"ไทย" ก้าวสู่...มาตรฐานการรายงานทางการเงินสากลอย่างเต็มรูปแบบ เทียบเคียง 140 ประเทศทั่วโลก
"ไทย" ก้าวสู่...มาตรฐานการรายงานทางการเงินสากลอย่างเต็มรูปแบบ เทียบเคียง 140 ประเทศทั่วโลก
ยกระดับความน่าเชื่อถือให้ต่างชาติหอบเงินลงทุนเข้าไทยง่ายขึ้น ดันเศรษฐกิจพุ่งไปข้างหน้ารับเปิดการค้าเสรี
ไม่รอช้า!! "ประธานมาตรฐานบัญชีโลก" บินตรงเข้าไทย ชื่นชมรายงานทางการเงินมีมาตรฐานที่ดี
เอื้อไทยเป็นประเทศที่โดดเด่นน่าลงทุนลำดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชีย
ประเทศไทย เยี่ยม!! ก้าวสู่...มาตรฐานการรายงานทางการเงินสากลอย่างเต็มรูปแบบ เทียบเคียง 140 ประเทศทั่วโลก ยกระดับความน่าเชื่อถือและสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติตัดสินใจหอบเงินลงทุนเข้าไทยง่ายขึ้น ดันเศรษฐกิจพุ่งไปข้างหน้ารับเปิดการค้าเสรี ไม่รอช้า!! "ประธานมาตรฐานบัญชีโลก" บินตรงเข้าไทย ชื่นชมรายงานทางการเงินของไทย มีมาตรฐานที่ดี เอื้อไทยเป็นประเทศที่โดดเด่นน่าลงทุนลำดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชีย พร้อมเข้าร่วมงาน Thailand IFRS Conference 2016 การประชุมมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทย รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพฯ
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ในวันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม 2559) กรมฯ ร่วมกับ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และ คณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (IASB) แถลงทิศทางของประเทศไทยที่จะก้าวสู่...มาตรฐานการรายงานทางการเงินสากลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFRS : International Financial Reporting Standards) ที่ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการรายงานทางการเงินและส่งเสริมให้รายงานทางการเงินของประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือในสายตาของนักลงทุนมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่น่าเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ต้อนรับการเปิดการค้าเสรีของโลกที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน"
"รายงานทางการเงิน นับเป็นหัวใจสำคัญในการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งนักลงทุน ผู้บริหาร และผู้ประกอบการในตลาดทุนล้วนให้ความสนใจในบทวิเคราะห์งบการเงิน ผลการดำเนินงาน และกระแสเงินสดของกิจการที่ต้องการเข้าร่วมลงทุน ทั้งนี้ "รายงานทางการเงินที่ดี" ต้องมีรูปแบบที่อ่านและเข้าใจได้ง่าย สามารถสะท้อนรายการธุรกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรายการซื้อ-ขายในแต่ละวัน หรือธุรกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และต้องมีรูปแบบตรงตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนในกิจการนั้นๆ ซึ่งประเทศไทยจะสามารถก้าวเข้าสู่...มาตรฐานการรายงานทางการเงินสากลอย่าง เต็มรูปแบบด้วยความภาคภูมิ"
"นอกจากนี้ กรมฯ ได้มีการเชื่อมโยงมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ เข้ากับระบบนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมฯ (DBD e-Filing) ซึ่งจะทำให้นักลงทุนสามารถนำข้อมูลงบการเงินที่ได้มาตรฐานไปทำการวิเคราะห์และประเมินทิศทางแนวโน้มของธุรกิจได้ทันที นับเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ได้เปรียบคู่แข่งขันแบบทวีคูณ ซึ่งเหมาะสมกับสถานการณ์ของโลกธุรกิจในปัจจุบันที่ต้องการข้อมูลด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว และสามารถนำไปใช้งานได้อย่างทันท่วงที"
ในโอกาสนี้ มร.ฮันส์ ฮูเกอร์วอรสท์ (Mr. Hans Hoogervorst) ประธานกรรมการมาตรฐานบัญชีระหว่างประเทศ (IASB Chairman) ได้เดินทางมาประเทศไทย เพื่อร่วมแสดงความยินดีในครั้งนี้ด้วย และได้กล่าวว่า "ขอให้การสนับสนุนแก่ประเทศไทยที่จะก้าวสู่มาตรฐานรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFRS) และขอชื่นชมรายงานทางการเงินของประเทศไทยที่มีมาตรฐานที่ดีเทียบเท่ามาตรฐานรายงานทางการเงินสากล ซึ่งรายงานทางการเงินที่ได้มาตรฐานนี้ จะเอื้อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่โดดเด่นน่าลงทุนในลำดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียด้วย ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของ IFRS เกิดขึ้นทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ในแต่ละปี ส่งผลให้งบการเงินที่จัดทำขึ้นตามข้อกำหนดใหม่ของ IFRS อาจเปลี่ยนไป เพื่อให้สะท้อนข้อมูลฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานของกิจการที่แท้จริง และจะนำมาซึ่งข้อมูลที่สามารถสะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมได้อย่างแท้จริง"
นายประสัณห์ เชื้อพานิช นายกสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า "สภาวิชาชีพบัญชีเป็นองค์กรวิชาชีพบัญชีของประเทศที่เป็นผู้กำหนดและประกาศใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินของประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับ IFRS ประเทศไทยมีเป้าหมายในการประกาศใช้ IFRS ช้ากว่า IFRS ไม่เกิน 1 ปี ซึ่งเป็นกรอบเวลาที่ใช้กันโดยทั่วไป ในสากล และถือว่าประเทศไทยมีทิศทางที่ชัดเจนในการก้าวเข้าสู่มาตรฐานการรายงานทางการเงินอย่างเต็มรูปแบบ"
"การใช้ IFRS จะทำให้รายงานทางการเงินมีความโปร่งใส เปรียบเทียบกันได้ ให้กรอบในการเปิดเผยข้อมูลที่ผู้ใช้สามารถนำไปตัดสินใจ สร้างความเชื่อมั่น ช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตของตลาดทุนไทย และนอกเหนือจากตลาดทุนแล้ว สภาวิชาชีพบัญชีก็ยังผลักดันให้บริษัทนอกตลาดทุนมีมาตรฐานการจัดทำรายงานทางการเงินที่ดี เป็นที่ยอมรับ และสามารถอ้างอิงได้ เพื่อขับเคลื่อนและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ"
"สภาวิชาชีพบัญชีมีกระบวนการที่เป็นระบบในการพิจารณา ศึกษาผลกระทบ และจัดการสัมมนาพิจารณ์เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรฐานฉบับใหม่ๆ รวมถึงการจัดให้มีการอบรมสัมมนาเพื่อให้มั่นใจว่าผู้เกี่ยวข้องมีความเข้าใจในการนำมาตรฐานไปใช้"
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า "การยกระดับความน่าเชื่อถือของรายงานทางการเงินให้มีมาตรฐานเทียบเคียงกับสากล เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ตลาดทุนไทยพร้อมสำหรับการแข่งขันในเวทีสากล และเนื่องจากมาตรฐานการรายงานทางการเงินของ International Financial Reporting Standards (IFRS) มีการปรับปรุงอยู่เสมอ บจ.จึงต้องมีความพร้อมที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และจัดทำรายงานทางการเงินที่มีความน่าเชื่อถือและอยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ลงทุน"
และในวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2559 นี้ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ IFRS Foundation สำนักงาน ก.ล.ต. และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนาครั้งยิ่งใหญ่ งาน Thailand IFRS Conference 2016 ระหว่างเวลา 09.00 - 17.30 น. ณ โรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพ สุขุมวิท นับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจการบัญชีและการศึกษา จะได้ทราบถึงทิศทางและแผนการเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานการรายงานทางการเงินในอนาคต ตลอดจนทราบถึงประเด็นในทางปฏิบัติที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงการรายงานทางการเงินสู่หลักการมาตรฐานสากล และ การเตรียมความพร้อม โดยได้รับเกียรติจาก มร.ฮันส์ ฮูเกอร์วอรสท์ ประธานกรรมการมาตรฐานบัญชีระหว่างประเทศ (IASB Chairman) และ IASB Member หลายๆ ท่าน นายประสัณห์ เชื้อพานิช นายกสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคธุรกิจชั้นนำของประเทศ เข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการ ตลอดจนประเด็นทางด้านบัญชีในการปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน การจัดสัมมนางาน Thailand IFRS Conference 2016 หรือ การประชุมมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพการจัดงานฯ
ทั้งนี้ IFRS จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (International Accounting Standards Board : IASB) ซึ่งประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกทวีปทั่วโลก ได้แก่ ทวีปแอฟริกา ทวีปเอเชีย-โอเชียเนีย ทวีปยุโรป ทวีปอเมริกาเหนือ รวมจำนวน 14 คน โดยมีประธานคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศคนปัจจุบัน คือ มร.ฮันส์ ฮูเกอร์วอรสท์
************************************
ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฉบับที่ 31 / วันที่ 10 มีนาคม 2559