กรมพัฒน์ฯ เข้มนโยบายพัฒนาบุคลากรภายในองค์กร...รองรับไทยแลนด์ 4.0

กรมพัฒน์ฯ เข้มนโยบายพัฒนาบุคลากรภายในองค์กร...รองรับไทยแลนด์ 4.0
เน้นสวมหมวก 2 ใบ : ให้บริการประชาชน และ ที่ปรึกษาภาคธุรกิจ
พร้อมใช้บิ๊กดาต้าเป็นเครื่องมือนำพาสู่ความสำเร็จ
 
                 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขานรับข้อสั่งการนายกฯ...เตรียมปั้นบุคลากรภายในองค์กรให้มีสมรรถนะทัดเทียมภาคเอกชน รองรับนโยบายและการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ ...จากตั้งรับ...เป็นเดินหน้ารุก...เน้นสวมหมวก 2 ใบ เป็นทั้งผู้ให้บริการประชาชน และที่ปรึกษาภาคธุรกิจ พร้อมใช้บิ๊กดาต้าเป็นเครื่องมือนำพาสู่ความสำเร็จ หวัง...ประชาชนได้รับบริการที่ดีมีความพึงพอใจสูงสุด ...ภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีเติบโตอย่างสมดุลและเข้มแข็ง เชื่อ...บุคลากรที่มีความรู้คู่คุณธรรมจะนำพาองค์กรเข้มแข็ง ส่งผลภาครัฐแข็งแกร่ง...ประเทศชาติมั่นคง
                    นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ตามที่นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) มีข้อสั่งการให้หน่วยงานภาครัฐเร่งผลิตและพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับความต้องการด้านต่างๆ ของประเทศ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคธุรกิจในระยะยาว กรมฯ จึงกำหนดให้นโยบายด้านการพัฒนาและเสริมสร้างสมรรถนะบุคลากรภายในองค์กรเป็นยุทธศาสตร์และภารกิจหลักที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนและภาคประชาชนอย่างตรงจุด ขณะเดียวกัน เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 และสังคมแห่งอนาคตอย่างเต็มรูปแบบ"
                  "กรมฯ ได้จัดทำแผนพัฒนาบุคลากรแบบ 3 Types for The Success คือ การฝึกอบรม (Training) การศึกษา (Education or Further Study) และการฝึกปฏิบัติ (Practice) ที่จะพัฒนาบุคลากรสู่ความสำเร็จ โดยเน้นการเพิ่มขีดความสามารถ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านทักษะวิชาชีพ (Technical Competency) ด้านความสัมพันธ์ส่วนบุคคล (Interpersonal Competency) และด้านสติปัญญา (Intellectual Competency) ซึ่งทั้ง 3 ส่วน จะช่วยเติมเต็มจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งให้แก่บุคลากรภายในองค์กรแบบครบวงจร ปรับเปลี่ยนบริบทการทำงาน...จากการตั้งรับ ...เป็นการเดินหน้ารุก เพื่อให้ทันกับความต้องการของภาคธุรกิจและประชาชน รวมถึง เพื่อให้เกิดความกระตือรือร้น กล้ารับ กล้าคิด และกล้าที่จะนำการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับทุกการทำงาน โดยหวังผลสัมฤทธิ์สูงสุดของงาน (Outcome) เป็นที่ตั้ง"
                  อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า "และในฐานะที่กรมฯ เป็นหน่วยงานต้นสายปลายทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจตั้งแต่การเริ่มต้นจัดตั้งธุรกิจจนถึงเลิกประกอบกิจการ ทำให้ภารกิจด้านการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจเพื่อให้มีความเข้มแข็งจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น กรมฯ จึงวางนโยบายพัฒนาให้ข้าราชการของกรมฯ สวมหมวกการทำงาน 2 ใบ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีมีความพึงพอใจสูงสุด และภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอีเติบโตอย่างสมดุลและเข้มแข็ง โดย หมวกใบที่ 1 เป็นการให้บริการประชาชนตามภารกิจของกรมฯ ด้วยความเต็มที่ เต็มใจ เต็มความสามารถ รวมทั้ง ยกระดับและพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น หมวกใบที่ 2 เป็นที่ปรึกษาแก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอีซึ่งเป็นธุรกิจที่มีเป็นจำนวนมากในประเทศ โดยปัญหาสำคัญของเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอีในประเทศไทย คือ การขาดที่ปรึกษาทางธุรกิจที่ดี ดังนั้น กรมฯ จึงเน้นการพัฒนาบุคลากรของกรมฯ ให้สามารถเป็นที่ปรึกษาของภาคธุรกิจได้ในเบื้องต้น รวมถึง ช่วยวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานในการประกอบธุรกิจ โดยใช้คลังข้อมูลธุรกิจของกรมฯ ซึ่งเป็นบิ๊กดาต้าธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยผลักดันให้ภาคธุรกิจประสบความสำเร็จ สามารถเดินไปข้างหน้าได้ด้วยความเข้มแข็งและมั่นคงมากยิ่งขึ้น โดยหลักสูตรแรกเป็นการพัฒนาองค์ความรู้แก่ข้าราชการของกรมฯ ด้านการเป็นที่ปรึกษาที่พร้อมจะให้คำปรึกษาแนะนำแก่ภาคธุรกิจแบบเข้มข้น ภายใต้โครงการ "พัฒนาสมรรถนะผู้ให้บริการด้านการให้คำปรึกษาธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจรายย่อย" ซึ่งจะเริ่มดำเนินการทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2562 นี้ (ตุลาคม - ธันวาคม 2561)"
                  "นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้มีการแบ่งกลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมฯ ออกตามช่วงอายุ (Generation) และตามภาระหน้าที่ที่ได้รับ เพื่อวางแผนการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นระบบและเหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อให้ทุกคนมีความสุขในการทำงาน พร้อมให้บริการประชาชนอย่างเต็มความสามารถ ขณะเดียวกัน ต้องมีการพัฒนาจิตใจและความประพฤติให้มีคุณธรรม-จริยธรรม ยืนอยู่บนความซื่อสัตย์สุจริต และมีธรรมาภิบาลในการทำงาน เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ข้าราชการรุ่นต่อๆ ไป รวมถึง การปรับทัศนคติให้มองการอบรมฯ เป็นการพัฒนาสมรรถนะที่สำคัญที่ทุกคนพึงปฏิบัติเป็นนิจ ทั้งการพัฒนาตนเองผ่านการอบรมหลักสูตรต่างๆ ภายในองค์กร หรือการหาความรู้จากภายนอกองค์กร ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ผู้ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด คือ ภาคธุรกิจทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอี และจะส่งผลดีต่อองค์กรให้มีความเข้มแข็ง น่าเชื่อถือ ...ภาครัฐมีความแข็งแกร่ง และประเทศชาติมีความมั่นคง ยั่งยืนต่อไป" อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
 
**************************************************
ที่มา : สำนักงานเลขานุการกรม                                                                           ฉบับที่ 7 / วันที่ 24 ตุลาคม 2561