พาณิชย์ ปรับแก้กฎหมายบริษัทมหาชนจำกัด เน้นใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยบริหารจัดการ

พาณิชย์ ปรับแก้กฎหมายบริษัทมหาชนจำกัด เน้นใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยบริหารจัดการ
หวัง!! อำนวยความสะดวก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และลดต้นทุนภาคธุรกิจ
 
               บริษัทมหาชนจำกัดเตรียมเฮ!!! กระทรวงพาณิชย์ปรับแก้กฎหมายมหาชน อำนวยความสะดวก เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และลดต้นทุนภาคธุรกิจ เน้นให้ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยบริหารจัดการ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วและหลากหลายช่องทางมากขึ้น
                 นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา โดยหัวใจหลักของการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฯ คือ การอำนวยความสะดวก เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่บริษัทมหาชนจำกัด กรรมการ และผู้ถือหุ้นในบริษัทมหาชนจำกัดในการดำเนินการต่างๆ โดยเพิ่มช่องทางผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน"
                "สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.แก้ไขฯ ฉบับนี้ แบ่งออกเป็น 2 ประเด็นหลัก คือ 1) เพิ่มช่องทางการโฆษณา การส่งเอกสาร การประชุมกรรมการ และการมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมผู้ถือหุ้นแทนให้สามารถดำเนินการทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ ประกอบด้วย มาตรา 6 การเพิ่มช่องทางโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์นอกจากทางหนังสือพิมพ์ มาตรา 7 เพิ่มช่องทางการส่งเอกสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ มาตรา 79 เพิ่มช่องทางการประชุมกรรมการให้สามารถประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ เพิ่มมาตรา 102/1 เพิ่มช่องทางการมอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าประชุมผู้ถือหุ้นแทนโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-proxy) และ 2) ปรับปรุงวิธีการเรียกประชุมกรรมการ ในกรณีที่บริษัทไม่มีประธานกรรมการหรือประธานกรรมการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และไม่มีการกำหนดวันประชุมคณะกรรมการไว้ล่วงหน้า โดยให้กรรมการ 2 คน ที่ร้องขอสามารถเรียกประชุมกรรมการได้ ตามมาตรา 81 และ มาตรา 82 นอกจากนี้ ยังได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายให้ออกประกาศได้เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติที่ได้แก้ไขปรับปรุงอีกด้วย"
                  "กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้นำร่าง พ.ร.บ.แก้ไขฯ ฉบับดังกล่าวรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และผู้ประกอบการบริษัทมหาชนจำกัด รวมทั้ง การรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (www.dbd.go.th) โดยหลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นแล้ว กรมฯ ได้นำความเห็น/ข้อเสนอแนะทั้งหมดมาทำการวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายฯ ฉบับนี้ และได้ทำการปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายฯ ตามที่ได้รับฟังความคิดเห็น และได้นำเสนอขอความเห็นชอบจาก ครม. ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ผ่านความเห็นชอบแล้ว"
                 "ขั้นตอนต่อไป สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะส่งร่างกฎหมายฯ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และไม่ต้องส่งเข้า ครม. อีกครั้งหนึ่ง แต่ให้ส่งไปยังคณะกรรมการประสานงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา นำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา 3 วาระ...ก่อนตราเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป คาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับประมาณกลางปี 2562 เป็นต้นไป"
                  "ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่...) พ.ศ.... เกิดขึ้นจากคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอของคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ให้แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ใน 6 ประเด็นที่เป็นอุปสรรค ต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน ซึ่ง กขร. ได้ส่งให้กระทรวงพาณิชย์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (ในฐานะผู้รักษาการ) ดำเนินการเสนอเรื่องตามขั้นตอนการเสนอกฎหมายต่อไป ซึ่งการปรับแก้กฎหมายฯ ในครั้งนี้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยจัดให้มีกฎหมาย ที่สอดคล้องกับบริบทต่างๆ ของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถใน การแข่งขัน ประชาชนมีโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก หลากหลายช่องทาง นอกจากนี้ ยังเป็นการลดต้นทุนของภาคธุรกิจโดยการส่งเสริมให้ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้กระดาษ" อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า
                  ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561) บริษัทมหาชนจำกัด ดำเนินธุรกิจอยู่จำนวนทั้งสิ้น 1,218 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.17 ของจำนวนนิติบุคคลคงอยู่ทั้งหมด (นิติบุคคลคงอยู่ 714,478 ราย) ทุนจดทะเบียนรวม 5.15 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28.98 ของทุนจดทะเบียนนิติบุคคลคงอยู่ทั้งหมด (ทุนจดทะเบียนนิติบุคคลคงอยู่ทั้งหมด 17.77 ล้านล้านบาท)
 
**********************************************
ที่มา : สำนักกฎหมาย                                                                                    ฉบับที่ 29 / วันที่ 14 ธันวาคม 2561