พาณิชย์' จัดงาน "วิสาหกิจเพื่อสังคมกับบทบาทที่เหนือกว่าการเป็นผู้ให้"
พาณิชย์' จัดงาน "วิสาหกิจเพื่อสังคมกับบทบาทที่เหนือกว่าการเป็นผู้ให้"
พร้อมส่งเสริมให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล ก่อนพัฒนาและขยายธุรกิจนำผลกำไรกลับคืนสู่ชุมชน
พาณิชย์' ผนึกกำลังหน่วยงานพันธมิตร จัดงาน "วิสาหกิจเพื่อสังคมกับบทบาทที่เหนือกว่าการเป็นผู้ให้" สะท้อนมุมมองบทบาทและความต้องการของวิสาหกิจเพื่อสังคมของไทยทั้งระบบ ใช้เป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาสังคมที่เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน พร้อมส่งเสริมให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล ก่อนพัฒนาและขยายธุรกิจนำผลกำไรกลับคืนสู่ชุมชน เชื่อ!! วิสาหกิจเพื่อสังคมส่งผลให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความแข็งแกร่งและยั่งยืนระยะยาว
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ในวันนี้ (วันพุธที่ 23 สิงหาคม 2560) กระทรวงพาณิชย์ได้ผนึกกำลังร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน จัดงาน "วิสาหกิจเพื่อสังคมกับบทบาทที่เหนือกว่าการเป็นผู้ให้" (A Social Enterprise beyond Social Giver) เพื่อผลักดันและพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจเพื่อสังคมในการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสะท้อนมุมมอง บทบาท และความต้องการของวิสาหกิจเพื่อสังคมของไทยทั้งระบบ"
"นโยบายสำคัญของรัฐบาลคือการมุ่งสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ ผ่านการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน (Strength from Within) ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) และสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกิจการที่เป็นประโยชน์แก่คนในชุมชน หรือ วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) เพื่อผลิตสินค้าหรือบริการ ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น โดยไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อสร้างผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่เป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาสังคมและพัฒนาชุมชนที่เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนในระยะสั้น เช่น การจ้างงานผู้พิการ หรือ ผู้ผ่านการต้องขัง เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความสุขของคนในชุมนให้มีมากขึ้น รวมทั้งช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้ลดน้อยลงด้วย"
"นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังส่งเสริมให้วิสาหกิจเพื่อสังคมดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลในรูปแบบของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพื่อให้เกิดการคล่องตัวในการบริหารงาน และง่ายต่อการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจ โดยมีเป้าหมายดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่ การสนับสนุนด้านการจดทะเบียนนิติบุคคล อำนวยความสะดวกแก่วิสาหกิจเพื่อสังคมและการให้ความรู้เกี่ยวกับหน้าที่ของการเป็นนิติบุคคล เนื่องจากนิติบุคคลเป็นคุณสมบัติที่แสดงถึงความมีตัวตนมีสถานะที่ได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐหรือเอกชน รวมทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกรมสรรพากร ซึ่งต้องมีวัตถุประสงค์ตามที่กรมสรรพากรกำหนดและต้องมีคำว่า "วิสาหกิจเพื่อสังคม" กำกับในชื่อนิติบุคคลด้วย รวมถึงการเชื่อมโยงให้ภาคเอกชน เช่น สมาชิกสมาคมการค้าเข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาให้แก่ประเทศชาติอย่างเป็นระบบ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กรเป็นที่ยอมรับทั้งตลาดภายในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น"
"ด้านการส่งเสริมและพัฒนา กระทรวงฯ ได้ดำเนินการสำรวจความต้องการของวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมจากสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) จำนวน 101 ราย พบว่าส่วนใหญ่ต้องการได้รับการสนับสนุนส่งเสริม 7 ประการ ประกอบด้วย 1) การผสานแนวคิดและความรู้ด้านนวัตกรรมทางสังคมในระบบการศึกษา 2) การฝึกอบรมและพัฒนาทักษะของผู้ประกอบการเพื่อสังคม เช่น ด้านการบริการจัดการ ด้านการตลาด ด้านการเงินและบัญชี เป็นต้น 3) ระบบการจดทะเบียนและกฎระเบียบของกิจการเพื่อสังคม 4) ระบบการสื่อสารส่งเสริมช่องทางการตลาด 5) ระบบการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการจากกิจการเพื่อสังคม 6) ระบบการลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคม และ 7) สนามการลงทุนเพื่อสังคม ส่วนการขยายช่องทางการตลาดและการกระจายสินค้าของวิสาหกิจเพื่อสังคมจะดำเนินการผ่านเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจและการจับคู่พันธมิตรทางธุรกิจ โดยสนับสนุนให้วิสาหกิจเพื่อสังคมเข้าร่วมออกบูธประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการในงานต่างๆ ที่กระทรวงพาณิชย์จัดขึ้น รวมทั้ง สนับสนุนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจอุดหนุนผลิตภัณฑ์และบริการของกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคมมากขึ้น"
"สำหรับการจัดงานขึ้นในวันนี้ สามารถแสดงได้ถึงตัวตนที่แท้จริงของวิสาหกิจเพื่อสังคมได้เป็นอย่างดีโดยกิจกรรมประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ การสัมมนา/เสวนาเชิงวิชาการ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ในการโอกาสการสร้างธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยวิทยากรชั้นนำ
ด้านการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม อาทิ นายมีชัย วีระไวทยะ ประธานมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ ผู้แทนกรมสรรพากร ผู้บริหารสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้บริหารบริษัทบางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท สยามออร์แกนิค จำกัด (ข้าวเจสเบอรี่)"
ด้านการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม อาทิ นายมีชัย วีระไวทยะ ประธานมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ ผู้แทนกรมสรรพากร ผู้บริหารสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้บริหารบริษัทบางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท สยามออร์แกนิค จำกัด (ข้าวเจสเบอรี่)"
"การนำเสนอวิสาหกิจเพื่อสังคมที่สามารถเป็นต้นแบบที่ดี โดยแบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่ - ด้านที่ 1 อาหาร สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม - ด้านที่ 2 การศึกษา - ด้านที่ 3 พลังงาน - ด้านที่ 4 การพัฒนาชุมชนและสังคม และ - ด้านที่ 5 เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส และ การให้คำปรึกษาแนะนำการประกอบธุรกิจเพื่อสังคม โดย 3 หน่วยงานของกระทรวงฯ คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ 2 หน่วยงานพันธมิตร คือ กรมสรรพากร และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย"
รมช.พณ. กล่าวทิ้งท้ายว่า "กระทรวงพาณิชย์มีเป้าหมายที่จะพัฒนากิจการที่มีศักยภาพที่สามารถพัฒนาให้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ ร้อยละ 50 จากจำนวนทั้งสิ้น 361 ราย (ข้อมูลจาก สกส.) เพื่อให้กิจการที่กำลังจะก้าวสู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมมีผลกำไรเพิ่มขึ้น และต้องนำผลกำไรส่วนใหญ่กลับคืนสู่ชุมชน ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดการพึ่งพิงภาครัฐลง โดยรัฐยังคงได้การสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือ วิสาหกิจเพื่อสังคมจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความแข็งแกร่งและยั่งยืนระยะยาวต่อไป"
****************************************
ที่มา : กองส่งเสริมธุรกิจชุมชน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฉบับที่ 113 / วันที่ 23 สิงหาคม 2560