แผนบูรณาการภาครัฐ-เอกชน ช่วยเหลือ SMEs ฉลุย 'พาณิชย์' เตรียมผลักดันสุดยอด SMEs ที่ผ่านการคัดเลือก 230 ราย

แผนบูรณาการภาครัฐ-เอกชน ช่วยเหลือ SMEs ฉลุย
'พาณิชย์' เตรียมผลักดันสุดยอด SMEs ที่ผ่านการคัดเลือก 230 ราย
ชื่อมโยงตลาดท้องถิ่นสู่ภูมิภาคและสากล พร้อมใช้ อี-คอมเมิร์ช ขยายตลาดคนรุ่นใหม่
ยึดหลักขยายตลาดคู่ขนาน ปิดช่องโหว่ปัญหาหลัก "ไม่มีตลาดระบายสินค้า"
 
 
        แผนบูรณาการภาครัฐ-เอกชน ช่วยเหลือ SMEs ฉลุย 4 หน่วยงานหลักของประเทศ พาณิชย์ อุตสาหกรรม สสว. และสภาหอการค้าไทย ผนึกกำลังส่งต่อสร้างความเข้มแข็ง SMEs แตะมือผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดทั่วประเทศเฟ้นหาสุดยอด SMEs จังหวัด ล่าสุดผ่านการคัดเลือก 230 ราย เตรียมผลักดันขยายตลาดสู่ภูมิภาคและต่างประเทศ พร้อมใช้ อี-คอมเมิร์ช ขยายตลาดคนรุ่นใหม่ ยึดหลักขยายตลาดคู่ขนาน ปิดช่องโหว่ปัญหาหลัก "ไม่มีตลาดระบายสินค้า"
        นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อน SMEs ไทยให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และเกิดการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจระหว่างประเทศ พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ล่าสุด 4 หน่วยงานหลักของประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดทำแผนบูรณาการสร้างความเข้มแข็งแก่ SMEs พร้อมขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เฟ้นหาสุดยอด SMEs ในแต่ละจังหวัด เพื่อนำมาพัฒนาศักยภาพทุกๆ ด้าน และส่งเสริมด้านการตลาด ก่อนพาโรดโชว์รุกตลาดต่างประเทศ"
       "การเฟ้นหาสุดยอด SMEs จังหวัด เป็นโครงการนำร่องในการส่งเสริม SMEs ของภาครัฐ โดยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศคัดเลือกผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นที่สุดในแต่ละจังหวัด โดยแบ่งตามศักยภาพของธุรกิจ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเริ่มต้น หรือ Start up 0-3 ปี กลุ่มที่มีศักยภาพ หรือ Rising Star และกลุ่มที่อยู่ในช่วงปรับตัว หรือ Turn Around ซึ่งหลังจากการคัดเลือก ปรากฏว่า มีผู้ประกอบการ SMEs ที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 230 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในภาคการผลิต ร้อยละ 65 (150 ราย) ภาคการค้าและบริการ ร้อยละ 18 (41 ราย) และภาคเกษตรอุตสาหกรรม ร้อยละ 17 (39 ราย) ซึ่งในจำนวนผู้ประกอบการทั้ง 230 รายนี้ มีความพร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้ทันที จำนวน 99 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 43"
        หลังจากนั้น จะส่งต่อให้ "กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์" ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางของกระทรวงพาณิชย์ในการบูรณาการภารกิจช่วยเหลือ SMEs โดยจะนำผู้ประกอบการฯ ที่ผ่านการคัดเลือก มาดำเนินการพัฒนาศักยภาพแบบเข้มข้นและเกิดความยั่งยืน ได้แก่ 1) การวิเคราะห์ตัวตนของผู้ประกอบการ/ธุรกิจ (การวิเคราะห์โครงสร้างอุตสาหกรรมและการตรวจเช็คศักยภาพตำแหน่งปัจจุบันของ SMEs) 2) การกำหนดและการสร้างโอกาสเข้าถึงกลุ่มลูกค้า (เข้าใจพฤติกรรมลูกค้า การสร้างเครื่องมือทางการตลาดใหม่ๆ) 3) การสื่อสารและสร้างกลยุทธ์การตลาด (การเข้าใจพฤติกรรมตลาดมองหาลูกค้ากลุ่มเดิมเสริมลูกค้ากลุ่มใหม่ การวิเคราะห์คุณค่าเปรียบเทียบตลาดกับการตอบสนองความต้องการของลูกค้า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งตัวสินค้าและบรรจุภัณฑ์ วิเคราะห์เปรียบเทียบผลตอบแทนในแต่ละช่องทางการขายโดยคำนึงถึงต้นทุนและผลลัพธ์ที่ได้) และ 4) ส่งเสริมการขายและขยายตลาด (ฝึกฝนทักษะในเรื่องคู่ค้า เทคนิคการนำเสนอ และการเจรจาต่อรองธุรกิจ)
         อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า "กรมฯ ได้แบ่งพื้นที่การเข้าพัฒนาศักยภาพแบบเข้มข้น ออกเป็นพื้นที่ 18 กลุ่มจังหวัด เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ SMEs 230 รายที่ผ่านการคัดเลือก โดยกรมฯ จะส่งเจ้าหน้าที่พร้อมทีมงานเข้าพื้นที่ของผู้ประกอบการเพื่อดำเนินการพัฒนาศักยภาพตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้ พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศให้เข้ามาเป็นเครือข่าย และเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดการต่อเนื่อง รวมถึงการช่วยแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดและรวดเร็ว ติดตามประเมินผลที่ได้รับ และกรมฯ จะทำการตรวจเช็คและตรวจสอบสถานะของธุรกิจเป็นระยะ สร้างเครือข่ายธุรกิจระหว่างกัน เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดการแลกเปลี่ยน ร่วมมือ และนำไปสู่การร่วมธุรกิจสร้างผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งผู้ประกอบการและธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง และตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น"
        "หลังจากนั้น กรมฯ จะร่วมมือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ในตลาดทุกระดับ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่สอดคล้องกับศักยภาพของ SMEs แต่ละราย รวมทั้ง จะใช้หลักการขยายตลาดแบบคู่ขนาน คือ ใช้ช่องทางอี-คอมเมิร์ช ในการขยายตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ในการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และสมาร์ทโฟนมากยิ่งขึ้น ซึ่ง อี-คอมเมิร์ช เป็นช่องทางการขยายตลาดได้ดี ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดในประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ในการให้บริการ 4 จี ของผู้ประกอบการโทรคมนาคม ยิ่งจะช่วยผลักดันให้อี-คอมเมิร์ชขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวในอนาคตอันใกล้"
         ทั้งนี้ ปัญหาหลักที่เป็นปัญหาพื้นฐานของ SMEs ไทย คือ การไม่มีตลาดระบายสินค้า หรือ หาตลาดจำหน่ายสินค้าไม่ได้ ดังนั้น "การขยายตลาดแบบคู่ขนาน" จะเป็นการปิดช่องโหว่ปัญหาหลักด้านการระบายสินค้า ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการ SMEs ได้รับการพัฒนาศักยภาพแบบเข้มข้น จนมีองค์ความรู้/ทักษะในการบริหารจัดการ และมีช่องทางในการเข้าถึงตลาดอย่างชัดเจน ก็จะทำให้ SMEs ของไทย มีขีดความสามารถในการรับมือได้ทุกสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทั้งของเศรษฐกิจและผู้บริโภคเพิ่มขึ้น มีความเข้มแข็ง แข็งแรง มีการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้คือ ประเทศโดยรวม มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล
 
******************************
ที่มา : กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ                                                                    ฉบับที่ 120 / 8 ธันวาคม 2558