กรมพัฒน์ฯ นัดองค์กรชั้นนำหารือแนวทางเชื่อมโยงธุรกิจบริการ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจฐานราก
กรมพัฒน์ฯ นัดองค์กรชั้นนำหารือแนวทางเชื่อมโยงธุรกิจบริการ
เพื่อผลักดันเศรษฐกิจฐานราก
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เชิญหน่วยงานและธุรกิจ Startup แถวหน้าของไทย ร่วมหารือแนวทางความร่วมมือในการเชื่อมโยงธุรกิจบริการเพื่อผลักดันเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโต หวังดึงรายได้ เข้าประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ชุมชนอยู่ดี กินดี มีความมั่นคงในชีวิต
นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ธุรกิจบริการมีความสำคัญต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศในเชิงมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งในเรื่องสัดส่วนของ GDP จำนวนธุรกิจ และ การจ้างงาน โดยมีข้อมูลอ้างอิงจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เมื่อปี 2559 พบว่า ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) มาจากภาคบริการกว่า 8.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 58.6 ของ GDP ประเทศ มีธุรกิจบริการมากกว่า 2.4 ล้านราย หรือร้อยละ 81 ของจำนวนธุรกิจทั้งหมดในประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 10 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 73 ของการจ้างงานทั้งประเทศ นอกจากนี้ ธุรกิจบริการยังมีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว และธุรกิจอื่นๆ ได้อีกหลากหลายรูปแบบ
"กระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาธุรกิจบริการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนและการให้บริการของอาเซียน โดยจะเพิ่มการสร้างรายได้จากภาคบริการให้มากขึ้น และกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนทั่วประเทศเพื่อให้ประชาชนคนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดี มีความมั่นคงในชีวิต โดยจะนำเอาเทคโนโลยีนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์มาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ 6 กลุ่มธุรกิจบริการเป้าหมาย ประกอบด้วย
1) ธุรกิจบริการเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและความงาม (Wellness & Beauty Service) เช่น ธุรกิจสปา นวดเพื่อสุขภาพ ดูแลผู้สูงอายุ และเสริมสวย
2) ธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับการรับรอง/ ต้อนรับ (Hospitality Service) เช่น ร้านอาหาร ที่พัก
3) ธุรกิจบริการสร้างสรรค์ (Creative Service) เช่น ธุรกิจด้านบันเทิง ดิจิทัลคอนเทนต์
4) ธุรกิจบริการบริการก่อสร้าง (Construction Service)
5) ธุรกิจบริการจัดจำหน่าย (Distribution Service) เช่น ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก แฟรนไชส์
6) ธุรกิจบริการโลจิสติกส์ (Logistics Service) ที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจ บริการโลจิสติกส์ ธุรกิจสุขภาพและความงาม และธุรกิจร้านอาหาร โดยมุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งและยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการให้มีคุณภาพ ซึ่งมีธุรกิจที่สามารถขยายการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศแล้ว เช่น ธุรกิจแฟรนไชส์ สปา นวดเพื่อสุขภาพ และธุรกิจบริการโลจิสติกส์ ส่วนธุรกิจอื่นๆ ยังสามารถแข่งขันและเจริญเติบโตอยู่เฉพาะภายในประเทศ แต่ปัจจุบันการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจบริการจะดำเนินการในรูปแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไป จำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมฯ จึงมีแผนในการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจบริการให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยจะเชื่อมโยงธุรกิจบริการกับการท่องเที่ยวไปยังชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากผ่านโครงการ Local Thai SELECT และโครงการพัฒนาธุรกิจการค้าชุมชนโดยตั้งเป้าให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างเข้มแข็งทั้งภายในประเทศ และสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศในอนาคต" เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจบริการ ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะ Mr.Service และเป็นเจ้าภาพหลักในการพัฒนาส่งเสริมและผลักดันด้านการตลาดของธุรกิจบริการ จึงนัดประชุมหารือกับ 18 หน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้อง ในการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจบริการ เพื่อร่วมกันหาแนวทางความร่วมมือในการขับเคลื่อนธุรกิจบริการให้มีประสิทธิภาพ และลดการทำงานซ้ำซ้อน โดยการประชุมในครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะ แนวทาง และมุมมองของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรเอกชน รวมทั้งธุรกิจ Startup ที่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่มีมุมมองและข้อเสนอแนะที่ทันสมัยแปลกใหม่ ซึ่งผลจากการประชุมกระทรวงพาณิชย์จะตั้งเป้า GDP ภาคธุรกิจบริการ เพิ่มขึ้น 6% ในระยะเวลา 5 ปี และมีข้อคิดจากที่ประชุมว่า ภาคธุรกิจบริการของไทยนั้นมีกลุ่มธุรกิจ ที่หลากหลาย และต้องการการส่งเสริมสนับสนุนที่แตกต่างกัน ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่ดำเนินการอยู่ จึงต้อง ต่อยอดเชื่อมโยงให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้อย่างแท้จริง โดยต้องเร่งส่งเสริมเรื่อง การพัฒนาผู้ประกอบการ การยกระดับมาตรฐาน การใช้เทคโนโลยี และการหาแหล่งเงินทุน ภาครัฐควรสร้าง Framework หรือกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจและมีส่วนร่วมในการดำเนินการ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมพัฒนา 3 ด้านหลัก ได้แก่ การส่งเสริมทักษะแรงงาน การส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจ ด้านตลาด การสร้างแบรนด์ สร้างมาตรฐานธุรกิจ และการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งเพิ่มการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ในระดับประเทศให้มากขึ้น ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะนำไปปรับปรุงการดำเนินงานให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และจะนัดประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานกันในโอกาสต่อไป
***************************************
ที่มา : กองธุรกิจบริการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฉบับที่ 55 / 27 กุมภาพันธ์ 2561
รายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม 18 หน่วยงาน
1. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
2. สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
3. สำนักส่งเสริมธุรกิจสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
4. กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
5. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
6. สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ
7. กรมการท่องเที่ยว
8. หอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
9. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
10. วิทยาลัยดุสิตธานี
11. สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย
12. บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)
13. สมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการสูงอายุไทย
14. สมาคมผู้ประกอบการสปาไทย
15. สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่
16. บริษัท ลิฟวิ่ง โมบาย จำกัด
17. บริษัท AIRPORTELs จำกัด
18. บริษัท JENOSIZE จำกัด