เรื่อง การมอบฉันทะและการออกเสียงลงคะแนนของผู้รับมอบฉันทะ และการส่งหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทมหาชนจำกัด (ลงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖)
ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ------------------------------------------------------------------------------- |
โดยที่พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ หมวด ๗ การประชุมผู้ถือหุ้น ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมอบฉันทะ และการส่งหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ในการที่ผู้ถือหุ้นจะมอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนแทน รวมทั้งการส่งหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทมหาชนจำกัดไว้ ๑. การมอบฉันทะและการออกเสียงลงคะแนนของผู้รับมอบฉันทะ
๑.๑ การมอบฉันทะ
๑.๑.๑ หนังสือมอบฉันทะต้องเป็นไปตามแบบที่นายทะเบียนกำหนดและอย่างน้อยต้องมีรายการตามที่พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๓๔ วรรคสอง กำหนดไว้ ซึ่งนายทะเบียนได้กำหนดแบบหนังสือมอบฉันทะไว้ ๓ แบบ คือ แบบ ก. (แบบทั่วไป) แบบ ข. (แบบกำหนดรายละเอียดที่จะมอบฉันทะ) และแบบ ค. (แบบเฉพาะกรณีผู้ถือหุ้นเป็นผู้ลงทุนต่างประเทศและแต่งตั้งคัสโตเดียนในประเทศไทยเป็นผู้รับฝากและดูแลหุ้น) ตามประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดแบบหนังสือมอบฉันทะ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
๑.๑.๒ ผู้ถือหุ้นที่จะมอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนแทน ต้องมอบฉันทะให้ผู้รับมอบฉันทะเพียงรายเดียวเป็นผู้เข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนน ไม่สามารถแบ่งแยกจำนวนหุ้นเพื่อมอบฉันทะให้ผู้รับมอบฉันทะหลายคนได้ แต่ผู้รับมอบฉันทะคนหนึ่งอาจรับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้นหลายรายได้
๑.๑.๓ ผู้รับมอบฉันทะต้องมอบหนังสือมอบฉันทะให้แก่ประธานที่ประชุมหรือผู้ที่ประธานที่ประชุมกำหนดก่อนผู้รับมอบฉันทะเข้าร่วมประชุม
๑.๒ การออกเสียงลงคะแนนของผู้รับมอบฉันทะ
๑.๒.๑ ในการออกเสียงลงคะแนน ผู้รับมอบฉันทะมีคะแนนเสียงเท่ากับจำนวนหุ้นที่ได้รับมอบฉันทะ เว้นแต่ผู้รับมอบฉันทะจะได้แถลงต่อที่ประชุมก่อนลงคะแนนเสียงว่าตนจะออกเสียงแทนเฉพาะผู้มอบฉันทะเพียงบางคนโดยระบุชื่อและจำนวนหุ้นของผู้มอบฉันทะรายนั้นด้วย
๑.๒.๒ กรณีที่มีการแก้ไขข้อเท็จจริงหรือแก้ไขข้อเสนอในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทมหาชนจำกัด แตกต่างจากที่ได้ระบุไว้ในหนังสือเชิญประชุม ผู้รับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้นสามารถออกเสียงลงคะแนนในวาระที่มีการแก้ไขข้อเท็จจริงหรือข้อเสนอดังกล่าวได้
๑.๒.๓ กรณีที่ผู้มอบฉันทะเป็นคัสโตเดียน (Custodian) ซึ่งใช้หนังสือมอบฉันทะ แบบ ค. นั้น สามารถแบ่งแยกการลงคะแนนเสียงในแต่ละวาระออกเป็นเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียง มากน้อยเพียงใดในแต่ละความเห็นก็ได้
๑.๒.๔ กรณีการออกเสียงลงคะแนนของผู้รับมอบฉันทะนั้น ถือว่าเป็นการลงคะแนนออกเสียงแทนผู้ถือหุ้นที่มอบฉันทะ ดังนั้น แม้ตัวผู้รับมอบฉันทะรวมทั้งผู้รับมอบฉันทะที่เป็นกรรมการอิสระจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในวาระที่จะออกเสียงลงคะแนน ก็ยังคงสามารถออกเสียงลงคะแนนในวาระนั้น ๆ แทนผู้ถือหุ้นซึ่งมิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษได้
๒. การเรียกประชุมผู้ถือหุ้นและการนับวันส่งหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น
๒.๑ การเรียกประชุมผู้ถือหุ้น
๒.๑.๑ ในการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นนั้น คณะกรรมการต้องจัดทำหนังสือนัดประชุม ระบุสถานที่ วัน เวลา ระเบียบวาระการประชุม และเรื่องที่จะเสนอต่อที่ประชุมพร้อมด้วยรายละเอียดตามสมควร โดยระบุให้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่จะเสนอเพื่อทราบ เพื่ออนุมัติ หรือเพื่อพิจารณา แล้วแต่กรณี รวมทั้งความเห็น ของคณะกรรมการในเรื่องดังกล่าว และจัดส่งให้ผู้ถือหุ้นและนายทะเบียนทราบไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันประชุม และโฆษณาคำบอกกล่าวนัดประชุมในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยที่จัดพิมพ์จำหน่าย ณ ท้องที่อันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทมีกำหนดเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามวัน ล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าสามวันด้วย
๒.๑.๒ การส่งหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นนั้น ผู้มีหน้าที่ส่งหรือผู้แทน จะส่งมอบให้แก่ผู้รับหรือผู้แทนของผู้รับโดยตรง หรือจะส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงผู้รับ ณ สถานที่อยู่ของผู้รับซึ่งแจ้งแก่ผู้ส่งไว้แล้ว หรือถ้าไม่มีการแจ้งไว้ล่วงหน้า จะส่ง ณ สถานที่อยู่อันเป็นภูมิลำเนาของผู้รับก็ได้
๒.๒ การนับวันส่งหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น
ในการนับวันส่งหนังสือนัดประชุมทางไปรษณีย์ ให้ถือเอาวันที่ไปรษณีย์ประทับตราประจำวันของที่ทำการรับฝาก เป็นวันเริ่มต้นแห่งการนับระยะเวลาการส่งหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นตามกฎหมาย เนื่องจากพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ มิได้บัญญัติว่าให้เริ่มนับระยะเวลาการส่งหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นตั้งแต่วันใด เพียงแต่กำหนดให้ส่งหนังสือนัดประชุมให้ผู้ถือหุ้นและนายทะเบียนทราบไม่น้อยกว่า เจ็ดวันก่อนวันประชุม ส่วนระยะเวลาที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับหนังสือนัดประชุมนั้น กฎหมายมิได้กำหนดไว้ |
ประกาศ ณ วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖ |