ตอกย้ำปีแห่งการลงทุน!! ปี 59 นักธุรกิจต่างชาติ 352 ราย ขนทัพมาลงทุน 7,443 ล้านบาท

ตอกย้ำปีแห่งการลงทุน!! ปี 59 นักธุรกิจต่างชาติ 352 ราย ขนทัพมาลงทุน 7,443 ล้านบาท
ได้องค์ความรู้ด้านนวัตกรรม ญี่ปุ่นแฟนพันธุ์แท้ลงทุนอันดับ 1 ชี้ยังเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย
 
                       พาณิชย์' เผยสถิตินักลงทุนต่างชาติ ปี '59 ยังทยอยตบเท้าเข้ามาทำธุรกิจในไทย 352 ราย มีเม็ดเงินลงทุน 7,443 ล้านบาท ญี่ปุ่นครองแชมป์อันดับ 1 นักลงทุนต่างชาติในไทย และ 'จ้างงานสร้างรายได้' ให้แก่คนไทยถึง 6,366 คน สำหรับปี 60 คาดจะมีนักธุรกิจสนใจลงทุนในธุรกิจบริการเกี่ยวกับด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
                      นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า "ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ในปี พ.ศ. 2559 (มกราคม-ธันวาคม 2559) อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 352 ราย ซึ่งมีอัตราลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อการลงทุนยังคงสืบเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ จึงส่งผลต่อจิตวิทยาในการลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติที่ยังคงรอความมั่นใจในสภาวะเศรษฐกิจโลกให้นิ่งและมั่นคงมากขึ้น
                     สำหรับ 'มูลค่าการลงทุน' ในธุรกิจของคนต่างด้าวในปี พ.ศ. 2559 มีจำนวน 7,443 ล้านบาท 'ประเทศที่ได้รับอนุญาต'ให้ประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น (ร้อยละ 40) สิงคโปร์ (ร้อยละ 14) และ จีน (ร้อยละ 7)
                    โดย 'ประเภทธุรกิจ' ที่คนต่างด้าวมาลงทุนมากที่สุด 5 ประเภทคือ 1) ธุรกิจบริการให้แก่บริษัท ในเครือ คิดเป็นร้อยละ 33 จำนวนเงินลงทุน 1,969 ล้านบาท (อาทิ บริการทางบัญชี/กฎหมาย ให้เช่าพื้นที่/สาธารณูปโภค และรับจ้างผลิต) 2) ธุรกิจบริการสำนักงานผู้แทน คิดเป็นร้อยละ 27 จำนวนเงินลงทุน 303 ล้านบาท (อาทิ หาแหล่งจัดซื้อสินค้า ให้คำแนะนำเผยแพร่ข้อมูลสินค้า และรายงานความเคลื่อนไหวทางธุรกิจ) 3) ธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง คิดเป็นร้อยละ 15 จำนวนเงินลงทุน 574 ล้านบาท (อาทิ ค้าปลีกอะไหล่และอุปกรณ์ของเครื่องจักร/แม่พิมพ์ ผลิตชิ้นส่วนพลาสติก ค้าส่งเม็ดพลาสติก/ไข่มุกเลี้ยง/ยาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และอาหารและอาหารเสริมสำหรับสัตว์) 4) ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาภาครัฐและเอกชน คิดเป็นร้อยละ 14 จำนวนเงินลงทุน 3,248 ล้านบาท (อาทิ ธุรกิจออกแบบ จัดหา ก่อสร้างแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม และติดตั้งทดสอบอุปกรณ์โทรคมนาคม) และ 5) ธุรกิจบริการแก่คู่ค้า/ลูกค้าอื่น คิดเป็นร้อยละ 11 จำนวนเงินลงทุน 1,349 ล้านบาท (อาทิ ธุรกิจซ่อมบำรุงรักษาสินค้า ออกแบบพัฒนาโปรแกรมควบคุมการทำงานเครื่องจักร และผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์)
                   นอกจากนี้ ธุรกิจต่างชาติยังได้ 'จ้างงานและสร้างรายได้' ให้แก่คนไทย 7,000 คนอีกด้วย ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมพัฒนาทักษะ สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ และเปิดรับนวัตกรรมที่ทันสมัยจากนักลงทุนต่างชาติภายใต้เงื่อนไขการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยปี 2559 แรงงานไทยได้รับการพัฒนาทักษะในด้านที่มีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ 4 ด้านคือ 1) ด้านยานยนต์ (การซ่อมบำรุง และเทคนิคเกี่ยวกับรถยนต์รุ่นใหม่ บุคลากรไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุปกรณ์และชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อออกสู่ตลาด) 2) ด้านพลังงาน (มาตรฐานการบรรจุผลิตภัณฑ์ Solar Cell) การรักษาความปลอดภัยในคลังเก็บน้ำมัน 3) ด้านการก่อสร้าง (การติดตั้งระบบกำจัดกากอุตสาหกรรม การก่อสร้างและฐานรากของเสาโครงเหล็กให้ได้มาตรฐาน) และ 4) ด้าน ICT การพัฒนาโปรแกรม Cloud ระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลลับที่เกี่ยวกับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
                    สุดท้ายนี้สำหรับแนวโน้มการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในปี พ.ศ. 2560 คาดการณ์ธุรกิจที่ต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น คือ ธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบาย Thailand 4.0 ที่เน้นเรื่องการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ในการประกอบธุรกิจ และรูปแบบการทำธุรกิจในปัจจุบันจะเป็นการทำธุรกิจผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
 
***************************************
ที่มา : กองบริหารการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ                                                                                          ฉบับที่ 3 / 3 มกราคม 2560