การให้บริการนำส่งงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) โดยสามารถดำเนินการนำส่งงบการเงินและสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นผ่านทางเว็บไซต์กรมฯ ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจสามารถใช้ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจทางธุรกิจ รวมทั้ง ได้มีการปรับระบบรับงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ DBD e-Filing ให้รองรับชุดรหัสรายการทางบัญชี (Taxonomy : TFRS9) เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดทำบัญชีในระดับสากล"
 
                                         "การพัฒนาร้านค้าปลีกรายย่อย (โชวห่วย) เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจท้องถิ่น และสร้างแรงขับเคลื่อนไปถึงเศรษฐกิจของประเทศ โดยร่วมมือกับ 6 หน่วยงานพันธมิตรทั้งจากภาครัฐและเอกชน ได้แก่ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย เพื่อให้ความรู้ การปรับภาพลักษณ์ร้านค้า จัดหาสินค้าราคาประหยัด และเชื่อมโยงสินค้าชุมชนเพื่อสร้างความแตกต่าง รวมทั้ง สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีในการบริการจัดการ การใช้ข้อมูลสารสนเทศ และสินเชื่อเพื่อพัฒนาธุรกิจ โดยกำหนดเป้าหมายไว้จำนวน 10,000 ราย"
 
                                          "พัฒนาช่องทางการตลาดและรูปแบบการนำเสนอผลิตภัณฑ์ OTOP Select ให้แก่ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยจะดำเนินการจัดกิจกรรมบ่มเพาะเชิงปฏิบัติการสู่การเป็นผู้ประกอบการชุมชนมืออาชีพ และให้คำปรึกษาแนะนำด้านผลิตภัณฑ์และจัดทำต้นแบบผลิตภัณฑ์โดยผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมการตลาดโดยนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP เช่น งาน OTOP City ฯลฯ เป็นต้น พัฒนาศักยภาพ/ยกระดับการตลาดผลิตภัณฑ์ฐานราก OTOP ไทยสู่สากล โดยร่วมกับบริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด คัดเลือกสินค้า OTOP เพื่อจำหน่ายในร้าน OTOP STORE ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานดอนเมือง โดยมูลค่าการจำหน่ายสินค้าที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 - พฤษภาคม 2562 จาก 3 ท่าอากาศยาน มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 506.69 ล้านบาท"
 
                                        "ส่งเสริมการสร้างและขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์ สร้างผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ รวมถึงพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ให้มีระบบบริหารจัดการที่มีมาตรฐานเป็นที่น่าเชื่อถือ เพื่อสร้างความยั่งยืนของธุรกิจและความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุน สร้างโอกาสทางการตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จัดกิจกรรมนำเสนอธุรกิจแฟรนไชส์ในงานแสดงธุรกิจที่สำคัญ รวมทั้ง เสริมสร้างองค์ความรู้การดำเนินธุรกิจในตลาดระหว่างประเทศ นำผู้ประกอบธุรกิจเข้าร่วมงานแสดงธุรกิจ (Exhibition) และจัดกิจกรรม Business Networking เชื่อมโยงหน่วยงานเพื่อส่งเสริมการตลาดระหว่างประเทศ เช่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ Exim Bank โดยปัจจุบันมีธุรกิจแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จสามารถขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศได้แล้ว จำนวน 32 ธุรกิจ ใน 32 ประเทศ"
 
                                          "ทั้งนี้ จะให้กรมฯ เร่งนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดเห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนโดยเร็ว รวมทั้ง ต้องเร่งสร้างพัฒนาศักยภาพแก่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการไทยทุกระดับ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจท้องถิ่น และเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ ส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีและเครือข่ายออนไลน์มาช่วยบริหารจัดการธุรกิจ อำนวยความสะดวก และขยายช่องทางการตลาด (e-Commerce) เพื่อสามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด ซึ่งเชื่อมั่นว่า หากภาคธุรกิจและผู้ประกอบการไทยมีความเข้มแข็ง ก็จะส่งผลถึงความมั่นคงของเศรษฐกิจประเทศด้วยเช่นกัน" รมช.พณ. กล่าวทิ้งท้าย
 
***********************************************
ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า                                            ฉบับที่ 144 / วันที่ 14 สิงหาคม 2562