พาณิชย์ 'เติมภูมิความรู้' นักธุรกิจโลจิสติกส์ไทยให้ครบเครื่อง ขานรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พร้อมลุยตลาดมาเลเซียคู่ค้าเบอร์ 1 ในอาเซียน

พาณิชย์ 'เติมภูมิความรู้' นักธุรกิจโลจิสติกส์ไทยให้ครบเครื่อง
ขานรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พร้อมลุยตลาดมาเลเซียคู่ค้าเบอร์ 1 ในอาเซียน
 
                   กระทรวงพาณิชย์ ผลักดันธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ (LSPs) ผ่านมาตรฐาน ISO 9001 แล้วกว่า 236 ราย เตรียมหาแนวทางเจาะลึกยกระดับความรู้รอบทิศ สร้างเครือข่ายให้เป็นปึกแผ่นแก่นักธุรกิจ โลจิสติกส์ ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พร้อมลุยตลาดมาเลเซียคู่ค้าเบอร์ 1 ของไทยในอาเซียน
                   นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจ การค้า ได้ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่มอบหมายให้กรมฯ เดินหน้าสนับสนุนธุรกิจบริการ ทุกประเภทให้มีมาตรฐาน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศมูลค่ามหาศาล และเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมในการแข่งขัน สามารถกลายเป็นจุดแข็งของภาคธุรกิจไทยในสายตาของนักลงทุนนานาชาติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงธุรกิจไทยสู่ประชาคมอาเซียนที่เปิดตัวความร่วมมืออย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าไทยมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่เป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียน หาก 'ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง' สามารถพัฒนาได้อย่างเข้มแข็งและมีมาตรฐานระดับโลก (ISO 9001) แล้วการที่ประเทศไทยจะกลายเป็น Logistic HUB หรือศูนย์กลางด้านการขนส่งของอาเซียนก็ไม่ใช่เรื่องที่ประเทศไทยจะไปไม่ถึง
                   กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ดำเนินโครงการยกระดับการบริหารจัดการธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ สู่มาตรฐาน ISO 9001 อย่างต่อเนื่อง โดยใช้แนวทางการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการ "บันได 3 ขั้น" คือ 1) สร้างองค์ความรู้และเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจ 2) ยกระดับธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจและมาตรฐานสากล และ 3) สร้างโอกาสทางการตลาด และเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจสู่สากล กิจกรรมภายใต้โครงการประกอบไปด้วย การอบรมเชิงปฏิบัติการ การให้คำปรึกษา ณ สถานประกอบการพร้อมกับการศึกษาดูงานจากธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ที่ผ่านมามีธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ไทย ที่กรมฯ ให้การสนับสนุนและผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO แล้วจำนวน 236 ราย
                  ในปีนี้ กรมฯ มีแผนจะส่งเสริมธุรกิจโลจิสติกส์เชิงลึกด้วยการเจาะกลุ่มให้ความรู้แบบองค์รวมแก่ ผู้ประกอบธุรกิจในจังหวัดที่ติดชายแดนเพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการยกระดับและส่งเสริมธุรกิจในพื้นที่ที่มีเขตติดต่อกับประเทศในอาเซียนให้เป็น 'เขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ' รวมไปถึงด่านการค้าที่มีความสำคัญทางภาคใต้อย่างเช่น ด่านสะเดา และด่าน ปาดังเบซาร์ ในจังหวัดสงขลาที่มีพรมแดนติดกับประเทศมาเลเซีย โดยพื้นที่ดังกล่าวสร้างมูลค่าการค้ารวมกันสูงถึง 4 แสนล้านบาทต่อปี กรมฯ จึงเล็งเห็นความสำคัญของการเติบโตในธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในภาคใต้ และเป็นโอกาสทองของนักธุรกิจไทยที่จะพัฒนาศักยภาพธุรกิจของตนเองเพื่อเป็นช่องทางในการส่งออกสินค้าและบริการด้านโลจิสติกส์ไปยังประเทศมาเลเซียที่เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของไทยในตลาดอาเซียน (ปี 2558 มีมูลค่าการค้ารวม 748,877 ล้านบาท) ซึ่งกรมฯ ได้ร่วมมือกับสมาคมโลจิสติกส์และขนส่ง ภาคใต้ โดยส่งผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ให้คำปรึกษาเชิงลึก เพื่อให้สมาชิกของสมาคมฯ ยกระดับธุรกิจสู่มาตรฐานสากล ตลอดจนขยายเครือข่ายพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจให้มีความเข้มแข็งสามารถสร้างรากฐานธุรกิจให้เข้มแข็งและพร้อมที่จะออกไปสู่ตลาดในประเทศเพื่อนบ้านต่อไป
                    ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 21,491 ราย โดยเป็นผู้ประกอบธุรกิจฯ ที่อยู่ในภาคใต้จำนวน 1,479 ราย และมีมูลค่าการลงทุน 19,563 ล้านบาท (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2559)
 
************************************
ที่มา : กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ                                                                                         ฉบับที่ 60 / วันที่ 5-10 พฤษภาคม 2559