"พาณิชย์" กำหนดคุณสมบัติ "ผู้บังคับหลักประกัน" เข้ม
"พาณิชย์" กำหนดคุณสมบัติ "ผู้บังคับหลักประกัน" เข้ม
กระทรวงพาณิชย์ กำหนดคุณสมบัติ "ผู้บังคับหลักประกัน" เข้ม เน้นคุณธรรม/จริยธรรมสูง ทั้งต้องมีความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลาย เป็นกลาง มีความเป็นอิสระ หวังเป็น "วิชาชีพใหม่" ที่มีความน่าเชื่อถือ ช่วยสนับสนุน "กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ" ให้บรรลุวัตถุประสงค์ สร้างความเข้มแข็ง SMEs ไทย ยืนหยัดในแวดวงธุรกิจยาว ภาคต่อหลังช่วย SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ตนได้ลงนามในประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาต และการขอรับใบแทนใบอนุญาตเป็นผู้บังคับหลักประกัน พ.ศ. 2559 และจะนำประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ฉบับดังกล่าว ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2559 นี้"
"สาระสำคัญของประกาศฉบับดังกล่าวฯ คือ การกำหนดคุณสมบัติของ "ผู้บังคับหลักประกัน" ภายใต้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ทำการระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมบังคับคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย นักวิชาการด้านกฎหมายและบัญชี เป็นต้น เพื่อให้ "ผู้บังคับหลักประกัน" เป็นวิชาชีพใหม่ที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถสนับสนุนภารกิจตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ได้ตั้งไว้"
"ผู้บังคับหลักประกัน" มีความสำคัญต่อกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเป็นอย่างมาก เนื่องจากในกรณีที่มีการนำกิจการมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ กฎหมายฯ ได้กำหนดให้ต้องมี "คนกลาง" หรือที่เรียกว่า "ผู้บังคับหลักประกัน" ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้เข้ามาทำหน้าที่บังคับหลักประกัน ดังนั้น ผู้บังคับหลักประกัน จึงหมายถึง บุคคลหนึ่งคนหรือหลายคนซึ่งผู้ให้หลักประกัน (ผู้กู้) และผู้รับหลักประกัน (ผู้ให้กู้) ตกลงกันให้เป็นผู้บังคับหลักประกันตามสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ กรณีที่นำกิจการมาเป็นหลักประกัน โดยผู้บังคับหลักประกันต้องให้ความยินยอมที่จะเป็นผู้บังคับหลักประกันด้วย ผู้บังคับหลักประกัน มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับหลักประกัน ได้แก่ การไต่สวนข้อเท็จจริงเมื่อมีเหตุบังคับหลักประกัน การกำหนดวงเงินประกัน การวินิจฉัยเหตุบังคับหลักประกัน นอกจากนี้ ยังต้องทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ทั้งการบำรุงรักษา จัดการ และดำเนินการจนกว่าจะจำหน่ายกิจการได้ การตรวจสอบและประเมินราคากิจการ การกำหนดวิธีการจำหน่ายและดำเนินการจำหน่ายกิจการ รวมทั้งการจัดสรรเงินที่ได้จากการจำหน่ายกิจการ เป็นต้น
โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตเป็น "ผู้บังคับหลักประกัน" จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้ 1) ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ หรือผู้ประกอบวิชาชีพผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ที่ได้รับใบอนุญาตต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 3 ปี และ 2) ผู้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการบังคับหลักประกันที่ได้รับอนุญาต หรือขึ้นทะเบียนต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 3 ปี จากหน่วยงานของรัฐ สมาคม หรือตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ อนุญาโตตุลาการ (ขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานศาลยุติธรรม) ผู้เชี่ยวชาญศาล (ด้านการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน) ผู้ประเมินหลัก ผู้ประเมินหลักชั้นวุฒิ ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ประกาศกำหนด ผู้บังคับหลักประกันจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้ 1) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต เป็นบุคคลล้มละลายหรือพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายมาแล้วไม่ถึง 5 ปี 2) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ หรือความผิดมาตรา 89 หรือมาตรา 90 3) เคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต เว้นแต่ได้รับยกเว้นตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด 4) เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของผู้ให้หลักประกันหรือผู้รับหลักประกัน 5) เคยถูกถอดถอนจากการเป็นประธานกรรมการ กรรมการ หรือผู้จัดการตามมาตรา 144 หรือ มาตรา 145 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์หรือตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น 6) เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง และ 7) เป็นข้าราชการที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ "ผู้ที่จะเป็นผู้บังคับหลักประกัน" จะต้องผ่านการอบรมในวิชากฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ และจรรยาบรรณผู้บังคับหลักประกัน เพื่อให้เข้าใจถึงสาระสำคัญของกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริงตามขั้นตอนและวิธีการที่บัญญัติในพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 ตลอดจนสามารถจัดการกิจการที่เป็นหลักประกันภายใต้การบังคับหลักประกันได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ รวมถึงเข้าใจในหลักการและแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม ยึดถือปฏิบัติและธำรงอยู่ในจิตสำนึกของผู้บังคับหลักประกัน ทำให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ ที่ผู้บังคับหลักประกันจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง อิสระ สุจริต และเป็นธรรม
ขณะเดียวกัน กรมฯ กำลังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมความพร้อมของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อรองรับ การขึ้นทะเบียนเป็นผู้บังคับหลักประกัน การจดแจ้งสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีลักษณะเป็นแบบเรียลไทม์ (Real Time) โดยผู้ให้หลักประกัน และผู้รับหลักประกัน สามารถตรวจเช็คข้อมูลของหลักประกันทางธุรกิจได้ทันที ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจด้านการบริการข้อมูลการจดทะเบียน และข้อมูลการขึ้นทะเบียนผู้บังคับหลักประกันด้วย
*************************************
ที่มา : กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ ฉบับที่ 55 / 26 เมษายน 2559