กรมพัฒน์ฯ' เร่งปิดจุดอ่อนธุรกิจผ้าไหมไทย ระดมความคิดผู้ประกอบการผ้าไหมท้องถิ่นวางอนาคตธุรกิจร่วมกัน

กรมพัฒน์ฯ' เร่งปิดจุดอ่อนธุรกิจผ้าไหมไทย ระดมความคิดผู้ประกอบการผ้าไหมท้องถิ่นวางอนาคตธุรกิจร่วมกัน สร้างเครือข่ายพันธมิตรภายในกลุ่มธุรกิจ พร้อมจับมือ ททท.สยายปีกขยายตลาดสู่เส้นทางท่องเที่ยวทั่วประเทศ เชื่อมั่น!! วงการผ้าไหมไทยไปได้อีกไกล ถ้าทุกฝ่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์
 
                   กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มองเห็นอนาคตผ้าไหมไทยยังคงสดใส ระดมความคิดผู้ประกอบการผ้าไหมท้องถิ่นเร่งปิดจุดอ่อน/วางอนาคตธุรกิจร่วมกัน เน้นสร้างภาคีเครือข่ายพันธมิตรภายในกลุ่ม พร้อมจับมือ ททท.สยายปีกขยายตลาดสู่เส้นทางท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรองทั่วประเทศ มั่นใจ!! วงการผ้าไหมไทยไปได้อีกไกล ถ้าทุกฝ่ายร่วมกันพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ให้เข้าถึงความต้องการลูกค้าอย่างแท้จริง ล่าสุด...มอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ประกอบการผ้าไหมท้องถิ่น 100 ราย ที่ผ่านการบ่มเพาะสุดเข้มด้านการประกอบธุรกิจให้เดินต่อไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง
 
                  นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ประกอบการผ้าไหมท้องถิ่นที่ผ่านการพัฒนาศักยภาพด้านการค้าและการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยว่า "อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์) ได้มอบหมายให้มาเป็นประธานการมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ประกอบการผ้าไหมท้องถิ่นที่ผ่านการพัฒนาศักยภาพด้านการประกอบธุรกิจแบบเข้มข้น จำนวน 100 ราย ที่จัดโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผ้าไหมไทยเป็นธุรกิจที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญและดำเนินการส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเล็งเห็นถึงศักยภาพทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ที่สามารถพัฒนาให้ครองใจผู้บริโภคได้ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เนื่องจากมีความงดงาม ทรงคุณค่า สะท้อนอัตลักษณ์แต่ละท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี อีกทั้ง ขณะนี้ผู้บริโภคนิยมนำวัสดุจากธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาผลิตเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค และต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีความเฉพาะตัว สร้างสรรค์มาจากฝีมือที่มีความโดดเด่น ทำให้เป็นโอกาสทองสำหรับผ้าไหม-ผ้าฝ้ายของไทยในการเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มนี้"
 
               "กรมฯ ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผ้าไหมของไทยทุกภูมิภาค ทำการขยายตลาดผู้บริโภคให้กว้างมากยิ่งขึ้น เบื้องต้น ได้มีการจัดอบรมบ่มเพาะเชิงปฏิบัติการแบบเข้มข้นให้แก่ผู้ประกอบการผ้าไหมท้องถิ่น โดยเน้นการเติมเต็มความรู้ในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร เช่น การกำหนดกลยุทธ์ด้านการตลาด การสร้างเรื่องราวของผลิตภัณฑ์/บริการ (Storytelling) การสร้างแบรนด์ของผลิตภัณฑ์/บริการ (Branding) การวางตำแหน่งทางการตลาด (Positioning) การส่งเสริมการขาย (Promotion) การสร้างการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา การสร้างจุดขายที่แตกต่าง (Unique Selling Point) การสร้างอัตลักษณ์และวิธีการถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ รวมทั้ง การปลูกฝังค่านิยมความเป็นผู้ประกอบการให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมฯ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม และตามทันกระแสธุรกิจสมัยใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา"
 
                 รองอธิบดีฯ กล่าวต่อว่า "นอกจากการอบรมบ่มเพาะแบบเข้มข้นแล้ว ยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในแต่ละภูมิภาคเกิดรวมกลุ่มกันเป็นภาคีเครือข่ายธุรกิจผ้าไหมและเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและจุดอ่อนของธุรกิจผ้าไหมที่แต่ละกลุ่มหรือแต่ละชุมชนได้รับหรือประสบมา พร้อมระดมความคิดเห็นเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาและปิดจุดอ่อนที่เกิดขึ้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ คอยเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ และร่วมกันวางแผนอนาคตธุรกิจผ้าไหมของไทยว่าจะไปเติบโตในทิศทางใดและอย่างไร ก่อนเชื่อมโยงไปยังเครือข่ายอื่นๆ เช่น ผู้ผลิต ผู้จัดหา นักออกแบบ และผู้ซื้อ ในการขยายช่องทางการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงใจผู้บริโภค"
 
                 "นอกจากนี้ กรมฯ เตรียมประสานไปยังการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อเชื่อมโยงตลาดผ้าไหมสู่คลัสเตอร์การท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร ฯลฯ ทั้งเมืองหลักและเมืองรองในการนำผ้าไหมและผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมมาใช้ในการตกแต่งสถานที่หรือเป็นของที่ระลึกสำหรับแขกผู้ที่เข้ามาใช้บริการ โดยใช้เครื่องมือสนับสนุนผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้ง จะมีการนำผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเพื่อเปิดตลาดใหม่ๆ และขยายโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น"
 
"มั่นใจว่าธุรกิจผ้าไหมไทยยังคงมีอนาคตที่สดใส ถ้าทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการผ้าไหม และทายาท ร่วมมือร่วมใจกันในการพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าอย่างตรงจุด มีการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างพันธมิตรทางการค้า ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในทุกๆ ด้าน มีการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านลวดลายบนผืนผ้าไหม โดยยังคงรักษามาตรฐาน คุณภาพการผลิต และความงดงามไว้ไม่เปลี่ยนแปลง โดยนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการต่อยอดพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลาย ทันสมัย ดูแลรักษาง่าย ซึ่งจะเป็นการยกระดับผ้าไหมไทยให้มีมูลค่าสูงขึ้น และยังคงไว้ซึ่งความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จะเป็นเอกลักษณ์ของชาติสืบต่อไป" รองอธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
 
***************************************
 
ที่มา : กองธุรกิจภูมิภาคและชุมชน                                                                      ฉบับที่ 113 / วันที่ 26 มิถุนายน 2562