"พาณิชย์" พัฒนา "ธุรกิจบริการก่อสร้างและวิศวกรรม" ต้นแบบ 30 ราย เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจ

"พาณิชย์" พัฒนา "ธุรกิจบริการก่อสร้างและวิศวกรรม" ต้นแบบ 30 ราย เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจ
เตรียมผลักดันเข้าตลาดประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังเร่งขยายโครงสร้างพื้นฐาน
พร้อมแนะใช้ไอที-นวัตกรรมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขยายตลาดหากลุ่มลูกค้าไทย/เทศ
มั่นใจ!! ก่อสร้างไทยฝีมือดีเป็นที่ต้องการของตลาดโลก
 
 
                              กระทรวงพาณิชย์ พัฒนา "ธุรกิจบริการก่อสร้างและวิศวกรรม" ต้นแบบ 30 ราย เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้า เตรียมผลักดันเข้าตลาดประเทศเพื่อนบ้านที่ทุกประเทศกำลังเร่งลงทุนขยายโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ พร้อมแนะใช้ไอทีในการบริหารจัดการโครงการ บริหารงานการตลาด และใช้นวัตกรรมขยายฐานลูกค้าทั้งไทยและเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและประสิทธิภาพธุรกิจให้เข้มแข็ง มั่นใจ!! ก่อสร้างไทยฝีมือดีเป็นที่ต้องการของตลาดโลก
                              นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางอภิรดี ตันตราภรณ์) มีนโยบายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งส่งเสริมธุรกิจบริการของไทยทุกประเภทให้มีความเข้มแข็ง มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อให้ภาคธุรกิจบริการของไทยมีความพร้อมในการแข่งขันและสามารถส่งออกภาคบริการสู่ตลาดต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพด้านการให้บริการที่เป็นเลิศ จนเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยมีจุดแข็ง คือ ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ มีฝีมือและหัวใจบริการที่ยึดความพึงพอใจและการตอบสนองของลูกค้าเป็นหลัก ที่จะรองรับโอกาสที่ดีของไทยในการใช้ธุรกิจบริการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ โดยหนึ่งในธุรกิจบริการที่กระทรวงฯ ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนา คือ ธุรกิจบริการก่อสร้างและวิศวกรรม"
                              "กรมฯ ได้ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจบริการก่อสร้างและวิศวกรรมของไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นพัฒนาด้านการบริหารจัดการธุรกิจให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ล่าสุดได้ดำเนินการพัฒนาธุรกิจบริการก่อสร้างและวิศวกรรมไทยให้เป็นต้นแบบเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจ ประกอบด้วยหมวดคุณภาพ 5 ด้าน คือ 1) ด้านการให้บริการ 2) ด้านการตลาด 3) ด้านบุคลากร 4) ด้านบริหารจัดการธุรกิจ และ 5) ด้านผลประกอบการ ซึ่งผู้ที่จะผ่านเกณฑ์มาตรฐานฯ ต้องผ่านเกณฑ์ฯ การประเมินครบทั้ง 5 ด้าน ทั้งนี้ กรมฯ ได้มีการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการบริหารจัดการธุรกิจฯ ที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารต้นทุน การจัดทำบัญชีอย่างเป็นระบบเพื่อให้รู้และเข้าใจถึงสถานการณ์บริหารจัดการทางการเงิน รวมถึง การศึกษา วิเคราะห์ สภาพปัญหา จุดอ่อนจุดแข็งของธุรกิจ เพื่อให้ภาคธุรกิจนำไปประยุกต์ใช้และปรับปรุงการดำเนินกิจการของแต่ละองค์กรเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างมั่นคงเข้มแข็ง"
                              ทั้งนี้ กรมฯ ได้คัดเลือกธุรกิจบริการก่อสร้างและวิศวกรรมไทยที่ผ่านการพิจารณา จำนวน 5 ราย เพื่อเป็นธุรกิจบริการก่อสร้างและวิศวกรรมต้นแบบ (Best Practice) ได้แก่ 1) บจ. เปป เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 2) บจ. นิวเทคโนโลยี่ เอ็นจิเนียริ่ง คอนสตรัคชั่น 3) บจ. เมคเคอร์โฮม 4) บจ. ไทยเซอิ (ไทยแลนด์) และ 5) บจ. ชำนาญกิจ วิศวกรรม
                            "ซึ่งจากผลการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการบริการจัดการธุรกิจในด้านต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นในการพัฒนาในด้านการบริหารจัดการธุรกิจ การให้บริการ และความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตอย่างเข็มแข็ง มั่นคง ยั่งยืน และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล"
                            อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า "นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการก่อสร้างฯ ขยายตลาดสู่กลุ่มประเทศอาเซียนด้วย โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังให้ความสำคัญต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาประเทศ ซึ่งธุรกิจบริการก่อสร้างฯ เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานฯ ธุรกิจบริการก่อสร้างฯ ของไทย จึงควรเร่งสร้างมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเตรียมความพร้อมของธุรกิจอย่างเต็มที่เพื่อให้พร้อมขยายธุรกิจสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และคาดว่าธุรกิจบริการก่อสร้างฯ ของไทยจะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี เนื่องจากเทคโนโลยี/แรงงานก่อสร้างและวิศวกรรมของไทยมีฝีมือดีเป็นที่ยอมรับ จึงมั่นใจว่า "ธุรกิจบริการก่อสร้างฯ ของไทยเป็นที่ต้องการของตลาดเพื่อนบ้านและตลาดโลกอย่างแน่นอน" อย่างไรก็ตามแม้แนวโน้มด้านตลาดที่ขยายเพิ่มมากขึ้น แต่แนวโน้มด้านนวัตกรรมวัสดุและเทคโนโลยีการก่อสร้างใหม่ๆ ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างต้องมีการเรียนรู้และปรับตัว จากการก่อสร้างโดยใช้แรงงานจำนวนมาก มาเป็นวิธีการประกอบจากวัสดุก่อสร้างสำเร็จรูป รวมถึงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ ซอฟแวร์ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ เข้ามาใช้ตั้งแต่การออกแบบ การบริหารโครงการก่อสร้าง จนกระทั่งการบริการหลังการขาย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มฐานลูกค้าให้กว้างขวางมากขึ้น และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจให้มีความเข้มแข็งรองรับการขยายตัวภาคเศรษฐกิจของประเทศ"
                            ผู้ประกอบธุรกิจบริการก่อสร้างและวิศวกรรม สนใจที่จะพัฒนาองค์ความรู้การประกอบธุรกิจให้ก้าวทันโลกยุคใหม่ และได้รับการพัฒนาสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจ สามารถศึกษาคู่มือเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจบริการก่อสร้างและวิศวกรรม ปี 2559 โดย Download ได้ที่ www.dbd.go.th เลือก บริการข้อมูล เลือก ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ เลือก เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจ เลือก เอกสารเผยแพร่ เลือก คู่มือเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจบริการก่อสร้างและวิศวกรรม ปี 2559 หรือติดต่อขอรับเอกสารคู่มือ ได้ทาง E-mail : researchdbd@gmail.com กองส่งเสริมธุรกิจชุมชน โทร. 0 2547 5950
 
*****************************************************
ที่มา : กองส่งเสริมธุรกิจชุมชน                                                                                                ฉบับที่ 119 / วันที่ 27 กันยายน 2559
 
 
 
 
 
 
ธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจบริการก่อสร้างและวิศวกรรม ประจำปี 2559
 
1. บริษัท เปป เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด *
2. บริษัท นิวเทคโนโลยี่ เอ็นจิเนียริ่ง คอนสตรัคชั่น จำกัด *
3. บริษัท เมคเคอร์โฮม จำกัด *
4. บริษัท ไทยเซอิ (ไทยแลนด์) จำกัด *
5. บริษัท ชำนาญกิจ วิศวกรรม จำกัด *
6. บริษัท ธนิสร 98 จำกัด
7. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทย ทรู เอส คอนสตรัคชั่น
8. บริษัท ซีแมค เจนเนอรัล จำกัด
9. ห้างหุ้นส่วนจำกัด เหนือกว่า
10. บริษัท วิศว์วิวรรธน์ จำกัด
11. บริษัท โชติธนวัฒน์ จำกัด
12. บริษัท ไทยชิงยา จำกัด
13. บริษัท บีวายพี อินโนเวชั่น จำกัด
14. บริษัท มหาพร จำกัด
15. บริษัท สยามพรีคาซท์ บิวดิ้ง แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
16. บริษัท บิลเลี่ยนแนร์ คอนสตรัคชั่น จำกัด 17. บริษัท พี เค พรีคลาส จำกัด 18. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีคชาบุตร ไคโย่ เน็ตเวอร์ค
19. บริษัท ซี แอนด์ พี (กรุงเทพฯ) จำกัด
20. บริษัท เดอะโมเดอร์น กรุ๊ป เรียลพร็อพเพอทิ จำกัด
21. บริษัท ณุษา จำกัด
22. บริษัท แองเจิ้ล ซิตี้ จำกัด
23. บริษัท พิโด้ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
24. บริษัท ไซน์คอน กรุงเทพ จำกัด
25. บริษัท กรีน บิลด์ อินโนวอลล์ จำกัด
26. บริษัท เอ พลัส เรียลเอสเตท จำกัด
27. บริษืท ประภัสสรพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด
28. บริษัท ภูธเนษฐ์ พัฒนาการ จำกัด
29. บริษัท เดอะฟินิกซ์ 99 จำกัด
30. บริษัท ยูโร-โอเรียนเตล คอนสตรัคชั่น จำกัด

ทั้งนี้ 5 อันดับแรก* ได้รับการคัดเลือกเป็น Best Practice ในการพัฒนาการบริหารจัดการสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพฯ