กรมพัฒน์ฯ MOU ร่วมกับ 4 หน่วยงาน เสริมมาตรการจัดทำบัญชีให้สะท้อนความจริง
กรมพัฒน์ฯ MOU ร่วมกับ 4 หน่วยงาน เสริมมาตรการจัดทำบัญชีให้สะท้อนความจริง
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ลงนาม MOU ร่วมกับกรมสรรพากร สภาวิชาชีพบัญชี ธนาคารแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ผลักดันภาคธุรกิจทำบัญชีให้ถูกต้อง ลดข้อผิดพลาดขั้นตอน ส่งงบการเงิน และการยื่นภาษี โดยกรมฯ วาง 4 แนวทางตอบโจทย์การทำงาน 1) ให้ความรู้ด้านการทำบัญชี 2) รวบรวมโปรแกรมเพื่อบริหารจัดการธุรกิจ Total Solutions for SMEs 3) จัดทำคู่มือยื่นแบบปรับปรุงข้อมูลทางภาษีอากรให้สอดรับกับพ.ร.บ.ยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่มภาษีอากร และ 4) เปิด Fast Track สำหรับนิติบุคคลที่ได้รับการยกเว้นตามพ.ร.บ.ฯ เพื่อส่งงบการเงินฉบับใหม่ทดแทนฉบับเดิมที่มีข้อผิดพลาด
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ในวันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2562)กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ร่วมกับ 4 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ กรมสรรพากร
สภาวิชาชีพบัญชี ธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)
ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วย "การสนับสนุนและกำกับดูแลผู้ประกอบการให้จัดทำบัญชีและงบการเงินให้ถูกต้องและสอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ" เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและนิติบุคคลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดทำบัญชี
งบการการเงิน
และเข้าสู่ระบบภาษีเพื่อสะท้อนการเจริญเติบโตของธุรกิจอย่างถูกต้องสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการสนับสนุนและเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจได้ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
อธิบดี กล่าวต่อว่า "การลงนาม MOU ในครั้งนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้กำหนดมาตรการสนับสนุนและวางแนวทางการกำกับดูแลผู้ทำบัญชีและผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีให้ดำเนินการได้อย่างถูกต้องสอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของธุรกิจ
โดยมีแนวทางดังนี้
1) จัดอบรมด้านการทำบัญชีเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ธุรกิจผู้ทำบัญชี และผู้สอบบัญชี
2)รวบรวมโปรแกรมที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการธุรกิจแบบครบวงจรได้แก่ โปรแกรมสำนักงาน (Office) โปรแกรมหน้าร้าน (POS : Point Of Sale) และโปรแกรมบัญชี Online
(Cloud Accounting) ภายใต้ชื่อโครงการ Total
Solutions for SMEs เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจได้เข้าถึงเทคโนโลยีและสามารถเลือกใช้โปรแกรมที่มีความเหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง
และจัดทำบัญชีได้อย่างถูกต้อง
3) ร่วมมือกับกรมสรรพากรและสภาวิชาชีพบัญชี
จัดทำคู่มือแนวทางการยื่นแบบสำหรับปรับปรุงข้อมูลทางภาษีอากรที่มีผลกระทบกับงบการเงินให้สอดรับกับพ.ร.บ.ยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่มภาษีอากร
และความรับผิดทางอาญาเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ....
ของกรมสรรพากร ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7
มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา
4) เปิดช่องทางพิเศษเร่งด่วน (Fast Track) ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) ให้กับนิติบุคคลกลุ่มที่อยู่ในเงื่อนไขได้รับการยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มตามพ.ร.บ.ฯ และประสงค์จะส่งงบการเงินฉบับใหม่ เพื่อทดแทนฉบับเดิมที่มีข้อผิดพลาด
"ที่ผ่านมากรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เดินหน้าส่งเสริมนิติบุคคลและกำกับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีให้สามารถจัดทำบัญชีได้อย่างถูกต้อง ประกอบกับบูรณาการการทำงานร่วมกับกรมสรรพากรมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้เชื่อมโยงฐานข้อมูลงบการเงินที่นิติบุคคลนำส่งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทางระบบ DBD e-Filing ไปยังฐานข้อมูลของกรมสรรพากรแบบอัตโนมัติทำให้นิติบุคคลที่ต้องยื่นแบบเสียภาษีอากรไม่ต้องแนบงบการเงินซ้ำ ช่วยให้ภาคธุรกิจสะดวกมากขึ้นและยังทำให้ฐานข้อมูลงบการเงินของประเทศเป็นข้อมูลชุดเดียวกัน สะท้อนความโปร่งใสของธุรกิจในประเทศ สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ" อธิบดี กล่าวในท้ายที่สุด
********************************
ที่มา : กองกำกับบัญชีธุรกิจ ฉบับที่ 64 / 14 มีนาคม 2562