การจดทะเบียนธุรกิจ ประจำเดือน มิถุนายน 2562 และครึ่งปี 2562

การจดทะเบียนธุรกิจ ประจำเดือน มิถุนายน 2562 และครึ่งปี/2562
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
 
                    นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้มอบหมายให้ นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์ รองอธิบดี กรมพัฒนาธุรกิจการค้าแถลงข่าวการจดทะเบียนธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประจำเดือน มิถุนายน 2562และครึ่งปีแรกของปี 2562 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
 
ผลการจดทะเบียนธุรกิจ
             
               ธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนมิถุนายน
                 - จำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศในเดือนมิถุนายน 2562 จำนวน 5,586 ราย เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2562 จำนวน 5,942 ราย ลดลง จำนวน 356 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2561 จำนวน 6,514 ราย ลดลงจำนวน 928 ราย คิดเป็นร้อยละ 14
                    - ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 497 ราย คิดเป็น ร้อยละ 9 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 328 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร จำนวน 168 ราย คิดเป็นร้อยละ 3
                  - มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ในเดือนมิถุนายน 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 15,147 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2562 จำนวน 35,218 ล้านบาท ลดลงจำนวน 20,071 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 57 และเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2561 จำนวน 24,589 ล้านบาท ลดลงจำนวน 9,442 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 38
                   - ธุรกิจจัดตั้งใหม่แบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 4,065 ราย คิดเป็นร้อยละ 72.77 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท มีจำนวน 1,426 ราย คิดเป็นร้อยละ 25.53 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 81 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.45 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 14 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.25
 
                ธุรกิจจัดตั้งใหม่ครึ่งปีแรก 2562 (ม.ค. - มิ.ย.)
                   - จำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ ครึ่งปีแรกของปี 2562 (ม.ค. - มิ.ย.) จำนวน 38,222 ราย เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2561 (ก.ค. - ธ.ค.) จำนวน 34,561 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 3,661 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 และเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2561 จำนวน 37,548 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 674 ราย คิดเป็นร้อยละ 2
                   - ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 3,327 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 2,212 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และธุรกิจภัตตาคาร / ร้านอาหาร จำนวน 1,020 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ
                   - มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ในครึ่งปีแรกของปี 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 117,756 ล้านบาท เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2561 จำนวน 231,412 ล้านบาท ลดลงจำนวน 113,656 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 49 และเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2561 จำนวน 142,872 ล้านบาท ลดลงจำนวน 25,116 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18
                   - ธุรกิจจัดตั้งใหม่แบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 27,808 ราย คิดเป็นร้อยละ 72.75 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท มีจำนวน 9,772 ราย คิดเป็นร้อยละ 25.57 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 557 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.46 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 85 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.22
 
                 ธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนมิถุนายน
                      - จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ ในเดือนมิถุนายน 2562 มีจำนวน 1,264 ราย เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2562 จำนวน 1,130 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 134 ราย คิดเป็นร้อยละ 12 และเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2561 จำนวน 1,392 ราย ลดลงจำนวน 128 ราย คิดเป็นร้อยละ 9
                       - ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 115 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 87 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ จำนวน 47 ราย คิดเป็นร้อยละ 4 ตามลำดับ
                      - มูลค่าทุนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ ในเดือนมิถุนายน 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,973 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2562 จำนวน 3,538 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,435 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41 และเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2561 จำนวน 8,486 ล้านบาท ลดลงจำนวน 3,513 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41
                   - ธุรกิจเลิกประกอบกิจการแบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศ มากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 865 ราย คิดเป็นร้อยละ 68.43 รองลงมาคือช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท จำนวน 331 ราย คิดเป็นร้อยละ 26.19 ลำดับถัดไปคือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 63 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.98 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 5 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.40
 
                 ธุรกิจเลิกประกอบกิจการครึ่งปีแรก 2562 (ม.ค. - มิ.ย.)
                     - จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 6,667 ราย เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2561 (ก.ค. - ธ.ค.) จำนวน 15,486 ราย ลดลงจำนวน 8,819 ราย คิดเป็นร้อยละ 57 และเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2561 (ม.ค. - มิ.ย.) จำนวน 6,289 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 378 ราย คิดเป็นร้อยละ 6
                     - ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 717 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 409 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการอื่นๆ จำนวน 179 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ
                     - มูลค่าทุนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ ในครึ่งปีแรกของปี 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 22,336 ล้านบาท เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2561 (ก.ค. - ธ.ค.) จำนวน 61,421 ล้านบาท ลดลงจำนวน 39,085 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64 และเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2561 (ม.ค. - ธ.ค.) จำนวน 39,328 ล้านบาท ลดลงจำนวน 16,992 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43
                     - ธุรกิจเลิกประกอบกิจการแบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศ มากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 4,690 ราย คิดเป็นร้อยละ 70.35 รองลงมาคือช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท จำนวน 1,661 ราย คิดเป็นร้อยละ 24.91 ลำดับถัดไปคือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 290 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.35 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 26 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.39
 
                  ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ ณ เดือนมิถุนายน
                      - ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 30 มิ.ย. 62) ธุรกิจที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน737,252 ราย มูลค่าทุน 16.79 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด / ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 184,272 ราย คิดเป็นร้อยละ 24.99 บริษัทจำกัด จำนวน 551,736 ราย คิดเป็นร้อยละ 74.84 และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,244 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.17
                      - ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่แบ่งตามช่วงทุน ธุรกิจส่วนใหญ่มีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 437,772 ราย คิดเป็นร้อยละ 59.38 รวมมูลค่าทุน 0.38 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.27 รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 214,289 ราย คิดเป็นร้อยละ 29.07 รวมมูลค่าทุน 0.70 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.17 รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 69,998 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.49 รวมมูลค่าทุน 1.89 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.26 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 15,191 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.06 รวมมูลค่าทุน 13.81 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82.30 ตามลำดับ
 
แนวโน้มการจัดตั้งธุรกิจ
                เมื่อประเมินจากอัตราการเติบโตของ GDP และแนวโน้มด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงแนวโน้มการ จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจตามฤดูกาล (Seasonal Trend) พบว่า โดยปกติจะมีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี แต่อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองยังถือเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการจัดตั้งธุรกิจสำหรับไตรมาสที่ 3 และ 4 ได้
 
การลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าว
             เดือนมิถุนายน
                  - การอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในเดือนมิถุนายน 2562 มีจำนวน 42 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจจำนวน 16 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจจำนวน 26 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 8,322 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2562 จำนวนธุรกิจที่คนต่างชาติเข้ามาลงทุนลดลง 11% (ลดลง 5 ราย) ในขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 26% (เพิ่มขึ้น 1,723 ล้านบาท)
                  - นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 14 ราย เงินลงทุน 2,999 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ จำนวน 7 ราย เงินลงทุน 178 ล้านบาท และจีน 2 ราย เงินลงทุน 115 ล้านบาท
 
               ครึ่งปีแรก 2562 (ม.ค. - มิ.ย.)
                - เดือนมกราคม - มิถุนายน 2562 คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ จำนวน 287 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 54,293 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรากฏว่าจำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลง 84 ราย คิดเป็นร้อยละ 23 ขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 7,933 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17 เนื่องจากปี 2562 มีต่างชาติลงทุนประกอบธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง อาทิ บริการรับค้ำประกันหนี้ บริการเป็นศูนย์บริหารเงิน (Treasury Center) บริการงานวิศวกรรม การจัดหา ติดตั้ง เช่น การใช้งานระบบเครื่องบดดินหรือหินกึ่งเคลื่อนที่โครงการแม่เมาะ การบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน อุปกรณ์ที่ใช้ในหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ เป็นต้น
 
*******************
 
 
การให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเดือนมิถุนายน 2562
 
                               กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัล และ พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกเพื่อลดต้นทุน ลดเวลา และลดการใช้กระดาษ โดยพัฒนาการบริการทุกระบวนการของกรม ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ผู้ใช้บริการยื่นขอรับบริการได้ทุกที่ ทุกเวลา
 
DBD e - Filing การนำส่งงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์
                              กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการยื่นงบการเงินประจำปี 2561 สำหรับนิติบุคคลที่มีรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จะต้องนำส่งงบการเงินภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 นิติบุคคลนำส่งงบการเงินแล้วจำนวน 554,406 ราย โดยนำส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ DBD e-Filing) จำนวน 501,333 ราย คิดเป็นร้อยละ 90 และนำส่งในรูปแบบกระดาษ จำนวน 53,073 ราย คิดเป็นร้อยละ 10 จะเห็นว่าการนำส่งงบการเงินผ่านระบบ DBD e-Filing อยู่ในสัดส่วน 90% ของนิติบุคคลที่ได้นำส่งงบการเงินแล้ว ซึ่งมียอดการนำส่งงบการเงินสูงกว่าปีก่อนเมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน ถือว่าการรณรงค์เชิญชวนให้นิติบุคคลนำส่งงบการเงินผ่านระบบ DBD e-Filing ประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งกรมฯ มั่นใจว่าการนำส่งงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์จะสามารถอำนวยความสะดวกลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายให้แก่ภาคธุรกิจ เนื่องจากสามารถนำส่งงบการเงินได้ทุกที่ ทุกเวลา และสามารถตรวจสอบข้อมูลผ่าน DBD Data Warehouse และ DBD e - Service Application ได้อย่างรวดเร็ว โดยถือเป็น ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการผลักดันให้กรมฯ ก้าวสู่การเป็นหน่วยงานภาครัฐดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และตอบสนองการพัฒนาระบบให้บริการภาคธุรกิจที่เป็นเลิศมุ่งสู่ยุค Thailand 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล
                            สำหรับนิติบุคคลที่ยังไม่นำส่งงบการเงิน กรมฯ จะดำเนินการติดตามให้ปฏิบัติตามกฎหมาย อย่างใกล้ชิดต่อไป ซึ่งการนำส่งงบการเงินผ่านระบบ DBD e-Filing จะช่วยให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลงบการเงินเพื่อทำธุรกรรมได้อย่างรวดเร็ว เป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ภาคธุรกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้ารวมทั้ง สถาบันการเงินในการติดต่อทำธุรกรรมอีกด้วย
 
e- Secured จดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแบบอิเล็กทรอนิกส์
                            กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เปิดให้บริการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจร ผ่าน Web Application และ Web Service แบบ Host to Host และชำระค่าธรรมเนียมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) และออกใบเสร็จรับเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) โดยเจ้าพนักงานทะเบียนลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) รวมถึงสามารถตรวจค้นข้อมูลหลักประกันทางธุรกิจเบื้องต้นผ่านเว็บไซต์ www.dbd.go.th หรือผ่านระบบ mobile application (iosและandroid) บนสมาร์ทโฟน
                            โดยตั้งแต่ 4 กรกฎาคม 2559 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 มีการจดทะเบียนสัญญาหลักประกัน ทางธุรกิจ จำนวน 412,457 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกัน จำนวน 6,786,343 ล้านบาท โดยมีการนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและใช้ประกอบธุรกิจมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สิน
                            ทั้งนี้ในเดือนมิถุนายน 2562 มีการนำทรัพย์สินทางปัญญาประเภท ลิขสิทธิ์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ มาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจด้วย มูลค่าทรัพย์สินจำนวน 10 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 กรมฯ จัดสัมมนา"การบังคับหลักประกันทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ" เพื่อเสริมความรู้ แก่ผู้รับหลักประกันในเรื่องการบังคับทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจว่าผู้รับหลักประกันจะต้องดำเนินการหากมีเหตุบังคับหลักประกัน รวมถึงได้ชี้แจงการพัฒนาปรับปรุงระบบจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจให้ผู้รับหลักประกันทราบ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนา จำนวน 263 คน
 
e-Registration การจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์
                           การจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2560 - 30 มิถุนายน 2562 มีการยืนยันการใช้งาน (Activate) จำนวน 41,756 ราย รับจดทะเบียน 15,683 ราย ซึ่งกรมได้มีการเตรียมการพัฒนาระบบให้อำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น ทั้งด้านการยืนยันตัวตนนิติบุคคลและการใช้ระบบงาน รวมถึงการเชื่อมโยงเพื่อสร้างความพร้อมในการดำเนินธุรกิจให้แก่ SME ทั้งด้านการเงินและซอฟแวร์
 
การบริการหนังสือรับรองข้อมูลนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์และผลักดันการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์
                       กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ยกระดับการเป็นหน่วยงานรัฐบาลดิจิทัล โดยการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) มาให้บริการ ซึ่งการบริการ e-Service เป็นการบริการขอหนังสือรับรองผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยขอรับข้อมูลได้ผ่านช่องทาง Walk in EMS Delivery และการออกหนังสือรับรองรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Certificate File) ซึ่งการบริการในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์มีจำนวนการใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมิถุนายน 2562 มีจำนวน 11,205 ราย คิดเป็น 44% ของช่องทางการให้บริการทั้งหมด และได้ขยายการให้บริการสู่การบริการหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติและสมาคมการค้า หนังสือรับรองภาษาอังกฤษ
                          ทั้งนี้ การขอรับบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากผ่านทาง www.dbd.go.th แล้ว สามารถขอรับบริการผ่านทาง Application DBD e- Service ได้ทั้งระบบ Android และ IOS
 
DBD e-Accounting โปรแกรมบัญชีเพื่อช่วยเหลือ SMEs
                         กรมได้ดำเนินการแจก"โปรแกรม e-Accounting for SMEs" ช่วยเหลือ SMEs สามารถบริหารจัดการร้านค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการบันทึกข้อมูลซ้ำซ้อน ลดระยะเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น โดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ทาง Play store ซึ่งมีการพัฒนาซอฟแวร์บัญชีเชื่อมต่อกับการนำส่งงบการเงินทางระบบ DBD e-Filing ผ่านทาง DBD Connect ซึ่งเป็นการร่วมกับผู้พัฒนาซอฟแวร์บัญชีเพื่อเชื่อมโยงระบบงานบัญชีเข้าสู่งบการเงินทางออนไลน์ได้โดยทันที จำนวน 15 ราย
 
Total Solution for SMEs
                         การขับเคลื่อน SMEs ไทย ด้วยนวัตกรรมออนไลน์ โดยส่งเสริมให้ธุรกิจเข้าถึงเทคโนโลยีทางการบัญชี และบริหารจัดการร้านค้าได้โดยง่าย ให้ได้รับข้อมูลในการบริหารจัดการธุรกิจแบบถูกต้อง ครบวงจร เปลี่ยน Traditional SMEs เป็น Smart SMEs ซึ่งกรมได้รวบรวมโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทั้ง 3 ภาคส่วน ไว้ด้วยกันคือ โปรแกรมสำนักงาน (Office) โปรแกรมหน้าร้าน (POS) โปรแกรมบัญชี online (Cloud Accounting) โดยผู้ประกอบการสามารถจัดทำบัญชีเบื้องต้นได้เองก่อนส่งข้อมูลให้ผู้ทำบัญชีตรวจสอบ
 
DBD Business Data Warehouse
                       กรมได้พัฒนาระบบสารสนเทศให้มีความสมบูรณ์หลากหลาย และสามารถจัดทำผลวิเคราะห์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลธุรกิจ ประกอบด้วยข้อมูลนิติบุคคล ข้อมูลและวิเคราะห์งบการเงิน ข้อมูลซัพพลายเออร์ลูกค้า คู่ค้าทางธุรกิจ ข้อมูลโอกาสทางธุรกิจ ข้อมูลการลงทุนจากต่างชาติในนิติบุคคลไทย รวมทั้งข้อมูลสถิติการจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล พร้อมทั้งนำข้อมูลธุรกิจไปสนับสนุนการตัดสินใจในการประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยในปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) มีจำนวนผู้ใช้บริการทั้งสิ้นจำนวน 4,399,282 ครั้ง
 
****************************
ที่มา : กองข้อมูลธุรกิจ                                                                                          ฉบับที่ 130 / 23 กรกฎาคม 2562