กรมพัฒน์ จัดงาน "Social Gift Fair ส่งต่อความสุขเพื่อสังคม"

กรมพัฒน์ จัดงาน "Social Gift Fair ส่งต่อความสุขเพื่อสังคม"
นัดธุรกิจ Social Enterprise กว่า 40 ราย มาเจอกันจำหน่ายสินค้าคุณภาพ
เจรจาสร้างเครือข่าย พร้อมแนะนำให้เข้าสู่ระบบธุรกิจโดยผู้เชี่ยวชาญ
 
                    กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดกิจกรรม Social Gift Fair ส่งต่อความสุขเพื่อสังคม ระหว่างวันที่ 24-26 ม.ค.61 เชิญธุรกิจ Social Enterprise กว่า 40 ราย มานำเสนอสินค้า เจรจาธุรกิจ และรับคำปรึกษาจากองค์กรผู้เชี่ยวชาญ งานนี้จะช่วยให้ธุรกิจ SE เข้าระบบนิติบุคคลเพื่อเติบโตในธุรกิจได้อย่างมั่งคง ได้รับความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค ส่งผลดีต่อการจ้างงานในชุมชน และเศรษฐกิจฐานรากต่อไป
                    นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยสั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินการพัฒนาธุรกิจในกลุ่มดังกล่าวให้มีความเข้มแข็ง โดยในวันนี้ (24 มกราคม 2561) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้จัดงาน "Social Gift Fair ส่งต่อความสุขเพื่อสังคม" กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 24-26 มกราคม 2561 ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 3 กระทรวงพาณิชย์ เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพและยกระดับการตลาดผลิตภัณฑ์ฐานราก OTOP ไทย ปีงบประมาณ 2561 กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้ธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคมเข้าสู่ระบบการจดทะเบียนธุรกิจเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรก่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคนำไปสู่การกระตุ้นการซื้อ-ขายผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม SE มากขึ้น ตลอดจนการเข้าร่วมงานของธุรกิจในครั้งนี้จะช่วยสร้างเครือข่ายการผลิตสินค้าและบริการเกิดโอกาสการขยายตัวของธุรกิจด้วย
                   อธิบดี กล่าวต่อว่า"กิจกรรมในงาน Social Gift Fair ส่งต่อความสุขเพื่อสังคม ประกอบไปด้วย 4 โซนหลัก ได้แก่ โซนที่ 1 กิจกรรมนำเสนอสินค้า/บริการและการจำหน่ายสินค้า จำนวน 40 ราย เป็นการแสดงผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมใน 5 ด้าน คือ 1) อาหารและสุขภาพ 2) การศึกษา 3) พลังงานและสิ่งแวดล้อม 4) พัฒนาชุมชนและสังคม และ 5) เด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส โซนที่ 2 การเจรจาทางธุรกิจ (Business Matching) โซนที่ 3 การให้คำปรึกษาการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมและสร้างเครือข่าย โดยองค์กรที่มีส่วนร่วมเพื่อสังคมจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความเข้มแข็ง อาทิ Ma D Club, Nise, CroP และ Tsis และโซนที่ 4 กิจกรรมสอยดาวส่งต่อความสุข และโปรโมชั่นสินค้าดีๆ มากมาย"
                   "ที่ผ่านมากรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินการศึกษาแนวทางการสร้างระบบนิเวศน์ของการเกิดและพัฒนาธุรกิจในลักษณะนี้เพื่อจัดทำแผนการพัฒนาให้ต่อเนื่อง สนับสนุนการทำธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล และส่งเสริมพัฒนาด้วยการอบรมให้ความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ ปัจจุบันมีธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) จำนวน 101 ราย ประกอบกับกรมฯ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาธุรกิจฯ ให้มีผลกำไรเพิ่มขึ้นเพื่อนำกลับคืนสู่ชุมชน ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามมา" อธิบดี กล่าวในท้ายที่สุด
                   ธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นธุรกิจที่กำลังเข้ามามีบทบาทต่อการทำธุรกิจในประเทศไทยและของโลก โดยเป็นการค้าเพื่อสร้างสรรค์ผลประโยชน์เชิงบวกต่อสังคมอันเป็นเป้าหมายหลักในการทำธุรกิจ ส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่น และพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของวิสาหกิจฯ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างตรงจุดและเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดี ธุรกิจรูปแบบนี้ไม่ได้มุ่งแสวงหากำไรอย่างสูงสุดเพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วน แต่นำผลกำไรไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ไปลงทุนในกิจการของตนเองหรือเพื่อใช้ในการพัฒนาสังคมสร้างประโยชน์ในส่วนรวมเป็นหลัก
 
********************************
ที่มา : กองธุรกิจภูมิภาคและชุมชน                                                                                      ฉบับที่ 41 / 24 มกราคม 2561