พาณิชย์ เตรียมดึง บสย. เข้าเสริมทัพ "หลักประกันทางธุรกิจ" หวังให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีง่ายขึ้น
พาณิชย์ เตรียมดึง บสย. เข้าเสริมทัพ "หลักประกันทางธุรกิจ"
หวังให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีง่ายขึ้น
พร้อมยืนยันระบบจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจมีความสะดวก รวดเร็วแบบเรียลไทม์
พาณิชย์ เตรียมดึง บสย. เข้าเสริมทัพ "หลักประกันทางธุรกิจ" หวังให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีง่ายขึ้น หลังพบปัญหาการขาดความเข้าใจในการใช้สินทรัพย์บางประเภทมาค้ำประกัน เร่งหารือ 3 ฝ่าย พาณิชย์ คลัง สมาคมธนาคารไทย กำหนดมาตรการให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยตรง พร้อมยืนยันระบบจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจมีความสะดวก รวดเร็วแบบเรียลไทม์
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะเป็นหน่วยงานกำกับดูแลและบังคับใช้พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 เร่งดำเนินการหารือ 3 ฝ่าย ประกอบด้วย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และสมาคมธนาคารไทย เพื่อกำหนดมาตรการให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยตรง และมีการใช้หลักทรัพย์ชนิดใหม่ตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น"
"เบื้องต้น กระทรวงพาณิชย์ เห็นควรเชิญ "บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม" หรือ "บสย." เข้ามาช่วยเสริมทัพหลักประกันทางธุรกิจ โดย บสย. จะทำหน้าที่ช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ สร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินเอกชนไม่มีความพร้อมที่จะรับความเสี่ยงในการนำทรัพย์สินประเภทกิจการหรือทรัพย์สินทางปัญญามาใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์หวังว่า หลังจากที่ บสย. เข้ามาช่วยเสริมทัพแล้วจะทำให้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และจะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถผ่อนปรนการพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีง่ายขึ้นกรณีที่ใช้หลักทรัพย์ชนิดใหม่ค้ำประกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการหารือความเป็นไปได้ในรูปแบบของการค้ำประกัน"
"นอกจากนี้ ขอยืนยันว่าปัจจุบันกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีระบบการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจที่มีความสะดวก รวดเร็ว แบบเรียลไทม์ (Real Time) สามารถยื่นขอจดทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ และขณะนี้ได้พัฒนาระบบให้สามารถรับชำระเงินค่าธรรมเนียมผ่านระบบ e-payment ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกในการขอจดทะเบียนฯ มากยิ่งขึ้น อีกทั้งมีระบบตรวจเช็คข้อมูลสัญญาหลักประกันทางธุรกิจได้ทันที ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการและระบบเศรษฐกิจมากที่สุด และเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการด้านการให้บริการข้อมูลการจดทะเบียนฯ และข้อมูลการขึ้นทะเบียนผู้บังคับหลักประกัน โดยคาดว่าจะสามารถให้บริการได้อย่างสมบูรณ์ในเดือนพฤษภาคม 2560"
"คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งถึงจะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สถาบันการเงิน และผู้บังคับหลักประกัน มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมากขึ้น และพร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากกฎหมายฯ ฉบับดังกล่าว โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมมือกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เดินสายสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียทั่วประเทศ เพื่อให้รับรู้รับทราบถึงรายละเอียดให้ได้มากที่สุด"
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้องจะบูรณาการความร่วมมือและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เพื่อผลักดันให้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ช่วยให้เอสเอ็มอีซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยตรง และง่ายมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง และธุรกิจสามารถดำรงคงอยู่ได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน"
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา เป็นกฎหมายที่ช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพิ่มมากขึ้น โดยสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในการประกอบกิจการมาใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินและสามารถใช้ทรัพย์สินนั้นไปผลิตเป็นสินค้าหรือบริการเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้
จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560) มีธุรกิจเอสเอ็มอียื่นคำขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ รวม 118,887 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน 1,688,534 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องประเภทบัญชีเงินฝากธนาคารเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 57.61 (มูลค่า 972,776 ล้านบาท) รองลงมาคือ สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ เครื่องบิน คิดเป็นร้อยละ 21.66 (มูลค่า 365,741 ล้านบาท) และสิทธิเรียกร้องประเภทอื่นๆ เช่น ลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าซื้อ คิดเป็นร้อยละ 17.12 (มูลค่า 289,157 ล้านบาท)"
*****************************
ที่มา : กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฉบับที่ 25 / 27 กุมภาพันธ์ 2560