กระทรวงพาณิชย์ มาเชิงรุก!! สกัดกั้นธุรกิจ "นอมินี" คุมเข้มทั้งระยะสั้นและระยะยาวตาม Road map "แผนปฏิบัติการกำกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว"

กระทรวงพาณิชย์ มาเชิงรุก!! สกัดกั้นธุรกิจ "นอมินี" คุมเข้มทั้งระยะสั้นและระยะยาวตาม Road map
"แผนปฏิบัติการกำกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว"
 
                          กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เดินหน้าแก้ไขปัญหา "นอมินี" ในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจรับซื้อผลไม้เพื่อส่งออก (ล้ง) โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง DSI กรมการท่องเที่ยว และจังหวัด ลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างจริงจัง พร้อมคลอด "แผนปฏิบัติการกำกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว" ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เชื่อ! กฎหมายที่ทันสมัยจะช่วยดึงดูดนักลงทุน และคุ้มครองการลงทุนของคนต่างด้าวในไทยได้ตามหลักมาตรฐานสากล
                         นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ได้รับมอบนโยบายจากกระทรวงพาณิชย์ด้านการกำกับและตรวจสอบการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศไทยให้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งกรมฯ ได้ดำเนินงานตามนโยบายอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาตลอด โดยเฉพาะปัจจุบันที่กำลังมีกระแสนักธุรกิจจีนเข้ามาทำธุรกิจและอาจส่งผลกระทบกับธุรกิจคนไทย ทั้งธุรกิจรับซื้อผลไม้ส่งออก (ล้งผลไม้) และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ซึ่งกรมฯ ได้มีมาตรการตรวจสอบและติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมการท่องเที่ยว กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรมการค้าภายใน และส่วนราชการในจังหวัด เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลธุรกิจให้สามารถกำกับดูแลได้ตลอดเวลา รวมทั้งการลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกันเพื่อป้องปรามและดูแลให้ธุรกิจต่างด้าวต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
                        สำหรับการแก้ปัญหาดังกล่าวกรมฯ ได้จัดทำ "แผนปฏิบัติการกำกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว" ซึ่งกำหนดแนวทางดำเนินการใน 2 ระยะคือ ระยะสั้นภายใน 2 ปี (พ.ศ. 2559-พ.ศ. 2560) และระยะยาว (พ.ศ. 2561 -พ.ศ. 2563) ให้สามารถตอบสนองกับสถานการณ์และแก้ปัญหาเร่งด่วนได้อย่างทันท่วงที โดยมุ่งเน้นมาตรการแก้ไขปัญหานอมินีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการกำกับและตรวจสอบก่อนและหลังจดทะเบียนจัดตั้ง นิติบุคคล และการดำเนินการของคนต่างด้าวให้เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตและเงื่อนไขที่กำหนดตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เช่น การนำส่งทุนขั้นต่ำ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับแผนยกระดับกฎหมายต่างด้าวให้เป็นมาตรฐานสากล โดยการศึกษากฎหมายของต่างประเทศ และข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศเพื่อเป็นแนวทางการปรับปรุงกฎหมาย
                       นอกจากนี้ ยังได้แก้ไขอัตราโทษที่เกี่ยวกับนอมินีให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่แท้จริงในปัจจุบัน ควบคู่กับการปรับปรุงประเภทธุรกิจบัญชีท้ายให้เหมาะสมกับสภาพการค้าการลงทุน และสอดรับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ที่กำลังก้าวเข้าสู่ Trading Nation โดยใน 'ระยะสั้น' จะเน้นธุรกิจที่มีกฎหมายและหน่วยงานเฉพาะกำกับดูแล ธุรกิจที่มีการจำกัดการบริการ และธุรกิจที่เปิดเสรีภายใต้ความตกลงอาเซียน กว่า 56 ธุรกิจ สำหรับใน 'ระยะยาว' จะมุ่งเน้นธุรกิจที่จำเป็นต้องสงวนไว้ในลักษณะ Negative List อันเป็นธุรกิจที่มีผลกระทบกับความมั่นคง สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรมของประเทศ
                        สุดท้ายนี้ กรมฯ เชื่อมั่นว่าการปรับปรุงกฎหมาย มาตรการกำกับดูแล และรูปแบบการตรวจสอบธุรกิจของ คนต่างด้าวที่เข้มข้นในครั้งนี้ จะส่งผลให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่คุ้มครองดูแลธุรกิจของคนต่างด้าวที่ทันสมัยเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานทัดเทียมสากล ซึ่งเป็นประโยชน์ทางบวกโดยตรงต่อการดึงดูดนักธุรกิจต่างชาติให้สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และจะส่งผลต่อดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตอีกด้วย
 
-------------------------------------------------
ที่มา : กองบริหารการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ                                                                          ฉบับที่ 39 / 21 มีนาคม 2559