กรมพัฒน์ฯ จับมือ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ นำผลงานวิจัยเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์
กรมพัฒน์ฯ จับมือ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ นำผลงานวิจัยเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์
พร้อมสนับสนุน SMEs ไทยใช้นวัตกรรมต่อยอดพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้า สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์
สอดรับนโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0" และ "สตาร์ทอัพ" ที่เน้นใช้ไอเดียและนวัตกรรมนำธุรกิจสู่ความสำเร็จ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จับมือ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์มากขึ้น พร้อมสนับสนุน SMEs ไทย นำนวัตกรรมต่อยอดพัฒนาคุณภาพสินค้า สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ สอดรับนโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0" และ "สตาร์ทอัพ" ที่เน้นให้ผู้ประกอบการใช้ไอเดียและนวัตกรรมมาสร้างสรรค์ผลงาน เชื่อมต่อธุรกิจ ส่งผ่านสู่ความสำเร็จ เตรียมจ่อ!! ส่งออกผู้ประกอบการที่มีมาตรฐานสู่ตลาดโลก สร้างตราสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ในวันนี้ (วันที่ 13 พฤษภาคม 2559) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วย "การส่งเสริมการนำผลงานการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจในเชิงนวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมไทย" โดยสาระสำคัญของบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าว จะเน้นการนำผลงานวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์มากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการในการสร้างงาน สร้างอาชีพ และมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ รวมถึง ผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยผลิตสินค้าเชิงนวัตกรรม ตระหนักและเข้าถึงการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าและบริการให้มีความเป็นสากล และเป็นที่ยอมรับของคู่ค้าและผู้บริโภคทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ"
"กรมฯ จะมีการบูรณาการความร่วมมือกับ วว. อย่างใกล้ชิด โดยจะร่วมกันพัฒนาศักยภาพธุรกิจของไทยให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งเสริมการยกระดับมาตรฐานคุณภาพของผู้ประกอบการ บูรณาการการบริการให้คำปรึกษาแนะนำ ด้านวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ การบริหารการผลิต และการปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยทั้งระบบ โดยในเฟสแรกคลัสเตอร์เป้าหมาย คือ อาหาร เครื่องสำอางเวชภัณฑ์ อาหารเสริม และผลิตภัณฑ์ OTOP รวมถึง SMEs ที่ผ่านการพัฒนาจากกรม ที่มีศักยภาพพร้อมที่จะนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจ"
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า "การร่วมกันพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไทยของทั้ง 2 หน่วยงานในครั้งนี้ สอดรับกับนโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0" ของรัฐบาล ที่ต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ เพื่อให้หลุดพ้นจากประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง โดยใช้การเสริมสร้างธุรกิจ "สตาร์ทอัพ" มาเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการช่วยผลักดันให้นโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ประสบความสำเร็จ ซึ่งนโยบายดังกล่าว จะเน้นให้ผู้ประกอบการใช้ไอเดียและนวัตกรรมมาสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือที่เรียกว่า "นวัตกรรมธุรกิจ" และมีการเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลให้การสนับสนุนอยู่ เพื่อส่งต่อสู่ความสำเร็จในอนาคต และนำพาประเทศไทยสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม"
"นอกจากการนำไอเดียและนวัตกรรมมาพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แล้ว กรมฯ และ วว. ยังร่วมกันกำหนดแผนการพัฒนาช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการที่ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จนสามารถนำสินค้านั้นเผยแพร่ออกสู่ตลาดด้วย ซึ่งจะเน้นการตลาดทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์ (Online & Offline) โดยเฉพาะการค้าขายและนำเสนอผลิตภัณฑ์ฯ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-คอมเมิร์ซ เนื่องจากเป็นช่องทางการตลาดที่มีอัตราการเจริญเติบโตที่อยู่ในระดับสูงมาก และกำลังได้รับความนิยมจากนักช็อปออนไลน์ทั่วโลก ซึ่งคาดว่าหลังจากที่ได้เผยแพร่ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ได้รับการพัฒนาผ่านช่องทาง อี-คอมเมิร์ซ จะทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นเป็นที่รู้จักและสามารถสร้างยอดขายให้แก่ผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี"
"และท้ายที่สุด จะร่วมกันประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ได้รับการพัฒนาฯ ผ่านช่องทางการสื่อสารทุกประเภท รวมทั้งผ่านเครือข่ายของทั้ง 2 หน่วยงาน ตลอดจนนำผู้ประกอบการออกโรดโชว์แสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ เช่น งาน TISTR Innovation Day, TISTR and Friends รวมถึงการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) เป็นต้น"
ทั้งนี้ การสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีการนำผลงานการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เข้าสู่ตลาดการค้าทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้าทั้งในและต่างประเทศ จะเป็นการสร้างตราสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล ซึ่งจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการใช้นวัตกรรมมาผลิตเป็นสินค้าและบริการเป็นลำดับต้นในทวีปเอเชีย จนสามารถนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลางตามนโยบายและเจตนารมย์ที่รัฐบาลได้ตั้งไว้
******************************
ที่มา : กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ ฉบับที่ 63 / 13 พฤษภาคม 2559