กรมพัฒน์ฯ เร่งพัฒนาผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยให้ได้มาตรฐานสากล ISO 9001

กรมพัฒน์ฯ เร่งพัฒนาผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยให้ได้มาตรฐานสากล ISO 9001
รับมือผู้ให้บริการโลจิสติกส์ต่างชาติรุกคืบขยายธุรกิจเข้าสู่ประเทศไทย
ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและได้มาตรฐานจึงจะอยู่รอด
 
                 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยให้ได้มาตรฐานทัดเทียมสากล เน้นมุ่งสู่มาตรฐาน ISO 9001 รับมือผู้ให้บริการโลจิสติกส์ต่างชาติรุกคืบขยายธุรกิจสู่ประเทศไทย พร้อมมอบรางวัล DBD - Logistics Management Award ประจำปี 2561 จำนวน 119 ราย มั่นใจผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและได้มาตรฐานจะอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
                   นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ขณะนี้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ต่างชาติรุกคืบเข้ามาประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศไทยมากขึ้น ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยจึงต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงนี้ ซึ่งหากผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยไม่พัฒนาศักยภาพมาตรฐานการให้บริการให้ทัดเทียมระดับสากล อาจสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันในที่สุด ดังนั้น ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและได้มาตรฐานจึงจะอยู่รอด" 
                   "กรมฯ ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้มาโดยตลอด จึงได้กำหนดนโยบายการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งผลักดันและส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ของไทยดำเนินการพัฒนาธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพ มีมาตรฐานทัดเทียมสากล ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด ตลอดจนมีระบบการบริหารจัดการภายในที่มีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าเสรีอย่างยั่งยืน จึงได้จัดทำโครงการเพิ่มศักยภาพธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ไทยขึ้น เพื่อพัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ของไทยเข้าสู่มาตรฐานสากล ISO 9001 โดยในปีนี้ (ปี 2561) มีธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ของไทยผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 9001 จำนวน 119 ราย โดยกรมฯ ได้จัดพิธีมอบโล่ฯ ให้แก่ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 9001 ในวันนี้ วันอังคารที่ 4 กันยายน 2561 ณ ห้องริชมอนด์ บอลรูม 1 ชั้น 4 โรงแรมริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จ.นนทบุรี"
                     อธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์เป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ เนื่องจากการให้บริการโลจิสติกส์เป็นกระบวนการที่สำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ครอบคลุมการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ การเก็บสินค้า การบริการให้กับธุรกิจการค้า การผลิต การส่งออก และการบริการทุกประเภท ดังนั้น ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์จึงต้องพัฒนาธุรกิจให้มีประสิทธิภาพด้านต่างๆ เช่น การบริหารจัดการ การค้า การลงทุน การตลาด เทคโนโลยี บุคลากร กฎระเบียบ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ อันจะส่งผลให้ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์สามารถพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และสามารถแข่งขันทางการค้ากับประเทศที่มีศักยภาพสูงกว่า"
                   "ทั้งนี้ การยกระดับธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์สู่มาตรฐานสากล ISO เป็นแนวทางขั้นที่ 2 ของนโยบายการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์อย่างครบวงจรที่กรมฯ ได้จัดทำขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 1) การสร้างองค์ความรู้และเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจ 2) การยกระดับธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจและมาตรฐานสากล และ 3) การสร้างโอกาสทางการตลาดและเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ ซึ่งกรมฯ จะเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ของประเทศไทยมีความมั่นคงและยั่งยืน" อธิบดีกล่าวทิ้งท้าย
                    "ปัจจุบัน (กันยายน 2561) กรมฯ ได้ดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ไทยสู่มาตรฐานสากล ISO 9001 (มาตรฐานของระบบบริหารงานคุณภาพ) โดยมีธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ของไทยผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 9001 แล้วจำนวนทั้งสิ้น 530 ราย แบ่งเป็น 1) ขนส่งสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่ง 357 ราย (คิดเป็นร้อยละ 67.0) 2) บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 74 ราย (คิดเป็นร้อยละ 14.0) 3) ตัวแทนออกของรับอนุญาต 53 ราย (คิดเป็นร้อยละ 10.0) 4) บริการโลจิสติกส์ครบวงจรและอื่นๆ 17 ราย (คิดเป็นร้อยละ 3.0) และ 5) คลังสินค้า 29 ราย (คิดเป็นร้อยละ 6.0)"
                     "ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ ประกอบด้วย ธุรกิจให้บริการขนส่งและขนถ่ายสินค้า ธุรกิจบริการคลังสินค้า ธุรกิจตัวแทนออกของผ่านพิธีการทางศุลกากร และธุรกิจรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2561) มีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ จำนวน 24,091 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2560 (22,695 ราย) จำนวน 1,396 ราย หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 6.15 และมีทุนจดทะเบียนรวม 335,795.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 (335,680.27 ล้านบาท) จำนวน 115.44 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 0.034"
 
                                            ********************************************
ที่มา : กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ                                                                    ฉบับที่ 165 / วันที่ 4 กันยายน 2561