พาณิชย์' พร้อมลุย 'ค้าชายแดน' สร้างความพร้อมผู้ประกอบการเปิดประตูสู่ CLMMV

พาณิชย์' พร้อมลุย 'ค้าชายแดน' สร้างความพร้อมผู้ประกอบการเปิดประตูสู่ CLMMV
ประเดิมเพื่อนบ้านแรก สปป.ลาว ติวเข้มแบบเจาะลึกให้ผู้ประกอบการไทย
 
                   ปีใหม่ฟ้าใส พาณิชย์' พร้อมลุย "ค้าชายแดน" เต็มที่ สร้างความพร้อมผู้ประกอบการไทยเปิดประตูสู่ 5 ประเทศเพื่อนบ้าน CLMMV ติวเข้มแบบเจาะลึก ประเดิมประเทศแรกรองรับมาตรการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าติดตัวของ สปป.ลาว เน้นเทคนิคพิเศษรู้ลึกรู้จริงเพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ พร้อมเดินหน้าหลักสูตร "เทคนิคบริหารค้าปลีกอย่างมืออาชีพ" จับมือพันธมิตรเสริมแกร่งร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ลักษณะพี่สอนน้อง หวัง!! น้องเติบโตเป็นทายาทธุรกิจ...ขยายตลาดค้าขายประเทศเพื่อนบ้าน
                  นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางอภิรดี ตันตราภรณ์) ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งสร้างความพร้อมให้กับผู้ประกอบการไทยที่อยู่บริเวณรอบพื้นที่จังหวัดชายแดน เพื่อรองรับมาตรการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าติดตัวของประเทศเพื่อนบ้าน และส่งเสริมให้เกิด "การค้าชายแดน" อย่างเต็มที่"
                   โดยในปี 2560 นี้ กรมฯ เตรียมสร้างความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการไทยเพื่อเปิดประตูการค้าสู่ 5 ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนม่าร์ มาเลเซีย และเวียดนาม หรือ CLMMV โดยได้กำหนดหลักสูตร "สร้างความพร้อมทางการค้าสู่ CLMMV" เพื่อให้ความรู้ผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดน คือ หนองคาย นครพนม อุบลราชธานี (ติดชายแดน สปป.ลาว) สระแก้ว (ติดชายแดนกัมพูชา) เชียงราย ตาก (ติดชายแดนเมียนม่าร์) และ สงขลา (ติดชายแดนมาเลเซีย)"
                  "หลักสูตร "สร้างความพร้อมทางการค้าสู่ CLMMV" เป็นการติวเข้มแบบเจาะลึกแก่ผู้ประกอบการไทย โดยเน้นเทคนิคพิเศษแบบรู้ลึกรู้จริงก่อนทำการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ 1) ภาพรวมตลาดค้าชายแดนและโอกาสทางธุรกิจ 2) สิทธิพิเศษ มาตรการทางภาษี และแนวทางการปฏิบัติในการค้าข้ามแดนและการค้าชายแดน 3) เทคนิคพิเศษในการบริหารการเงิน บัญชี และการบริหารภาษี 4) การบริหารธุรกรรมทางการเงิน ข้อดีข้อเสียของรูปแบบการชำระเงินประเภทต่างๆ เพื่อให้การชำระเงินมีความเหมาะสม ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ 5) การฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเตรียมเอกสารผ่านแดน การกรอกฟอร์มเพื่อลดภาษีนำเข้า และ 6) การแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการค้าชายแดนในแต่ละประเทศ รวมถึง เทคนิคการทำอย่างไรให้ธุรกิจค้าชายแดนประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ หลักสูตรฯ ดังกล่าว จะทำให้เกิดการขยายช่องทางการตลาดช่วยให้ธุรกิจไทยสามารถขยายการลงทุนไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านบริเวณพื้นที่ชายแดนของไทย สร้างโอกาสทางการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น คาดว่าจะมีผู้ประกอบการในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมฯ เป็นจำนวนมาก" 
                 โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับ สปป.ลาว จะเป็นพื้นที่แรกที่กรมฯ ลงพื้นที่สร้างความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ เนื่องจากมีด่านถาวรหลายแห่ง ได้แก่ จังหวัดหนองคาย มี 2 ด่าน คือ ด่านท่าเสด็จ อ.เมือง และด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว อ.เมือง จังหวัดนครพนม มี 2 ด่าน คือ ด่านเทศบาลเมือง อ.เมือง และด่านสะพานมิตรภาพ อ.เมือง (นครพนม-คำม่วน) จังหวัดอุบลราชธานี มี 3 ด่าน คือ ด่านปากแซง อ.นาตาล ด่านช่องเม็ก อ.สิรินธร และด่านช่องอานม้า อ.น้ำยืน
                 เดือนกุมภาพันธ์ 60 จะลงพื้นที่จังหวัดสระแก้ว (ติดชายแดนประเทศกัมพูชา) มีด่านถาวร 3 ด่าน คือ ด่านบ้านตาพระยา อ.ตาพระยา ด่านบ้านหนองปรือ อ.อรัญประเทศ และด่านบ้านเขาดิน อ.คลองหาด
                 เดือนมีนาคม 60 ลงพื้นที่จังหวัดที่ติดกับประเทศเมียนม่าร์ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย มี 5 ด่านถาวร คือ ด่านเชียงของ อ.เชียงของ ด่านสะพานมิตรภาพ 4 อ.เชียงของ (เชียงของห้วยทราย) ด่านเชียงแสน อ.เชียงแสน ด่านสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน ด่านสะพานข้ามแม่น้ำแม่สาย อ.แม่สาย และด่านสะพานข้ามแม่น้ำแม่สาย 2 อ.แม่สาย จังหวัดตาก มี 1 ด่านถาวร คือ ด่านริมเมย อ.แม่สอด
                และเดือนเมษายน 60 จะลงพื้นที่จังหวัดสงขลา (ติดชายแดนประเทศมาเลเซีย) มีด่านถาวร 3 ด่าน คือ ด่านสะเดา อ.สะเดา ด่านปาดังเบซาร์ อ.สะเดา และด่านบ้านประกอบ อ.นาทวี
                อธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า "นอกจากนี้ กรมฯ ได้จับมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ หอการค้าจังหวัด สถาบันการเงิน สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย ผู้ผลิต ผู้แทนจำหน่าย และร้านค้าส่งค้าปลีกทั่วประเทศ สร้างความแข็งแกร่งแก่ธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็ก โดยการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "เทคนิคบริหารค้าปลีกอย่างมืออาชีพ" เป็นการเสริมสร้างความรู้และเทคนิคในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการร้านค้าปลีกอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นให้สามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้จริงในการสร้างระบบบริหารจัดการร้านให้มีรูปแบบที่ทันสมัยมากขึ้น รู้จักสร้างเอกลักษณ์เฉพาะแก่ร้านค้าตนเองเพื่อมัดใจและตอบสนองความต้องการของลูกค้าซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ทั้งนี้ คาดว่าจะมีธุรกิจค้าส่ง-ปลีก และธุรกิจ SMEs ที่เกี่ยวเนื่อง เข้าร่วมเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ทางธุรกิจเพื่อสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งทางการค้าทั้ง 2 กิจกรรม รวมกว่า 1,000 ราย"
                ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมฯ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ส่วนส่งเสริมธุรกิจการค้า กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร 0 2547 5986 หรือ e-mail: bizpromotion.dbd@gmail.com หรือเว็บไซด์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th หัวข้ออบรมสัมมนา
 
****************************************
ที่มา : กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ                                                                                           ฉบับที่ 143 / 24-26 ธันวาคม 2559