พาณิชย์' ใช้ Local Franchise หรือแฟรนไชส์ท้องถิ่น สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อย
พาณิชย์' ใช้ Local Franchise หรือแฟรนไชส์ท้องถิ่น สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อย
กระทรวงพาณิชย์ ใช้แฟรนไชส์ท้องถิ่น หรือ Local Franchise สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อย พร้อมจูงมือธนาคารออมสิน และ ธกส. ให้สินเชื่ออัตราพิเศษ ตั้งเป้าสร้างอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อยมีอาชีพที่ยั่งยืน 20,000 ราย
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "กระทรวงพาณิชย์ใช้ Local Franchise หรือ แฟรนไชส์ท้องถิ่นในการสร้างอาชีพแก่ผู้มีรายได้น้อย โดยแฟรนไชส์ท้องถิ่นเป็นการนำแฟรนไชส์ที่มีอยู่แล้วทั่วประเทศมาพัฒนาเพื่อยกระดับให้มีมาตรฐานด้านการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ โดยเปิดโครงการไปแล้วเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา และได้คัดเลือกแฟรนไชส์จากทั่วประเทศจำนวน 95 ราย เข้าร่วมโครงการ โดยกระทรวงพาณิชย์จะส่งผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจแฟรนไชส์ลงพื้นที่เพื่อให้คำปรึกษาเชิงลึก ณ สถานประกอบการของธุรกิจ"
รมว.พณ. กล่าวเพิ่มเติมว่า "เมื่อพัฒนาจนมีมาตรฐานแล้วจะนำแฟรนไชส์เหล่านี้ รวมกับแฟรนไชส์รายเดิมที่กระทรวงพาณิชย์ให้การส่งเสริมพัฒนาอยู่ก่อนแล้ว เลือกรายที่มีเงินลงทุนไม่สูง (ไม่เกิน 5 หมื่นบาท) เป็นธุรกิจง่ายๆ เช่น ลูกชิ้นทอด หมูปิ้ง กาแฟโบราณ ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ รวมแล้วมีประมาณ 100 แบรนด์ โดยนำแฟรนไชส์ดังกล่าวไปออกงานแสดงสินค้าใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น เชียงราย บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด อุดรธานี สุรินทร์ ชัยภูมิ สกลนคร สงขลา ลำปาง นครศรีธรรมราช พิษณุโลก กำแพงเพชร พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี กาญจนบุรี และราชบุรี ซึ่งจังหวัดทั้งหมดนี้เป็นจังหวัดที่อยู่ในกลุ่มการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง และจังหวัดที่มีประชากรผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนมาก โดยจะเริ่มดำเนินการจังหวัดแรกประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2561 และจะมีธนาคารออมสิน และ ธกส. ร่วมสนับสนุนสินเชื่อพิเศษสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยธนาคารออมสิน จะเริ่มให้สินเชื่อ 0% ในปีแรก เริ่มให้สินเชื่อเมื่อในวันที่ 14 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา และ ธกส. อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อให้สินเชื่อ 0% สำหรับ 6 เดือนแรก คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2561"
"ขณะนี้มีผู้ว่างงานและผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนพอสมควรที่ติดต่อธุรกิจแฟรนไชส์เพื่อสร้างอาชีพ ซึ่งอยู่ระหว่างการขออนุมัติสินเชื่อเงินลงทุนจากธนาคาร โดยกระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการติดตามการดำเนินโครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพว่าสามารถสร้างอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยได้มากน้อยเพียงใด โดยจะติดตาม 2 ช่องทาง คือ 1) ติดตามจากสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อ (ธนาคารออมสิน และ ธกส.) 2) ติดตามจากธุรกิจ แฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซอร์ที่ร่วมโครงการ) เนื่องจากผู้มีรายได้น้อยบางรายมีศักยภาพในการลงทุนด้วยตัวเอง ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายที่จะสร้างอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อยมีอาชีพสร้างรายได้อย่างยั่งยืนจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 ราย" รมว.กล่าวทิ้งท้าย
**********************************
ที่มา : กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฉบับที่ 77 / วันที่ 9 เมษายน 2561