ธุรกิจโลจิสติกส์ไทย...ถึงเวลาต้องปรับตัว - เปลี่ยนวิธีคิด นำเทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการ.. เปลี่ยนคู่แข่งเป็นพันธมิตร..
ธุรกิจโลจิสติกส์ไทย...ถึงเวลาต้องปรับตัว - เปลี่ยนวิธีคิด
นำเทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการ.. เปลี่ยนคู่แข่งเป็นพันธมิตร.. สร้างความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจ
หลังนักลงทุนหน้าใหม่ทั้งไทยและเทศเดินหน้าเข้าตลาดแข่งขันมากขึ้น
ย้ำ...ธุรกิจที่ได้มาตรฐานเท่านั้น..จึงจะอยู่รอด
กรมพัฒน์ฯ เตือน!! ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ไทยถึงเวลาต้องปรับตัว..เร่งพัฒนาตนเองให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล หลังนักลงทุนหน้าใหม่ทั้งในและต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศมากขึ้น พร้อมเปลี่ยนวิธีคิด.. นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการ เปลี่ยนคู่แข่งเป็นพันธมิตรทางการค้า สร้างความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจ เชื่อ!! ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการปรับตัวและธุรกิจมีมาตรฐานการจัดการเท่านั้นจึงจะอยู่รอด
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก ดูได้จากจำนวนผู้ให้บริการโลจิสติกส์ทั้งขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้ามาแข่งขันในตลาดมากขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาครัฐเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟ ท่าเรือ ถนน ศูนย์กระจายสินค้า และคลังสินค้า ฯลฯ มีการเชื่อมต่อระบบคมนาคมที่หลากหลายรูปแบบสามารถอำนวยความสะดวกได้มากขึ้น การเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในประเทศ รวมทั้ง การส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ของรัฐบาล ทำให้ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์กลายเป็นธุรกิจดาวเด่นที่มีคู่แข่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด"
"กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง ได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ไทยเป็นอย่างมาก ทั้งการพัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ การบริหารจัดการธุรกิจอย่างเป็นระบบ/มีมาตรฐาน และยกระดับการบริการให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล โดยที่ผ่านมา (ปี 2553 - 2561) กรมฯ ผลักดันให้ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์พัฒนาตนเองและระบบการบริหารจัดการธุรกิจจนได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน ISO 9001 จำนวนกว่า 500 ราย แบ่งเป็นธุรกิจขนส่งสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ร้อยละ 67 บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ร้อยละ 13 ตัวแทนออกของรับอนุญาต ร้อยละ 11 คลังสินค้า ร้อยละ 5 และบริการโลจิสติกส์ครบวงจร ร้อยละ 4 ซึ่งแสดงถึงการบริหารจัดการ การบริการลูกค้า การเชื่อมโยงพันธมิตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการ และสามารถส่งผลต่อการลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ"
อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า "โดยในปี 2562 นี้ กรมฯ จะให้ความสำคัญในการพัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ที่ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มากขึ้น เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจให้มีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนได้อย่างแข็งแรง โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562) มีนิติบุคคลให้บริการโลจิสติกส์ใน EEC จำนวนรวมทั้งสิ้น 5,015 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 34,465.57 ล้านบาท แบ่งเป็น จังหวัดชลบุรี 3,560 ราย ทุนจดทะเบียน 22,942.01 ล้านบาท จังหวัดระยอง 933 ราย ทุนจดทะเบียน 3,599.99 ล้านบาท และ ฉะเชิงเทรา 522 ราย ทุนจดทะเบียน 7,923.57 ล้านบาท ทั้งนี้ จำนวนธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในเขต EEC คิดเป็นร้อยละ 20.18 จากจำนวนธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 24,852 ราย"
"เป้าหมายสำคัญสำหรับการพัฒนาระบบบริหารจัดการธุรกิจของธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ คือ ต้องการให้ธุรกิจพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างผลประกอบการที่ดี โดยเปรียบเทียบการดำเนินงานและประเมินผลตามมาตรฐาน ISO ซึ่งสามารถวิเคราะห์จุดอ่อน-จุดแข็งที่จะนำมาพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินธุรกิจให้มีระบบที่สร้างความน่าเชื่อถือ ตอบโจทย์ลูกค้าหรือผู้รับบริการได้อย่างตรงจุด สามารถแข่งขันในการขยายตัวของตลาดในประเทศและเชื่อมต่อระหว่างประเทศผ่านการค้าชายแดน ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและเติบโต รวมทั้งการสนองตอบต่อตลาดที่จะเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่ง ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ธุรกิจอื่นของประเทศโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs"
"ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องเร่งดำเนินการในปัจจุบัน คือ การปรับตัวและเปลี่ยนวิธีคิดใหม่เพื่อรองรับการแข่งขันในตลาดที่สูงเพิ่มขึ้นและเป็นที่ยอมรับในเชิงธุรกิจ รวมทั้ง เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจในระยะยาว โดยปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงและปรับเปลี่ยน เช่น 1) นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการธุรกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าและคู่ค้า สามารถตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว พร้อมสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล 2) มีเครือข่ายพันธมิตรที่กว้างขวาง พร้อมเปลี่ยนคู่แข่งเป็นพันธมิตรเพื่อเกิดการส่งงานให้กันและกัน เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดและขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง 3) ความเชี่ยวชาญของบุคลากร โดยเฉพาะการประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ รวมถึง ต้องมีการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการรอบรู้และหลากหลาย 4) คุณภาพการให้บริการ คำนึงถึงลูกค้าและการให้บริการเป็นสำคัญ 5) รักษาฐานลูกค้าปัจจุบัน เนื่องด้วยการแข่งขันของธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ที่สูงขึ้น การรักษาฐานลูกค้า การให้คำปรึกษาเพื่อลดกระบวนการทำงานของลูกค้าจะเป็นหัวใจหลักในการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องและการพัฒนาการบริการเพื่อสร้างลูกค้าใหม่นำสู่การเติบโตของธุรกิจ 6) มาตรฐานความปลอดภัยการให้บริการขนส่งสินค้า สามารถสร้างความมั่นใจแก่ลูกค้าว่าสินค้าถึงจุดหมายอย่างปลอดภัยในเวลาที่กำหนด และดูแลไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน"
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562) ประเทศไทยมีธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ จำนวนทั้งสิ้น 24,852 ราย แบ่งเป็น การขนส่งทางบกและระบบท่อลำเลียง 17,788 ราย (คิดเป็นร้อยละ 71.58) ตัวแทนออกของ 3,571 ราย (คิดเป็นร้อยละ 14.37) การบริหารจัดการเกี่ยวกับสินค้า 1,116 (คิดเป็นร้อยละ 4.49) คลังสินค้า 776 ราย (คิดเป็นร้อยละ 3.12) การขนส่งทางน้ำ 655 ราย (คิดเป็นร้อยละ 2.64) การขนถ่ายสินค้า 640 ราย (คิดเป็นร้อยละ 2.58) การขนส่งทางอากาศ 186 ราย (คิดเป็นร้อยละ 0.75) ตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าและอื่นๆ 120 ราย (คิดเป็นร้อยละ 0.47)
********************************************
ที่มา : กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ ฉบับที่ 72 /วันที่ 5 เมษายน 2562