พาณิชย์ ติวเข้ม...ผู้บังคับหลักประกัน สร้างความเชี่ยวชาญการไต่สวนข้อพิพาทที่เกี่ยวกับสัญญาทางธุรกิจ
พาณิชย์ ติวเข้ม...ผู้บังคับหลักประกัน สร้างความเชี่ยวชาญการไต่สวนข้อพิพาทที่เกี่ยวกับสัญญาทางธุรกิจ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้บังคับหลักประกัน ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และความเชี่ยวชาญในการไต่สวนข้อเท็จจริงและวิธีการวินิจฉัยข้อพิพาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถวินิจฉัยเหตุบังคับหลักประกันได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรมทั้งแก่ผู้ให้และผู้รับหลักประกันโดยไม่ถูกคัดค้านคำวินิจฉัยจากคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยว่า วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม 2561) กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้บังคับหลักประกัน เรื่อง "ไต่สวนให้รู้ วินิจฉัยให้ชัด ผู้บังคับไม่ถูกคัดค้าน" ให้กับผู้บังคับหลักประกันกลุ่มวิชาชีพทนายความ ณ ห้อง Jasper โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี โดยมีผู้บังคับหลักประกันที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเข้าร่วมอบรมกว่า 50 คน และได้รับเกียรติจากนายสมชัย ฑีฆาอุตมากร ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้เชี่ยวชาญด้านการไต่สวนและพิจารณาคดีความ มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้นำความรู้ไปใช้ในการไต่สวนข้อพิพาทและพิจารณาคดีความที่เกิดขึ้นจากเหตุบังคับหลักประกัน พร้อมทั้งสามารถวินิจฉัยผลสรุปออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมต่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย
การอบรมในครั้งนี้ เป็นการเสริมความรู้ด้านกระบวนการบังคับหลักประกันที่มีเนื้อหาครบถ้วนในทุกมิติ อาทิ กระบวนการบังคับหลักประกันที่เป็นกิจการ กระบวนการบังคับหลักประกันที่เป็นธุรกิจ กระบวนการที่เกี่ยวกับคำสั่งบังคับหลักประกัน กระบวนการในขั้นตอนของศาล การบังคับหลักประกันตามคำวินิจฉัยของผู้บังคับหลักประกัน การจัดสรรชำระ และการคัดค้านผู้บังคับหลักประกัน โดยเน้นสาระสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการและวิธีการไต่สวนพิจารณาข้อพิพาทที่เกี่ยวกับสัญญาทางธุรกิจ เพื่อวินิจฉัยข้อเท็จจริงพร้อมตัดสินข้อพิพาทสัญญาทางธุรกิจ
ดังนั้น ผู้บังคับหลักประกันจึงจำเป็นต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ทุกด้าน ทั้งด้านกฎหมายบัญชี เศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ หรือการประเมินราคาทรัพย์สินอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านกฎหมายและการไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบังคับหลักประกัน เพื่อสามารถเป็นผู้วินิจฉัยเหตุบังคับหลักประกัน ตรวจสอบ ประเมินราคา รวมถึงเป็นผู้บริหารกิจการต่อไปจนกว่าจะจำหน่ายกิจการเพื่อนำมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้
ทั้งนี้ "การนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ลดข้อจำกัดด้านเงื่อนไขหลักประกัน ได้รับต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสม สร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น เพิ่มโอกาสและศักยภาพของผู้ประกอบการในการทำธุรกิจจากการได้รับเงินทุนสนับสนุน ลดปัญหาการกู้ยืมนอกระบบ สถาบันการเงินมีหลักประกันในการชำระหนี้ตามกฎหมายเพิ่มขึ้น ลดความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ เพิ่มโอกาสในการขยายการให้สินเชื่อ รวมถึงเป็นการส่งเสริมการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม"
อธิบดี กล่าวสรุป ปัจจุบัน (4 กรกฎาคม 2559 - 11 ธันวาคม 2561) มีผู้มาขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 321,792 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน รวมทั้งสิ้น 5,688,279 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องประเภทบัญชีเงินฝากธนาคาร ยังคงเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 50.15 (มูลค่า 2,852,397 ล้านบาท) รองลงมา คือ สิทธิเรียกร้องประเภทลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สัญญาเช่า สัญญาซื้อขาย คิดเป็นร้อยละ 27.17 (มูลค่า 1,545,287 ล้านบาท) สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ ช้าง คิดเป็นร้อยละ 22.65 (มูลค่า 1,288,229 ล้านบาท) ทรัพย์สินทางปัญญา คิดเป็นร้อยละ 0.04 (มูลค่า 1,975 ล้านบาท) กิจการ คิดเป็นร้อยละ 0.005 (มูลค่า 266 ล้านบาท) และอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 0.002 (มูลค่า 125 ล้านบาท) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สายด่วน 1570, โทรศัพท์หมายเลข 0 2547 5048,e-Mail : stro@dbd.go.th และ http://www.dbd.go.th/
************************************
ที่มา : กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ ฉบับที่ 28 / 13 ธันวาคม 2561