พาณิชย์เผยปี 58 ต่างชาติหอบเงินลงทุนในไทยกว่า 16,000 ล้านบาท ญี่ปุ่นครองแชมป์อันดับ 1 เตรียมผลักดันปี 59 เป็นปีแห่งการลงทุน

พาณิชย์เผยปี 58 ต่างชาติหอบเงินลงทุนในไทยกว่า 16,000 ล้านบาท
ญี่ปุ่นครองแชมป์อันดับ 1 เตรียมผลักดันปี 59 เป็นปีแห่งการลงทุน
 
          นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ในปี พ.ศ. 2558 ( มกราคม-ธันวาคม 2558) การอนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจมีอัตราลดลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา โดยมีการอนุญาตจำนวน 404 ราย สืบเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่ชัดเจนทางการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติ มีความกังวลอันส่งผลทางจิตวิทยาในการลงทุน ทั้งนี้สถิติการอนุญาตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา มีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 14 ต่อปี
           สำหรับมูลค่าการลงทุนในธุรกิจของคนต่างด้าวในปี พ.ศ. 2558 มีจำนวน 16,088 ล้านบาท ลดลงจาก ปี พ.ศ. 2557 จำนวน 48,350 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 75 สาเหตุเนื่องจากในปี พ.ศ. 2557 มีการอนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ จำนวน 2 ราย (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารพาณิชย์จีน) และการให้บริการทางการเงินอื่น ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง เช่น ธุรกิจให้สินเชื่อส่วนบุคคล ธุรกิจให้เช่าซื้อและลิสซิ่ง และธุรกิจบัตรเครดิต เป็นต้น สำหรับประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจ ของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น (ร้อยละ 40) สิงคโปร์ (ร้อยละ 15) และจีน (ร้อยละ 8) ส่วนมูลค่าการลงทุนในปี พ.ศ.2558 คนต่างด้าวสัญชาติญี่ปุ่นมีการลงทุนที่มีมูลค่าสูงที่สุด จำนวน 8,481 ล้านบาท รองลงมาคือ ฝรั่งเศส 1,352 ล้านบาท และจีน 1,175 ล้านบาท
           โดยประเภทธุรกิจที่คนต่างด้าวขออนุญาตมากที่สุด คือ ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือและในกลุ่มได้รับการอนุญาตมากที่สุด จำนวน 111 ราย คิดเป็นร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับธุรกิจประเภทอื่นที่ขออนุญาตทั้งหมด ทั้งนี้การอนุญาตมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสูงที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ. 2554 - 2558) เมื่อเทียบกับธุรกิจประเภทอื่นที่ได้รับอนุญาต โดยมีการอนุญาตเฉลี่ยปีละ 113 ราย คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 13 ต่อปี รองลงมาคือธุรกิจบริการเป็นสำนักงานผู้แทนได้รับอนุญาตจำนวน 98 ราย คิดเป็นร้อยละ 24 ของปริมาณการขออนุญาตทั้งหมด ทั้งนี้กิจกรรม 3 อันดับแรกที่สำนักงานผู้แทนขออนุญาต ได้แก่ การรายงานความเคลื่อนไหวทางธุรกิจ (ร้อยละ 39) การให้คำแนะนำเกี่ยวกับสินค้า(ร้อยละ 31) และการหาแหล่งจัดซื้อสินค้า ตรวจสอบคุณภาพของสินค้า (ร้อยละ 18) ซึ่งธุรกิจนี้มีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 11 หรือได้รับอนุญาตเฉลี่ย 85 รายต่อปี
            ส่วนแนวโน้มการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในปี พ.ศ. 2559 การอนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจ คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับอัตราเติบโตเฉลี่ยเดิมร้อยละ 14
            โดยประเภทธุรกิจที่คนต่างด้าวจะขออนุญาตในปี พ.ศ.2559 มากที่สุด คาดว่าคือธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือและในกลุ่ม และจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นธุรกิจที่อำนวยความสะดวกต่อ การดำเนินธุรกิจให้แก่ธุรกิจหลัก เพื่อให้การดำเนินงานและการบริหารจัดการของบริษัทในเครือหรือในกลุ่มมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนในการดำเนินงาน และเป็นมาตรฐานเดียวกัน อาทิ ธุรกิจให้กู้ยืมเงิน บริการทางบัญชีและกฎหมาย ให้เช่าที่ดิน เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตและมีศักยภาพใน การรองรับการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industry) ของกลุ่มธุรกิจข้ามชาติ ส่วนธุรกิจที่คนต่างด้าวจะขออนุญาตเป็นลำดับรองลงมาคาดการณ์ว่ายังคงเป็นธุรกิจบริการเป็นสำนักงานผู้แทนเช่นเดียวกับปี พ.ศ. 2558 เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เป็นกลไกสำคัญต่อสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศใน การเข้าถึงข้อมูลในประเทศไทยและข้อมูลในภูมิภาคอาเซียน โดยคาดว่าปริมาณคำขอของธุรกิจดังกล่าวในปี พ.ศ. 2559 จะเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมให้ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของภูมิภาคเอเชีย และกลุ่มอาเซียน ในการส่งเสริมธุรกิจบริการเป็นสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters : IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Center : ITC) )
             นอกจากนี้ ธุรกิจบริการที่เป็นคู่สัญญากับภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจ คาดว่าคนต่างด้าวจะขออนุญาตเพิ่มจำนวนมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะผลักดันให้ปี พ.ศ. 2559 เป็นปีแห่งการลงทุน โดยเฉพาะแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะขนาดใหญ่ของประเทศ และมาตรการเร่งรัดการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน อีกทั้งรัฐบาลยังได้เห็นชอบมาตรการเร่งรัดโครงการ ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ The Public-Private Partnership Fast Track (PPP Fast Track) ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและขั้นตอนในการพิจารณาให้รวดเร็วขึ้น เพื่อจูงใจให้เกิดการขยายตัวในการลงทุน และปรับตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของภาครัฐและเอกชน โดยคาดการณ์ว่าการขออนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในปี พ.ศ. 2559 จะเป็นการทำธุรกิจก่อสร้าง การทำธุรกิจบริการออกแบบ จัดหา พัฒนาและติดตั้ง รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาโครงการให้แก่ภาครัฐซึ่งเป็นธุรกิจบัญชีสาม (10) และ (21) อันเป็นธุรกิจบัญชีท้าย ตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างชาติ พ.ศ. 2542
 
***************************************
ที่มา : กองบริหารการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ                                                                                       ฉบับที่ 1 / 2 มกราคม 2559