การจดทะเบียนธุรกิจ ประจำเดือนมีนาคม 2562 และ ไตรมาส 1/2562

การจดทะเบียนธุรกิจ ประจำเดือนมีนาคม 2562 และ ไตรมาส 1/2562
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
 
                        นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้ นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงข่าวการจดทะเบียนธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประจำเดือน มีนาคม 2562 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
 
ผลการจดทะเบียนธุรกิจ
 
                       ธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนมีนาคม
                                - จำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศในเดือนมีนาคม 2562 จำนวน 6,876 ราย เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จำนวน 6,563 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 313 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 และเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2561 จำนวน 6,728 ราย เพิ่มขึ้น จำนวน 148 ราย คิดเป็นร้อยละ 2
                               - ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 604 ราย คิดเป็น ร้อยละ 9 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 359 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร จำนวน 185 ราย คิดเป็นร้อยละ 3
                               - มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ในเดือนมีนาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 17,840 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จำนวน 16,858 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 982 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6 และเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2561 จำนวน 25,255 ล้านบาท ลดลงจำนวน 7,415 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 29
 
                      ธุรกิจจัดตั้งใหม่ไตรมาส 1/2562
                               - จำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ ไตรมาส 1/2562 (ม.ค.-มี.ค.) จำนวน 20,750 ราย เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2561 จำนวน 15,838 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 4,912 ราย คิดเป็นร้อยละ 31 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561 (ม.ค.-มี.ค.) จำนวน 20,049 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 701 ราย คิดเป็นร้อยละ 3
                               - ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 1,814 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,126 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 และธุรกิจภัตตาคาร / ร้านอาหาร จำนวน 525 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ
                               - มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ในไตรมาส 1/2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 52,391 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส4/2561 จำนวน 133,798 ล้านบาท ลดลงจำนวน 81,407 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 61 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561 จำนวน 60,831 ล้านบาท ลดลงจำนวน 8,440 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14
                               - ธุรกิจจัดตั้งใหม่แบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 15,198 ราย คิดเป็นร้อยละ 73.25 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 5,211 ราย คิดเป็นร้อยละ 25.11 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 295 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.42 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 46 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.22
                               - การลงทุนของต่างชาติในนิติบุคคลไทย ต่างชาติที่ลงทุนในนิติบุคคลไทยไตรมาส 1 /2562 สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ สัญชาติจีน มีเงินลงทุน 1,997 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.81 รองลงมาคือ สัญชาติไต้หวัน เงินลงทุน 406 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.77 และสัญชาติญี่ปุ่น เงินลงทุน 397 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.76 ซึ่งประเภทธุรกิจที่ต่างชาติลงทุนในนิติบุคคลไทยสูงสุด ได้แก่ ธุรกิจตัวแทนและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจผลิตเครื่องจักรสำหรับการทำเหมืองแร่เหมืองหินและการก่อสร้าง และการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร  
 
                        ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ ณ เดือนมีนาคม
                               - ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 31 มี.ค. 62) ธุรกิจที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน730,158 ราย มูลค่าทุน 16.59 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด / ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 185,342 ราย คิดเป็นร้อยละ 25.38 บริษัทจำกัด จำนวน 543,588 ราย คิดเป็นร้อยละ 74.45 และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,228 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.17
                               - ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่แบ่งตามช่วงทุน ธุรกิจส่วนใหญ่มีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 434,460 ราย คิดเป็นร้อยละ 59.50 รวมมูลค่าทุน 0.38 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.29 รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 211,127 ราย คิดเป็นร้อยละ 28.92 รวมมูลค่าทุน 0.69 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.16 รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 69,549 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.52 รวมมูลค่าทุน 1.88 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.33 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 15,022 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.06 รวมมูลค่าทุน 13.64 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82.22 ตามลำดับ
 
                         ธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนมีนาคม
                               - จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 1,075 ราย เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จำนวน 812 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 263 ราย คิดเป็นร้อยละ 32 และเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2561 จำนวน 928 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 147 ราย คิดเป็นร้อยละ 16
                               - ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 106 ราย คิดเป็นร้อยละ 10 รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 56 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 และธุรกิจค้าสลาก จำนวน 42 ราย คิดเป็นร้อยละ 4 ตามลำดับ
                               - มูลค่าทุนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ ในเดือนมีนาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,002 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จำนวน 2,531 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 471 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19 และเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2561 จำนวน 3,169 ล้านบาท ลดลงจำนวน 167 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5
 
                         ธุรกิจเลิกประกอบกิจการไตรมาส 1/2562
                                - จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 3,288 ราย เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2561 จำนวน 10,159 ราย ลดลงจำนวน 6,871 ราย คิดเป็นร้อยละ 68 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561 จำนวน 3,088 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 200 ราย คิดเป็นร้อยละ 7
                                - ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 360 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 189 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ จำนวน 89 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ
                                - มูลค่าทุนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ ในไตรมาส 1/2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 9,995 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2561 จำนวน 38,428 ล้านบาท ลดลงจำนวน 28,433 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 74 และเมื่อเทียบกับ ไตรมาส 1/2561 จำนวน 18,517 ล้านบาท ลดลงจำนวน 8,522 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 46
                                - ธุรกิจเลิกประกอบกิจการแบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศ มากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 2,330 ราย คิดเป็นร้อยละ 70.86 รองลงมาคือช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท จำนวน 816 ราย คิดเป็นร้อยละ 24.82 ลำดับถัดไปคือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 130 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.95 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 12 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.37
 
แนวโน้มการจัดตั้งธุรกิจ
                       เมื่อประเมินจากอัตราการเติบโตของ GDP และแนวโน้มด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงแนวโน้มการ จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจตามฤดูกาล (Seasonal Trend) คาดว่า เดือนเมษายน 2562 จะมีสถานการณ์การจัดตั้งธุรกิจลดลงจากเดือนมีนาคม 2562 เนื่องจากในเดือนเมษายน เป็นช่วงเวลาเทศกาลรวมทั้งนิติบุคคลและสำนักงานบัญชีอยู่ระหว่างดำเนินการเตรียมส่งงบการเงินประจำปีในช่วงเดือนพฤษภาคม ส่งผลต่อการจัดตั้งธุรกิจในเดือนนี้ค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีอัตราการจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2561
 
การลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าว
                      เดือนมีนาคม
                             - เดือนมีนาคม 2562 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น 55 ราย แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 17 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ 38 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 10,798 ล้านบาท
                             - นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 17 ราย เงินลงทุนกว่า 2,900 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ จำนวน 11 ราย เงินลงทุน 812 ล้านบาท และฮ่องกง 4 ราย เงินลงทุน 5,465 ล้านบาท
                             - การเปรียบเทียบการลงทุนรายเดือน เมื่อเปรียบเทียบการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติในเดือนมีนาคมกับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า จำนวนธุรกิจที่คนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น 8 ราย หรือประมาณร้อยละ 17 ในขณะที่เงินลงทุนลดลงกว่า 2 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20
 
                     ไตรมาส 1/ 2562
                               การอนุญาตให้คนต่างชาติลงทุนประกอบธุรกิจ โดยแบ่งตามพื้นที่สำหรับการลงทุนในไตรมาสแรก ของปี 2562 จำนวน 160 ราย แบ่งเป็น การออกใบอนุญาต 51 ราย หนังสือรับรอง 109 ราย ตั้งอยู่ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร 89 ราย (ร้อยละ 56) พื้นที่ EEC 38 ราย (ร้อยละ 24) พื้นที่ปริมณฑล 20 ราย (ร้อยละ 12) อื่นๆ 13 ราย (ร้อยละ 8) รวมเงินลงทุน 29,481 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในพื้นที่ EEC 15,865 ล้านบาท (ร้อยละ 54) กรุงเทพมหานคร 9,398 ล้านบาท (ร้อยละ 32) อื่นๆ 4,218 ล้านบาท (ร้อยละ 14)
 
****************************
 
การให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเดือนมีนาคม 2562
 
                        กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัล และ พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกเพื่อลดต้นทุน ลดเวลา และลดการใช้กระดาษ โดยพัฒนาการบริการทุกระบวนการของกรม ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ผู้ใช้บริการยื่นขอรับบริการได้ทุกที่ ทุกเวลา
 
e-Registration การจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์
                       การจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2560 - 31 มีนาคม 2562 มีการยืนยันการใช้งาน (Activate) จำนวน 37,139 ราย รับจดทะเบียน 17,733 ราย ซึ่งกรมได้มีการเตรียมการพัฒนาระบบให้อำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น ทั้งด้านการยืนยันตัวตนนิติบุคคลและการใช้ระบบงาน รวมถึงการเชื่อมโยงเพื่อสร้างความพร้อมในการดำเนินธุรกิจให้แก่ SME ทั้งด้านการเงินและซอฟแวร์ และเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 ได้ให้บริการสำเนาเอกสารทะเบียนนิติบุคคลรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ของนิติบุคคลที่จดทะเบียนผ่านระบบ e-Registration
 
การบริการหนังสือรับรองข้อมูลนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์และผลักดันการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์
                        กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ยกระดับการเป็นหน่วยงานรัฐบาลดิจิทัล โดยการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) มาให้บริการ โดยบริการ e-Service การบริการขอหนังสือรับรองผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขอรับเอกสารได้ผ่านช่องทาง Walk in EMS Delivery การออกหนังสือรับรองรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Certificate File) และได้ขยายการให้บริการสู่การบริการหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ และสมาคมการค้า หนังสือรับรองภาษาอังกฤษ
                        ทั้งนี้ การขอรับบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากผ่านทาง www.dbd.go.th แล้ว สามารถขอรับบริการผ่านทาง Application DBD e- Service ระบบ Android และ IOS
 
DBD e-Accounting โปรแกรมบัญชีเพื่อช่วยเหลือ SMEs
                        กรมได้ดำเนินการแจก "โปรแกรม e-Accounting for SMEs"ช่วยเหลือ SMEs สามารถบริหารจัดการร้านค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการบันทึกข้อมูลซ้ำซ้อน ลดระยะเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น โดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ทาง Play store ซึ่งมีการพัฒนาซอฟแวร์บัญชีเชื่อมต่อกับการนำส่งงบการเงินทางระบบ DBD e-Filing ผ่านทาง DBD Connect ซึ่งเป็นการร่วมกับผู้พัฒนาซอฟแวร์บัญชี เพื่อเชื่อมโยงระบบงานบัญชีเข้าสู่งบการเงินทางออนไลน์ได้โดยทันที ซึ่งขณะนี้มีอยู่จำนวน 15 ราย
 
Total Solution for SMEs
                        การขับเคลื่อน SMEs ไทยด้วยนวัตกรรมออนไลน์ โดยส่งเสริมให้ธุรกิจเข้าถึงเทคโนโลยีทางการบัญชี และบริหารจัดการร้านค้าได้โดยง่าย ให้ได้รับข้อมูลในการบริหารจัดการธุรกิจแบบถูกต้อง ครบวงจร เปลี่ยน Traditional SMEs เป็น Smart SMEs ซึ่งกรมได้รวบรวมโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทั้ง 3 ภาคส่วน ไว้ด้วยกันคือ โปรแกรมสำนักงาน (Office) โปรแกรมหน้าร้าน (POS) โปรแกรมบัญชี online (Cloud Accounting) โดยผู้ประกอบการ สามารถจัดทำบัญชีเบื้องต้นได้เองก่อนส่งข้อมูลให้ผู้ทำบัญชีตรวจสอบ โดยขณะนี้เปิดให้ SMEs ได้สมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าว DBD Business Data Warehouse
 
DBD Business Data Warehouse
                       กรมได้พัฒนาระบบสารสนเทศให้มีความสมบูรณ์หลากหลาย และสามารถจัดทำผลวิเคราะห์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล พร้อมทั้งนำข้อมูลธุรกิจไปสนับสนุนการตัดสินใจในการประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว และในเดือนเมษายน 2562 DBD Business Data Warehouse ได้รับเลือกเป็น Champion ติดลำดับ 1 ใน 5 จากการเข้าร่วมประกวดในรายการ WSIS Project Prizes 2019 ในหมวดที่ 3 (Category 3 : Access to Information and knowledge) ซึ่งจัดโดยสหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ (International Telecommunication Union : ITU) และองค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN)
 
******************************
ที่มา : กองข้อมูลธุรกิจ                                                                           ฉบับที่ 80 / 26 เมษายน 2562