ว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองธุรกิจพัฒนา พ.ศ. ๒๕๔๘(ลงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๘)

ข้อบังคับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองธุรกิจพัฒนา
พ.ศ. ๒๕๔๘

--------------------------------------------------------------------------------

 

ด้วยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้กำหนดให้มีเครื่องหมายรับรองธุรกิจพัฒนาขึ้น เพื่อออกให้กับผู้ประกอบธุรกิจสำหรับใช้แสดง ณ สถานประกอบธุรกิจ เพื่อแสดงว่าธุรกิจดังกล่าว ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาด้านการบริหารจัดการ และการตลาดจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการใช้เครื่องหมายดังกล่าว อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า "ข้อบังคับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองธุรกิจพัฒนา พ.ศ. ๒๕๔๘"

ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นต้นไป

ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
"เครื่องหมายรับรอง" หมายถึง เครื่องหมายรับรองธุรกิจพัฒนาที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ออกให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อแสดงว่าธุรกิจดังกล่าวเป็นธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริม และพัฒนาด้านการบริหารจัดการและการตลาดจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยมีรูปแบบตามที่แนบไว้ท้ายข้อบังคับนี้
"กรม" หมายถึง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
"อธิบดี" หมายถึง อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
"หนังสืออนุญาต" หมายถึง หนังสืออนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรอง
"ผู้ประกอบธุรกิจ" หมายถึง ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือบริการประเภทที่กรมจัดให้มีการส่งเสริมและพัฒนา

ข้อ ๔ ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์จะขอใช้เครื่องหมายรับรอง จะต้องมีคุณสมบัติ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล
(๒) เป็นธุรกิจการค้าหรือบริการ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ท้ายข้อบังคับนี้
(๓) ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรพัฒนาธุรกิจของแต่ละประเภทธุรกิจที่กรมกำหนด
(๔) ธุรกิจที่ประกอบมีการจัดทำบัญชี

ข้อ ๕ ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์จะขอใช้เครื่องหมายรับรอง ให้ยื่นคำขออนุญาตพร้อมเอกสารประกอบ ตามแบบที่แนบท้ายข้อบังคับนี้ ณ สถานที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ธุรกิจที่มีสถานที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำขอ ณ สำนักส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
(๒) ธุรกิจที่มีสถานที่ตั้งในจังหวัดอื่น ให้ยื่นคำขอ ณ สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด ในจังหวัดนั้น ๆ

ข้อ ๖ การอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรอง กรมจะมอบแผ่นป้ายเครื่องหมายรับรอง และออกหนังสืออนุญาต ตามแบบที่แนบท้ายข้อบังคับนี้ให้ไว้เป็นหลักฐาน
การอนุญาตตามวรรคแรก กรมอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตปฏิบัติเพิ่มเติมก็ได้

ข้อ ๗ หนังสืออนุญาตมีกำหนดระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่ออกหนังสืออนุญาต
การต่ออายุหนังสืออนุญาต ให้ผู้ประสงค์จะขอต่อหนังสืออนุญาตยื่นคำขอ ณ สำนักส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ หรือ สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายใน ๓๐ วัน ก่อนวันที่หนังสืออนุญาตสิ้นอายุ และให้นำความในข้อ ๔ ข้อ ๕ และข้อ ๖ มาใช้บังคับกับการต่ออายุหนังสืออนุญาตโดยอนุโลม

ข้อ ๘ ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองอาจได้รับสิทธิประโยชน์อย่างอื่น ดังต่อไปนี้
(๑) มีสิทธิเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มเติมหรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของกรม
(๒) ได้รับการสนับสนุนในด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการตลาด
(๓) ได้รับการสนับสนุนในการจัดหาแหล่งเงินกู้เพื่อพัฒนาธุรกิจจากสถาบันการเงินที่ได้ทำความตกลงกับกรมไว้
(๔) สิทธิในการเข้าร่วมโครงการ Fast Track กับหน่วยงานของกรมและหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนหน่วยงานอื่นที่ได้ทำความตกลงกับกรมไว้
(๕) ได้รับการสนับสนุนในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์
(๖) ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ ตามที่กรมกำหนด

ข้อ ๙ ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองมีหน้าที่ต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) ติดตั้งแผ่นป้ายเครื่องหมายรับรองที่ได้รับไว้บริเวณที่เหมาะสมด้านหน้าของสถานที่ประกอบธุรกิจ ตามที่ได้รับอนุญาตและห้ามมิให้นำเครื่องหมายรับรองไปใช้เพื่อการอื่น
(๒) แสดงหนังสืออนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ชัดเจน ณ สถานที่ประกอบธุรกิจ ตามที่ได้รับอนุญาต
(๓) ดำรงไว้ซึ่งคุณสมบัติของผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองตลอดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต
(๔) ให้คำปรึกษาแนะนำและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้ประกอบธุรกิจอื่นๆ

ข้อ ๑๐ ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรอง ต้องยินยอมให้เจ้าหน้าที่ของกรม หรือผู้ที่กรมมอบหมายเข้าตรวจสอบกำกับดูแลการใช้เครื่องหมายรับรองตามข้อบังคับนี้ และจะต้องอำนวยความสะดวกตามสมควรในการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่

ข้อ ๑๑ กรมมีอำนาจสั่งพักใช้เครื่องหมายรับรองในกรณีผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาต ให้ใช้เครื่องหมายรับรองประกอบธุรกิจโดยมีพฤติกรรมที่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือความมั่นคงของประเทศ หรือไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือใช้เครื่องหมายรับรองในลักษณะที่อาจทำให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเข้าใจผิดในเครื่องหมายรับรอง
ในกรณีที่กรมสั่งพักใช้เครื่องหมายรับรอง ผู้ถูกสั่งพักใช้เครื่องหมายรับรองสามารถชี้แจง โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่ออธิบดีได้ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่กรมสั่งพักใช้เครื่องหมายรับรอง ถ้าอธิบดีพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกสั่งพักใช้เครื่องหมายรับรองไม่ได้กระทำความผิดตามวรรคแรก กรมจะอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองนั้นต่อไป แต่ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกสั่งพักใช้เครื่องหมาย รับรองได้กระทำความผิดจริง หรือผู้ถูกสั่งพักใช้เครื่องหมายรับรองไม่ชี้แจงภายในระยะเวลาที่กำหนด กรมจะเพิกถอนการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองนั้น

ข้อ ๑๒ กรมอาจเพิกถอนการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองได้ หากผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองขาดคุณสมบัติหรือไม่ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขข้อใดที่กำหนดไว้ในข้อ ๔ และข้อ ๙ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาต ให้ใช้เครื่องหมายรับรอง ปฏิบัติเพิ่มเติมตามข้อ ๖ หรือไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ หรือไม่อำนวยความสะดวกในการตรวจสอบตามข้อ ๑๐

ข้อ ๑๓ ในกรณีที่กรมสั่งพักหรือเพิกถอนการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรอง ผู้ประกอบธุรกิจที่ถูกสั่งพักหรือเพิกถอนการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองต้องหยุดใช้เครื่องหมายรับรองนั้นทันที นับแต่วันที่กรมสั่งพักหรือเพิกถอนการอนุญาตและคืนหนังสืออนุญาตพร้อมแผ่นป้ายเครื่องหมายรับรอง ให้กรมภายใน ๗ วัน นับแต่วันดังกล่าว
ผู้ประกอบธุรกิจที่ถูกสั่งพักหรือเพิกถอนการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองผู้ใดฝ่าฝืนใช้เครื่องหมายรับรอง ในระหว่างที่ถูกสั่งพักหรือเพิกถอนการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองต้องรับผิด ชดใช้ค่าเสียหาย ให้กรมในอัตราวันละห้าพันบาท จนกว่าจะได้เลิกใช้

ข้อ ๑๔ ผู้ประกอบธุรกิจที่เคยถูกสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรอง ตามข้อ ๑๑ และข้อ ๑๒ จะยื่นขออนุญาตใช้เครื่องหมายรับรองใหม่ได้เมื่อพ้นกำหนดห้าปี นับแต่วันที่ถูกเพิกถอน

ข้อ ๑๕ ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเป็นร้านต้นแบบของธุรกิจ แต่ละประเภทและร้านซื้อสะดวกตามโครงการปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๗ ของกรมทุกรายจะได้รับแผ่นป้ายเครื่องหมายรับรอง พร้อมกับหนังสืออนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย รับรองตามข้อบังคับนี้โดยไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตตามข้อ ๕

ข้อ ๑๖ ให้อธิบดีรักษาการตามข้อบังคับนี้

 

ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘
อรจิต สิงคาลวณิช
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

หลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจแต่ละประเภท
แนบท้ายข้อบังคับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ว่าด้วย การใช้เครื่องหมายรับรองธุรกิจพัฒนา
พ.ศ. ๒๕๔๘

--------------------------------------------------------------------------------

 

๑. ประเภทธุรกิจการค้า
๑.๑ ร้านซื้อสะดวก (ร้านค้าปลีก)

(๑) เป็นร้านค้าปลีกที่ได้รับการพัฒนาภาพลักษณ์จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและสามารถรักษาสภาพร้านไว้ได้ดี มีการจัดเรียงสินค้าเป็นหมวดหมู่ สะอาดและมีระเบียบ
(๒) มีสถานที่ตั้งถาวร
(๓) จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวันมากกว่าสินค้าอื่นอย่างน้อยร้อยละ ๘๐ ของสินค้าทั้งหมด
(๔) มีพื้นที่สำหรับจำหน่ายสินค้าไม่น้อยกว่า ๑๖ ตารางเมตร โดยไม่นับพื้นที่เก็บสินค้า
๑.๒ ร้านขายยา
(๑) เป็นร้านขายยาที่ได้รับการพัฒนาภาพลักษณ์จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสามารถรักษาสภาพร้านไว้ได้ดี มีการจัดเรียงยาตรงตามหมวดหมู่ของประเภทยา สะอาดและมีระเบียบ
(๒) มีสถานที่ตั้งถาวร
(๓) กรณีที่มีการขายสินค้าประเภทอื่นร่วมด้วยจะต้องขายยามากกว่าสินค้าอื่นอย่างน้อยร้อยละ ๘๐ ของสินค้าทั้งหมด
(๔) มีใบอนุญาตขายยาของกระทรวงสาธารณสุข
(๕) มีป้ายบอกชื่อเภสัชกรประจำให้ลูกค้าเห็นได้อย่างชัดเจน

๒. ประเภทธุรกิจบริการ
๒.๑ ร้านอาหาร/ ภัตตาคาร

(๑) มีการใช้คู่มือสำหรับพนักงานเพื่อปฏิบัติงานในเรื่อง ดังต่อไปนี้
ก. การบริหารงานบริการ
ข. การบริหารงานครัว
ค. สุขอนามัยในร้านอาหาร
ง. การควบคุมระบบบัญชี
(๒) มีเครื่องแบบสำหรับพ่อครัวและพนักงานต้อนรับ
(๓) มีภาพลักษณ์ที่ดี โดยมีการจัดแบ่งพื้นที่ให้บริการสำหรับเป็นส่วนรับประทานอาหารบาร์เครื่องดื่ม ห้องครัว ห้องล้างจาน และมีห้องน้ำพร้อมทั้งอ่างล้างมือที่สะอาดถูกสุขลักษณะ
(๔) มีการรักษาความสะอาดของพื้นที่ใช้สอยต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ทุกชนิด
(๕) ดำเนินกิจการร้านอาหาร/ภัตตาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า ๓ ปี

๒.๒ ร้านเสริมสวย

(๑) เป็นร้านเสริมสวยที่กระทำการถูกต้องตามกฎระเบียบในการจัดตั้งธุรกิจเสริมสวย เช่น ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจากสำนักงานเขตหรือเทศบาลที่ร้านนั้นตั้งอยู่ หรือได้จดทะเบียนพาณิชย์ กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทำประกันสังคมให้กับพนักงานในร้าน และเสียภาษีอย่างถูกต้อง
(๒) มีการตกแต่งหน้าร้านและในร้านอย่างทันสมัย รวมทั้งมีการจัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยในร้านอย่างชัดเจน คือ พื้นที่ในการตกแต่งทรงผม (ตัด - ไดร์) พื้นที่ในการสระผม พื้นที่เก็บอุปกรณ์ พื้นที่สำหรับพนักงานเก็บเงิน และมีห้องน้ำที่สะอาดเพื่อให้บริการ
(๓) มีการรักษาความสะอาดของพื้นที่หน้าร้านและในร้าน รวมทั้งอุปกรณ์ทุกชิ้นที่ใช้กับลูกค้า
(๔) มีเครื่องแบบสำหรับพนักงาน
๒.๓ ธุรกิจสปาไทย
(๑) มีใบรับรองมาตรฐานสถานประกอบการเพื่อสุขภาพจากกระทรวงสาธารณสุข
(๒) ผู้ดำเนินการต้องเป็นไปตามมาตรฐานผู้ดำเนินกิจการสปาเพื่อสุขภาพ
(๓) ผู้ให้บริการต้องเป็นไปตามมาตรฐานผู้ให้บริการกิจการสปาเพื่อสุขภาพ
(๔) ดำเนินกิจการธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี
(๕) มีเครื่องแบบสำหรับพนักงาน ผู้ให้บริการที่เป็นเอกลักษณ์
๒.๔ ธุรกิจให้คำปรึกษา
(๑) เป็นกิจการที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล และดำเนินธุรกิจให้คำปรึกษามาแล้วไม่น้อยกว่า ๓ ปี
(๒) มีสถานที่ตั้งถาวร และมีภาพลักษณ์ที่ดี
(๓) มีผู้เชี่ยวชาญและผู้ร่วมงานรวมกันไม่น้อยกว่า ๓ คน
(๔) ดำเนินการส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
(๕) ผลประกอบการของธุรกิจในรอบปีที่ผ่านมามีผลกำไร
๒.๕ ธุรกิจอู่ซ่อมรถยนต์
(๑) มีการรักษาความสะอาดบริเวณพื้นที่อู่ซ่อมรถยนต์และบริเวณโดยรอบ
(๒) มีอุปกรณ์และเครื่องมือหลักครบถ้วนในการปฏิบัติงานสำหรับกระบวนการซ่อมสี และตัวถังตามเกณฑ์มาตรฐานของอู่กลางประกันภัย
(๓) มีการกำหนดบริเวณพื้นที่การทำงานอย่างชัดเจน เช่น พื้นที่สำหรับต้อนรับลูกค้า พื้นที่สำหรับบริการด้านบำรุงรักษาและตรวจสอบสภาพรถยนต์ พื้นที่สำหรับการซ่อมเครื่องยนต์ พื้นที่สำหรับการเคาะและห้องพ่นสี เป็นต้น
(๔) มีการกำหนดขั้นตอนการทำงาน (Business Flow) และข้อกำหนดในการปฏิบัติงานของแต่ละขั้นตอนอย่างชัดเจน รวมทั้งมีป้ายบอกลำดับขั้นตอนการให้บริการและสิ่งที่ลูกค้าควรปฏิบัติ
(๕) มีระบบสินค้าคงคลังที่ดี คือ มีการจัดเก็บวัสดุอุปกรณ์อย่างเป็นระเบียบ ง่ายต่อการค้นหา มีการจัดทำรายการวัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนบันทึกการเบิกจ่ายอย่างเป็นระบบสามารถตรวจสอบได้ทันที
(๖) มีระบบมาตรฐาน เช่น ๕ ส. QCC หรือ ISO
(๗) มีการตรวจสอบและทำความสะอาดรถยนต์ก่อนส่งมอบให้แก่ลูกค้า
(๘) มีการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่บุคลากรอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เช่น การอบรมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสายงาน และการประชุมสรุปงานประจำวันเป็นต้น
(๙) มีการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศในงานด้านต่างๆ เช่น ระบบฐานข้อมูลลูกค้า ระบบจัดเก็บสินค้า ระบบบัญชี และการออกใบเสร็จรับเงินให้แกลูกค้า

 

ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
คณิสสร นาวานุเคราะห์
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า