พาณิชย์ จับมือหน่วยงานพันธมิตรให้ความรู้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน เครื่องมือทางการเงิน TFRS9

พาณิชย์' จับมือหน่วยงานพันธมิตรให้ความรู้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน - เครื่องมือทางการเงิน TFRS9 เ
ตรียมความพร้อมภาคธุรกิจเต็มที่ ก่อนมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2563
 
                 กระทรวงพาณิชย์ จับมือหน่วยงานพันธมิตรเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจมาตรฐานการรายงานทางการเงิน - กลุ่มเครื่องมือทางการเงิน TFRS9 เตรียมความพร้อมภาคธุรกิจเต็มที่ ก่อนมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2563 หวังสร้างมาตรฐานการบัญชีของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีสากลและสร้าง ความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจไทยทั้งระบบ
                  นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกำกับและดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (คณะกรรมการ กกบ.) เปิดเผยว่า "กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ฯลฯ เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจในมาตรฐานการรายงานทางการเงิน - กลุ่มเครื่องมือทางการเงิน TFRS 9 เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ภาคธุรกิจในการปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินดังกล่าว โดยคณะกรรมการ กกบ. มีมติให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 แต่หากภาคธุรกิจใดมีความพร้อมก็สามารถนำมาตรฐานการการรายงานทางการเงินดังกล่าวมาใช้ก่อนได้ (Early Adoption) ตั้งแต่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป"
                 "โดยเมื่อเร็วๆ นี้ กรมฯ ได้จัดสัมมนา "ทำความรู้จักเครื่องมือทางการเงิน : (ร่าง) TFRS 9" ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ภาคธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสียกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินดังกล่าว โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาฯ กว่า 1,600 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย สมาคมลิสซิ่งไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชี ผู้ทำบัญชี และผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เป็นต้น"
                  อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า "การสัมมนาแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงเช้าเป็นการเสวนา : กว่าจะมาเป็น (ร่าง) TFRS 9
ที่แสดงถึงความร่วมมือของหน่วยงานกำกับดูแลที่ร่วมกันผลักดันให้การจัดทำงบการเงินของกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (PAEs) ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และโค้งสุดท้ายสำหรับกิจการที่ต้องนำมาตรฐานฯนี้ไปใช้ต้องเตรียมการใดเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ดำเนินการเสวนาโดย ดร.ศุภมิตร เตชะมนตรีกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านบัญชีในคณะกรรมการ กกบ. พร้อมด้วยคุณสมบูรณ์ ศุภศิริภิญโญ ผู้แทนจากคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี สภาวิชาชีพบัญชีฯ คุณวิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย และ คุณนิดาพร อัศวธีระเกียรติ์ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)"
                  "ช่วงบ่ายเป็นการบรรยายถึงคำนิยามสินทรัพย์ทางการเงิน หนี้สินทางการเงิน ตลอดจนให้เข้าใจถึงหลักการการบัญชีที่เกี่ยวข้องทั้งการจัดประเภท วัดมูลค่า ประมาณการการด้อยค่าเครื่องมือทางการเงิน และหลักการบัญชีป้องกันความเสี่ยง บรรยายโดย คุณสมบูรณ์ ศุภศิริภิญโญ คุณอรวรรณ โชติวิริยะกุล และคุณกษิติ เกตุสุริยงค์ ผู้แทนจากคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี สภาวิชาชีพบัญชีฯ"
                   "นอกจากนี้ กรมฯ และหน่วยงานพันธมิตร เตรียมเดินสายให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินดังกล่าว แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียทั่วประเทศ หวังให้เกิดความเข้าใจและพร้อมนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้องทันตามกำหนดเวลาที่ คณะกรรมการ กกบ. ได้กำหนดไว้ โดยจะเริ่มที่จังหวัดชลบุรี ในวันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 และจังหวัดเชียงใหม่ ในวันศุกร์ที่ 14 กันยายน 2561 พร้อมกันนี้ กรมฯ ได้จัดทำวิดีโอสำหรับเผยแพร่ให้แก่ผู้สนใจที่
ไม่สามารถเข้าร่วมงานสัมมนาในวันดังกล่าว โดยจะเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซด์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th ภายในกันยายน 2561 นี้"
                   "ทั้งนี้ TFRS 9 เป็นมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่บังคับใช้กับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะเท่านั้น อาทิเช่น บริษัทมหาชนจำกัด บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สถาบันการเงิน บริษัทประกันภัย บริษัทประกันชีวิต บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม ตลอดจนบริษัทที่กำลังจะขอจดทะเบียนออกตราสารในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนบริษัททั่วไป หรือธุรกิจ SMEs ไม่ต้องใช้มาตรฐานบัญชีกลุ่มนี้"
                "มาตรฐานการรายงานทางการเงินสากลอย่างเต็มรูปแบบนั้นเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ หรือ IFRS : International Financial Reporting Standards ที่ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการรายงานทางการเงินและส่งเสริมให้รายงานทางการเงินของประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือในสายตาของนักลงทุนมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่น่าเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตไปข้างหน้าอย่างมั่นคง รองรับการเปิดการค้าเสรีของโลกที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน" อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
 
*****************************************************
ที่มา : กองกำกับบัญชีธุรกิจ                                                                                ฉบับที่ 164 / วันที่ 4 กันยายน 2563