พาณิชย์' ผนึกกำลัง 12 หน่วยงานภาครัฐ เฝ้าระวังนิติบุคคลกลุ่มเสี่ยงกระทำความผิด

พาณิชย์' ผนึกกำลัง 12 หน่วยงานภาครัฐ เฝ้าระวังนิติบุคคลกลุ่มเสี่ยงกระทำความผิด
เบื้องต้นกำหนด 4 ธุรกิจเป้าหมายเฝ้าระวังเป็นพิเศษพร้อมตั้งทีมตรวจสอบเชิงลึก
ขายตรง/การตลาดแบบตรง ท่องเที่ยว อี-คอมเมิร์ซ และธุรกิจจำหน่ายอาหารเสริม ​
 
                     กระทรวงพาณิชย์ ผนึกกำลัง 12 หน่วยงานภาครัฐเฝ้าระวังนิติบุคคลกลุ่มเสี่ยงกระทำความผิดหลอกลวงประชาชน เบื้องต้นกำหนด 4 ธุรกิจเป้าหมาย เฝ้าระวังเป็นพิเศษพร้อมตั้งทีมเฉพาะกิจตรวจเข้มเชิงลึก ได้แก่ ธุรกิจขายตรง/การตลาดแบบตรง ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และธุรกิจจำหน่ายอาหารเสริม หลังพบข้อร้องเรียนธุรกิจดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น หวั่น!! กระทบประชาชนในวงกว้างและทำลายระบบเศรษฐกิจโดยรวม พร้อมเตรียมเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคล/บุคคลที่ต้องติดตามเฝ้าระวังเป็นพิเศษป้องกันการฉ้อโกง
                     ​นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางอภิรดี ตันตราภรณ์) แจ้งว่า นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) มีความเป็นกังวลและต้องการให้มีการตรวจสอบและติดตามนิติบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจในลักษณะสุ่มเสี่ยงไปในทางหลอกลวงประชาชน โดยเน้นการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาในทำนองเดียวกับ บริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด อีก และได้สั่งการพร้อมมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพหารือเกี่ยวกับการบูรณาการข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจ/การขออนุญาตประกอบธุรกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงานให้มีการเชื่อมโยงและสามารถตรวจสอบข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังและตัดวงจรมิจฉาชีพในคราบนักธุรกิจ นั้น"
                     ​"เมื่อวันนี้ (วันอังคารที่ 18 เมษายน 2560) กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้จัดประชุมเพื่อกำหนดมาตรการ แนวทาง และวิธีป้องปรามเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ จำนวน 12 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจสอบสวนกลาง กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กรมการปกครอง กรมสวบสวนคดีพิเศษ กรมบังคับคดี กรมการท่องเที่ยว และกรมที่ดิน เข้าร่วมการหารือ ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญของการหารือ ได้แก่ การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานะปัจจุบันของกระบวนการจดทะเบียน/อนุญาตการประกอบธุรกรรม แนวทางการบูรณาการข้อมูล ระบบการตรวจสอบและติดตามการดำเนินธุรกรรมของนิติบุคคล/บุคคล โดยเฉพาะการเฝ้าระวังการนำธุรกิจหาประโยชน์โดยมิชอบ"
                     ​"เบื้องต้น ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าควรกำหนดให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคล/บุคคลที่ต้องติดตามเฝ้าระวังเป็นพิเศษ (Watch List) โดยเน้นธุรกิจ 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ธุรกิจขายตรง/การตลาดแบบตรง ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และธุรกิจจำหน่ายอาหารเสริม เนื่องจากธุรกิจทั้ง 4 ประเภทพบข้อร้องเรียนจากประชาชนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเป็นการนำร่องในการเริ่มต้นบูรณาการการทำงานร่วมกันโดยดูจากข้อร้องเรียนของประชาชนเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมเฉพาะกิจขึ้นเพื่อตรวจสอบเชิงลึกธุรกิจดังกล่าวเพื่อเป็นการป้องกันการหลอกลวงประชาชนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต " ​
                   อธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า "การเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคล/บุคคลที่ต้องติดตามเฝ้าระวังเป็นพิเศษ (Watch List) ใน 4 ธุรกิจเป้าหมายที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมการท่องเที่ยว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการปกครอง มีฐานข้อมูลดังกล่าวอยู่แล้ว ทำให้สามารถเชื่อมโยงและใช้ข้อมูลร่วมกันได้ทันทีก่อนออกใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ ซึ่งจะสามารถลดความเสี่ยง/ป้องกันความเสียหายของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงสามารถใช้ตรวจสอบนิติบุคคลหรือบุคคลต้องสงสัยที่จะกระทำความผิดในธุรกิจอื่นๆ ได้อีกด้วย"
                  ​"รวมทั้ง ที่ประชุมยังเห็นควรให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรับรู้ว่าปัจจุบัน ประชาชนสามารถตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รวมทั้งการตรวจสอบรายชื่อธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการนำเที่ยวภายใต้พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ. ศ. ๒๕๕๑ จากกรมการท่องเที่ยว และรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ. ศ. ๒๕๔๕ จากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ การตรวจสอบข้อมูลล่วงหน้าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในระดับหนึ่งว่า ธุรกิจดังกล่าวมีตัวตนและได้รับการอนุญาตถูกต้อง"
                    นอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอให้พิจารณาจัดตั้งศูนย์เพื่อรับเรื่องร้องเรียนของประชาชนจากการถูกฉ้อโกงหรือหลอกลวง โดยก่อนส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเอาผิดกับผู้ที่กระทำความผิด และจะมีการวางระบบการตรวจสอบทั้งนิติบุคคล/บุคคลธรรมดาที่เข้าข่ายการหลอกลวง/ฉ้อโกงประชาชนอย่างเข้มงวดเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างแหล่งที่พึ่งให้แก่ประชาชนในกรณีที่เกิดเหตุขึ้น
                    กระทรวงพาณิชย์เตรียมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่วนอื่นๆ เช่น กรมสรรพากร สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ฯลฯ เข้ามาร่วมในการเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างครบวงจรมากยิ่งขึ้น เพื่อทำให้ธุรกิจโดยรวมของประเทศมีความน่าเชื่อถือและโปร่งใส รวมทั้งเป็นการอุดช่องโหว่-ปิดช่องว่าง มิให้บริษัทที่ได้จดทะเบียนนำธุรกิจมาหาประโยชน์โดยมิชอบหลอกลวงประชาชนได้อีกต่อไป" 
                     ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ขอเตือนให้ประชาชนที่จะดำเนินธุรกิจหรือใช้บริการจากธุรกิจประเภทต่างๆ โปรดตรวจสอบตัวตนที่แท้จริงของธุรกิจนั้นเสียก่อน เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่กรมการท่องเที่ยว (www.tourism.go.th โทร 0 2401 1111) หรือ ธุรกิจขายตรง/การตลาดแบบตรงตรวจสอบข้อมูลได้ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) (www.ocpb.go.th สายด่วน 1166) หรือ ธุรกิจจำหน่ายอาหารเสริมตรวจสอบข้อมูลได้ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) (www.fda.moph.go.th โทร 0 2590 7000) และข้อมูลนิติบุคคลทั่วไปตรวจสอบได้ที่แอพพลิเคชั่น DBD e-Service ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือ www.dbd.go.th สายด่วน 1570 เพื่อป้องกันการหลอกลวงของเหล่ามิจฉาชีพในคราบนักธุรกิจในเบื้องต้น
 
*************************************
ที่มา : กองทะเบียนธุรกิจ​​​​​                                                                                                         ฉบับที่ 54 / วันที่ 19 เมษายน 2560