พาณิชย์ จับมือ ภาคธุรกิจ ส่ง "กิจการเพื่อสังคม" ร่วมสร้างสังคมไทยให้ "สตรอง" !! วางโรดแมพ 3 เสาหลัก พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบธุรกิจผลักดันเป็น "กิจการเพื่อสังคม" เต็มตัว

พาณิชย์ จับมือ ภาคธุรกิจ ส่ง "กิจการเพื่อสังคม" ร่วมสร้างสังคมไทยให้ "สตรอง" !!
วางโรดแมพ 3 เสาหลัก พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบธุรกิจผลักดันเป็น "กิจการเพื่อสังคม" เต็มตัว
 
             "พาณิชย์" เดินหน้าจริงจัง !! จับมือ ภาคธุรกิจ ผลักดัน "กิจการเพื่อสังคม" หรือ Social Enterprise (SE) ร่วมสร้างสังคมไทยให้เข้มแข็ง เบื้องต้น ระดมสรรพกำลังภาคธุรกิจนับ 10 ราย พรั่งพรูแนวคิดการประกอบกิจการเพื่อสังคม พร้อมวางโรดแมพ 3 เสาหลัก พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบธุรกิจไทยผลักดันเป็น "กิจการเพื่อสังคม" เต็มตัว เชื่อ!! การร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือและรับผิดชอบต่อสังคม ระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน จะนำมาซึ่ง พลังมหาศาลและเกิดผลลัพธ์เชิงบวกสู่สังคมไทย
               นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ และเน้นสร้างความเข้มแข็งจากภายในประเทศ (Strength from Within) รวมถึงการนำแนวคิดเรื่องการส่งเสริม "ธุรกิจเพื่อสังคม" มาช่วยเหลือแก้ไขอันจะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้สังคมและเศรษฐกิจของประเทศก้าวสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืนในอนาคต จึงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคธุรกิจ รวมถึง "กิจการเพื่อสังคม" หรือ Social Enterprise (SE) ดำเนินการศึกษา ผลักดัน และส่งเสริมกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ หรือกิจการที่มีเป้าหมาย ในการทำเพื่อสังคม ให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนมากยิ่งขึ้น"
             ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้จับมือสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ และภาคเอกชน บริษัท สังคมสุขภาพ จำกัด บริษัท โอซิซู จำกัด บริษัท กรีนโกรท ออร์แกนิค จำกัด และธนาคารขยะออมทรัพย์ ฯลฯ ร่วมระดมความคิดเห็น แนวคิด และแนวทางการส่งเสริม การประกอบกิจการเพื่อสังคม โดยตัวแทนภาคธุรกิจมองว่าหากภาครัฐต้องการให้กิจการเพื่อสังคมเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนและแพร่หลาย ควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ 7 ประการ คือ 1) การผสานแนวคิดและความรู้ด้านนวัตกรรมทางสังคมในระบบการศึกษา 2) การฝึกอบรมและพัฒนาทักษะของผู้ประกอบการเพื่อสังคม เช่น ด้านการบริหารจัดการ ด้านการตลาด ด้านการเงินและบัญชี เป็นต้น 3) ระบบการจดทะเบียนและกฎระเบียบของกิจการเพื่อสังคม 4) ระบบการสื่อสาร ส่งเสริมช่องทางการตลาด 5) ระบบการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการจากกิจการเพื่อสังคม 6) ระบบการลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุนในกิจการเพื่อสังคม และ 7) สนามการลงทุนเพื่อสังคม
              จากผลการประชุมหารือฯ ดังกล่าว กระทรวงฯ ได้วางโรดแมพ 3 เสาหลัก พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบธุรกิจเพื่อช่วยเหลือและผลักดันให้เป็น "กิจการเพื่อสังคม" เต็มตัว ประกอบด้วย เสาที่ 1) เพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการ มุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริหารจัดการขององค์กรทุกมิติ ได้แก่ วิธีการจัดทำบัญชีที่ถูกต้อง การนำข้อมูลทางบัญชีมาใช้ในการบริหารและตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างแบรนด์และเพิ่มช่องทางการตลาดอย่างคุ้มค่า การประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ เสาที่ 2) การสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยผลักดันให้กิจการเพื่อสังคมที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเข้าสู่ระบบ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดเงินและตลาดทุน โดยการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อให้กิจการเพื่อสังคมรับทราบถึงการใช้ทรัพย์สินเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน รวมถึง การระดมทุนผ่านระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ (Crowd Funding) และตลาดหลักทรัพย์ใหม่ (MAI) เสาที่ 3) การสร้างโอกาสทางการตลาด สร้างช่องทางการขยายตลาดและกระจายสินค้าของกิจการเพื่อสังคมผ่านเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจและการจับคู่พันธมิตรทางธุรกิจภายใต้ฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และผลักดันให้ใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการขยายช่องทางการตลาด
              ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลของสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) มีกิจการที่มีศักยภาพพร้อมที่จะสามารถพัฒนาเป็นกิจการเพื่อสังคม จำนวน 361 กิจการ โดยเป็นกิจการที่เป็นทั้งนิติบุคคลและไม่เป็นนิติบุคคล เช่น วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ซึ่งกระทรวงฯ พร้อมอำนวยความสะดวกด้านการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล การสนับสนุนองค์ความรู้ในการประกอบธุรกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะ ด้านการจัดทำบัญชี การจัดการธุรกิจ และการเปิดโอกาสให้กิจการเพื่อสังคมมีช่องทางในการสร้างเครือข่าย การทำการตลาดและประชาสัมพันธ์สินค้า ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ ของกระทรวงฯ หรือการจับคู่ทางธุรกิจ โดยในกระบวนการพัฒนาจะสร้างความร่วมมือกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงได้นำศักยภาพที่มีเข้าช่วยเหลือและสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "การร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือและรับผิดชอบต่อสังคม ระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ผ่านการประกอบกิจการเพื่อสังคม จะช่วยสร้างให้สังคมมีความเข้มแข็ง และนำมาซึ่งพลังมหาศาลที่จะเกิดผลลัพธ์เชิงบวกสู่สังคมไทยในอนาคต"
 
*********************************
 ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า                                                                                                      ฉบับที่ 2 / วันที่ 4 มกราคม 2559