กรมพัฒน์ฯ ชู 'ธุรกิจผ้าไหมไทย' ลุยให้ความรู้ ขยายตลาด เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวใหม่
กรมพัฒน์ฯ ชู 'ธุรกิจผ้าไหมไทย' ลุยให้ความรู้ ขยายตลาด เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวใหม่
เติมเม็ดเงินให้ธุรกิจฐานราก นำร่องภาคอีสานแหล่งทอผ้าไหมแห่งใหญ่
กระตุ้นอัตลักษณ์ความเป็นไทย ให้ต่างชาติต้องตะลึง
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สร้างโอกาสใหม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจผ้าไหมไทยยืนหยัดได้ด้วยความรู้คู่ภูมิปัญญาตอบโจทย์รัฐบาลเร่งกระจายมูลค่าเศรษฐกิจลงฐานราก นำร่องแห่งแรกที่ภาคอีสาน แหล่งผลิตผ้าทอ ผ้าไหมขนาดใหญ่ของประเทศ ใช้แผน 3 ระยะ เริ่มแรกส่งทีมเข้าไปช่วยลับความรู้เทคนิคพิชิตตลาดให้แหลมคม ต่อด้วยพาลุยตลาดมหกรรมจำหน่ายสินค้า สร้างรายได้ และเรียนรู้ใจผู้บริโภคเพื่อพัฒนาสินค้าให้ตรงจุด และปิดท้ายด้วยการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวเชิงเอกลักษณ์ใน 6 จังหวัดภาคอีสานภายใต้ชื่อ เส้นทางสายไหม ใยฝ้าย พร้อมเชิญผู้เชี่ยวชาญหลายด้านลงพื้นที่วิเคราะห์แบบเจาะลึกถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จของธุรกิจ ผ้าไหมไทยแบบยั่งยืน
นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ดำเนินกิจกรรมยกระดับการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานราก แบบเจาะลึกในแต่ละพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่นให้กลายมาเป็นธุรกิจที่สืบทอดต่อกันได้อย่างยั่งยืน นำไปสู่ การสร้างความเจริญเติบโตในแต่ละจังหวัด ประกอบกับช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีงานทำ ยกระดับรายได้ให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยจะเริ่มต้นนำร่องพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจผ้าไหมไทยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) เป็นลำดับแรก ก่อนขยายไปสู่ภาคอื่น ๆ ต่อไป
อธิบดี กล่าวต่อว่า "กิจกรรมยกระดับฯ ในครั้งนี้แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 กิจกรรมบ่มเพาะเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างองค์ความรู้และเทคนิคการขยายโอกาสทางการตลาดยุค 4.0 กำหนดจัดกิจกรรมในวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 ณ โรงแรมอวานีขอนแก่นโฮเทล จังหวัดขอนแก่น เป็นการปูทางความรู้ให้กับผู้ประกอบธุรกิจผ้าไหมไทยได้เข้าใจถึงแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้โดนใจผู้บริโภคในยุคปัจจุบันควบคู่ไปกับการผสมผสานภูมิปัญญาของท้องถิ่น และใช้ช่องทาง Social Marketing มาช่วยในการจำหน่ายสินค้าให้ไปถึงผู้บริโภคได้โดยตรง ระยะที่ 2 สร้างโอกาสทางการตลาด โดยจะคัดเลือกผู้ประกอบธุรกิจผ้าไหมที่ผ่านการอบรมข้างต้น และมีผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพพร้อมจะเข้าสู่ตลาด รวมทั้งการเจรจาจับคู่ธุรกิจ ซึ่งกรมฯ จะคัดเลือกผู้ประกอบธุรกิจฯ จำนวนไม่น้อยกว่า 70 ราย จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ร่วมกับงานมหกรรมจำหน่ายสินค้า "MOC Biz Club Expo 2018" กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-29 กรกฎาคม 2561 ณ Impact เมืองทองธานี กิจกรรมนี้ช่วยให้ธุรกิจสามารถนำผลิตภัณฑ์ของตนเองมาจำหน่ายสร้างรายได้ และยังช่วยตอกย้ำการนำความรู้ที่ได้จากการบ่มเพาะมาปรับใช้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองภายหลังจากมีโอกาสพบผู้บริโภคตัวจริงและเรียนรู้ถึงความต้องการของผู้บริโภคที่แท้จริง "
และระยะที่ 3 การสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจผ้าไหมด้วยการสร้างเส้นทางท่องเที่ยวภายใต้ชื่อ "เส้นทางสายไหม ใยฝ้าย" กำหนดจัดช่วงเดือนสิงหาคม 2561 โดยกรมฯ จะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าทอ ผู้ประกอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไทย (Trader/Buyer) นิตยสารแฟชั่น นิตยสารท่องเที่ยว และสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชม แหล่งผลิตผ้าไหมไทยในพื้นที่ภาคอีสานจำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา และชัยภูมิ เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภค รวมถึงเครือข่ายที่จะช่วยเป็นกระบอกเสียง สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ถึงเอกลักษณ์ของผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างผ่านช่องทางการตลาดแบบออฟไลน์และออนไลน์ ก่อให้เกิดการสร้างรายได้ลงสู่ท้องถิ่น ซึ่งกลไกของเศรษฐกิจฐานรากก็จะถูกขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาจากเดิมเป็นเพียงผู้ผลิตและผู้ขายสินค้าให้กลายเป็นธุรกิจที่เลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืน"
"สำหรับพื้นที่นำร่องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่กรมฯ ได้เลือกดำเนินการเป็นแห่งแรก ถือเป็นภูมิภาค ที่มีศักยภาพในการผลิตผ้าทอที่มีคุณภาพและเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมขนาดใหญ่ของประเทศไทย ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก และเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างความเข้มแข็งในการแข่งขันเชิงธุรกิจได้ ดังนั้นการสร้างโอกาสทางการตลาด และขยายช่องทางการจัดจำหน่ายในกิจกรรมนี้จะทำให้ผู้ผลิตฯ มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่การยกระดับให้เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการให้สามารถแข่งขันทั้งในและต่างประเทศได้ อธิบดี กล่าวในท้ายที่สุด
********************************
ที่มา : กองธุรกิจภูมิภาคและชุมชน ฉบับที่ 135 / วันที่ 12 กรกฎาคม 2561