กรมพัฒน์ฯ มอบหนังสือรับรองธุรกิจแฟรนไชส์ Franchise Standard Awards 2018

กรมพัฒน์ฯ มอบหนังสือรับรองธุรกิจแฟรนไชส์
'Franchise Standard Awards 2018'
 
                  กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดพิธีมอบหนังสือรับรอง Franchise Standard Awards 2018 โดยในปีนี้มีธุรกิจที่พัฒนากันอย่างเข้มข้นถึง 7 เดือน และผ่านเกณฑ์มาตรฐานฯ จำนวน 75 ราย เป็น The Best Practice จำนวน 10 ราย ซึ่งเครื่องหมายการันตีนี้จะช่วยให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือในสายตาผู้บริโภค และนักลงทุนให้เข้าร่วมเป็นแฟรนไชส์ซี ทำให้ธุรกิจสามารถขยายสาขาต่อไปได้อย่างไม่รู้จบ รวมไปถึงธุรกิจเหล่านี้ยังสามารถเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้มีรายได้น้อยให้ช่วยกันสร้างอาชีพเติบโตไปด้วยกันอีกด้วย
                 นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันนี้ (10 ก.ย.61) กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้จัดพิธีมอบหนังสือรับรอง "Franchise Standard Awards 2018" และงานสัมมนา เชิงปฏิบัติการ "แฟรนไชส์ที่ดีต้องมีเครื่องหมายการค้า" ณ ศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชั้น 6 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการยกระดับมาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ไทยให้สามารถบริหารจัดการได้ตามเกณฑ์มาตรฐานใน 7 ด้านคือ การนำองค์กร, กลยุทธ์, ลูกค้า, การวัดวิเคราะห์และการจัดการความรู้, บุคลากร, การปฏิบัติการ และผลลัพธ์ ซึ่งมาตรฐานทั้งหมดนี้จะเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
                  อธิบดี กล่าวต่อว่า "สำหรับพิธีมอบหนังสือรับรอง Franchise Standard Awards 2018 มีธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการยกระดับตามเกณฑ์มาตรฐานฯ จำนวน 75 ราย แบ่งธุรกิจเป็น 5 ประเภทคือ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 56 ราย, ธุรกิจการศึกษา จำนวน 7 ราย, ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 3 ราย, ธุรกิจความงามและสปา จำนวน 3 ราย และธุรกิจบริการ จำนวน 6 ราย ในจำนวนนี้มีธุรกิจที่ได้รับการคัดเลือกเป็นต้นแบบที่ดี (The Best Practice) จำนวน 10 ราย ได้แก่ บจ. ดิลิเชียส สตอรี่ (ขนมบ้านอุ๋ม), บจ. ตะวันดากรุ๊ป (ผัดไทชาววังตะวันดา), บจ. บ้านย่า เรสเตอรอง (บ้านย่าสเต็กเฮ้าส์), บจ.บุญนำพา (ประเทศไทย), บจ. โฟกัสฮิวแมนนิตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (072 จินตคณิต ดร.เมี่ยง), บจ. เมรูโตะ เทรดดิ้ง (Meruto Sushi), บจ. เวคอัพ (ประเทศไทย) (Wake Up Coffee), บจ. ศูนย์บริการวิชาการเรือสำราญและการโรงแรม (โรงเรียนสอนการอาชีพเรือสำราญและการโรงแรม), หจ. บียอนด์ มิลค์ (Beyond Milk) และหจ. โปรโจ (A CUP Coffee)"
                 "ธุรกิจดังกล่าวสามารถใช้เครื่องหมาย DBD Franchise Standard ซึ่งมีอายุ 2 ปีนับจากวันที่ได้รับการรับรอง เพื่อประชาสัมพันธ์ธุรกิจสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภคและนักลงทุน และยังได้สิทธิประโยชน์ในการเข้าร่วมออกบูธงานแฟร์ธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียงในประเทศด้วย มากไปกว่านั้นกรมฯ จะเชิญเป็นพี่เลี้ยงมาร่วมสร้างอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้มีอาชีพเป็นของตัวเอง ทำให้เกิดการสร้างงาน กระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและเศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็ง"
                  Franchise Standard Awards เป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ผู้ประกอบธุรกิจที่สมัครเข้าร่วมโครงการจะต้องผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้ารับการอบรมให้ความรู้ การวิเคราะห์ศักยภาพในการบริการจัดการธุรกิจด้วยการประเมินตนเอง และผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่จริง ณ สถานประกอบการ จนได้แผนการพัฒนาธุรกิจและกระบวนการการทำงานด้านต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของแต่ละธุรกิจ ควบคู่กับการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญด้าน แฟรนไชส์ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ธุรกิจสามารถเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานฯ ได้ รวมไปถึงมีชั่วโมงการแลกเปลี่ยน แบ่งปันความรู้ การถ่ายทอดประสบการณ์กันระหว่างธุรกิจประเภทต่างๆ และการศึกษาดูงานจากธุรกิจแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จเพื่อให้รับทราบถึงมิติการบริหารจัดการธุรกิจในหลากหลายประเภทมากขึ้น จนในท้ายที่สุดธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ จะสามารถจัดทำคู่มือและแนวทางการพัฒนาธุรกิจที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้ระยะเวลาในการฝึกฝนพัฒนาตั้งแต่เดือนมีนาคม-กันยายน 2561
                   "กิจกรรมในวันนี้นอกจากจะมีพิธีมอบหนังสือรับรองฯ แล้ว ยังมีการสัมมนาใน 2 หัวข้อคือ หัวข้อแฟรนไชส์ ที่ดีต้องมีเครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายการค้าสำคัญอย่างไรกับธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นการเน้นย้ำและสร้างความรู้ให้ผู้ประกอบธุรกิจเห็นความสำคัญของเครื่องหมายการค้า โดยธุรกิจแฟรนไชส์ที่ดีและมีมาตรฐานจำเป็นต้องมีเครื่องหมายการค้าในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและกลุ่มบุคคลที่ได้รับสิทธิในการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ (Franchisee) และพร้อมที่จะขยายตลาดไปสู่สากล ตลอดจนเป็นการป้องกันการโต้แย้งสิทธิหรือการกระทำละเมิดเครื่องหมายการค้าจากแฟรนไชส์ซีด้วย" อธิบดี กล่าวในท้ายที่สุด
                   ปัจจุบันมีธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพฯแล้ว โดยยังดำเนินกิจการในรูปแบบแฟรนไชส์ รวม จำนวน 274 ราย แบ่งเป็นกรุงเทพมหานครจำนวน 138 ราย และต่างจังหวัดจำนวน 136 ราย และมีธุรกิจ แฟรนไชส์ที่สามารถขยายไปยังตลาดต่างประเทศได้ถึง 34 ราย ใน 32 ประเทศ
 
********************************
ที่มา : กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า                                           ฉบับที่ 170 / 10 กันยายน 2561