สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระราชทานพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
พระราชทานพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ
ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2561 เวลา 09.00 น. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จลง ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เพื่อทรงรับพระราชทานพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และ ชุด ส.ก. รวมเป็นชุด 80 เล่ม ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลเป็นผู้อัญเชิญพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ จำนวน 1 ชุดจาก 10 ชุดปฐมฤกษ์ มาน้อมถวายแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สถาบันซึ่งได้สนับสนุนโครงการพระไตรปิฎกสากลมาตั้งแต่ พ.ศ. 2542 และในวันนี้ได้จัดพระราชทานแก่อีก 6 สถาบันที่เข้าร่วมพิธีด้วย อาทิ ราชบัณฑิตยสภา และ กระทรวงพาณิชย์
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กราบทูลรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มีส่วนสนับสนุนโครงการเสียงสัชฌายะในด้านการสร้างความเป็นมาตรฐานสากลให้ปรากฏในระดับนานาชาติ ได้แก่ การอัญเชิญพระไตรปิฎกสากล ไปจัดแสดงนิทรรศการ ณ คูหาภูมิปัญญาไทยสากล ในงานมหกรรมหนังสือแฟรงเฟิร์ต ณ ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อปี พ.ศ.2551 การจดนวัตกรรมพระไตรปิฎกเป็นสิทธิบัตรทรัพยสินทางปัญญา และลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 เป็นต้นมา และการพัฒนาเผยแผ่พระไตรปิฎกสากลโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ที่เน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการขับเคลื่อนประเทศ จึงนับเป็นสิ่งมงคลอันสูงสุดของประเทศที่จะเผยแผ่พระไตรปิฎกด้วยนวัตกรรมการออกเสียงในระบบดิจิทัลให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก สำหรับสิทธิบัตรการแบ่งพยางค์อัตโนมัติในระบบดิจิทัล สามารถกล่าวได้ว่า เป็นสิทธิบัตรพระไตรปิฎกฉบับแรกในโลกที่สร้างสรรค์โดยคนไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้น้อมถวายต้นแบบ "แท็บเล็ตสัชฌายะ" แด่เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ ด้วย
สัชฌายะ (Sajjhāya) แปลว่า การศึกษาและออกเสียงท่องจำ พระไตรปิฎกฉบับสัชฌายะ จึงเป็นฉบับที่เรียงพิมพ์ด้วยสัททสัญลักษณ์ (Phonetic Symbol) เพื่อมุ่งเน้นการออกเสียงที่แม่นตรงตามไวยากรณ์ ซึ่งสามารถอ้างอิงอักขรวิธีจากต้นฉบับ จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 ซึ่งเก็บรักษาไว้ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ตลอดมานานกว่า 1 ศตวรรษแล้ว ในการนี้สมเด็จพระสังฆราช ได้ทรงกล่าวถวายอนุโมทนาแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ผู้ทรงเป็นองค์ประธานการสร้างพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ และในการนี้ยังได้จัดพระราชทานถวายแก่วัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี วัดนาถกรณธรรม จังหวัดเชียงราย วชิราวุธวิทยาลัย และ มูลนิธิ 100 พระชันษา สมเด็จพระญาณสังวราณุสรณ์ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ในฐานะสถาบันที่ได้ให้การสนับสนุนโครงการฯ และจะร่วมเผยแผ่ต่อไปในอนาคต
**********************************************
ที่มา : กระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 114 / วันที่ 11 มิถุนายน 2561