ระเบียบสำนักงานกลางทะเบียนหอการค้า ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหอการค้า พ.ศ. ๒๕๕๔ (ลงวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๔)

ระเบียบสำนักงานกลางทะเบียนหอการค้า
ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการปฏิบัติตามกฎหมาย
ว่าด้วยหอการค้า พ.ศ. ๒๕๕๔

--------------------------------------------------------------------------------

 

          โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขปรับปรุงระเบียบสำนักงานกลางทะเบียนหอการค้าว่าด้วยการจดทะเบียนหอการค้าฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้เหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการนำหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติใน การพิจารณาและออกคำสั่งทางปกครองที่ถูกต้อง ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมากำหนดไว้ด้วย นายทะเบียนกลางหอการค้า จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

          ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบสำนักงานกลางทะเบียนหอการค้า ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหอการค้า พ.ศ. ๒๕๕๔"

          ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

          ข้อ ๓ ให้ยกเลิก
          (๑) ระเบียบสำนักงานกลางทะเบียนหอการค้า ว่าด้วยการจดทะเบียนหอการค้า พ.ศ. ๒๕๔๗
          (๒) ระเบียบสำนักงานกลางทะเบียนหอการค้า ว่าด้วยการจดทะเบียนหอการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๒
บรรดาคำสั่ง ประกาศ และระเบียบอื่นใดในส่วนที่ได้กำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน

หมวด ๑
บททั่วไป

          ข้อ ๔ ในระเบียบนี้
          "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
          "นายทะเบียน" หมายความว่า นายทะเบียนหอการค้าประจำจังหวัด และนายทะเบียนหอการค้าประจำกรุงเทพมหานคร
          "พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙ 
          "สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานทะเบียนหอการค้าประจำจังหวัดและสำนักงานทะเบียนหอการค้าประจำกรุงเทพมหานคร
          "การขออนุญาต" หมายความว่า การขออนุญาตจัดตั้งหอการค้า
          "การขอจดทะเบียน" หมายความว่า การขอจดทะเบียนตั้งหรือเปลี่ยนตัวกรรมการ หรือการขอจดทะเบียนข้อบังคับ หรือแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับของหอการค้า
          "การแจ้ง" หมายความว่า การแจ้งเลิกหอการค้า หรือการแจ้งเสร็จการชำระบัญชีหอการค้า
          "คำขอ" หมายความว่า คำขออนุญาตจัดตั้ง หรือคำขอจดทะเบียนตั้งหรือเปลี่ยนตัวกรรมการ หรือคำขอจดทะเบียนข้อบังคับหรือแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับ หรือคำขอแจ้งเลิก หรือคำขอแจ้งเสร็จการชำระบัญชีของหอการค้า

          ข้อ ๕ การขออนุญาต การขอจดทะเบียน หรือการแจ้งที่ได้ยื่นต่อสำนักงานใด ให้นายทะเบียนสำนักงานนั้นพิจารณาสั่งการอนุญาต รับจดทะเบียน หรือรับแจ้ง หรือไม่อนุญาต ไม่รับจดทะเบียน หรือไม่รับแจ้งได้เองทั้งหมด
          คำขอใดมีปัญหาข้อเท็จจริง ปัญหาข้อกฎหมาย หรือมีการคัดค้านการขออนุญาต การขอจดทะเบียนหรือการแจ้ง นายทะเบียนสามารถตรวจพิจารณาสั่งการอนุญาต รับจดทะเบียน รับแจ้ง หรือไม่อนุญาตไม่รับจดทะเบียน หรือไม่รับแจ้งได้เอง และเมื่อดำเนินการแล้ว ให้รายงานให้นายทะเบียนกลางหอการค้าทราบภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ได้พิจารณาสั่งการ
          คำขอใดที่นายทะเบียนไม่อาจพิจารณาสั่งการได้ ให้สรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และทำความเห็นแสดงเหตุผลเสนอตามลำดับชั้นถึงนายทะเบียนกลางหอการค้าเพื่อวินิจฉัยสั่งการ
          การขออนุญาต การขอจดทะเบียน หรือการแจ้งใดที่ได้ยื่นต่อสำนักงานที่มิได้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ แต่นายทะเบียนพิจารณาเห็นควรอนุญาต หรือรับจดทะเบียน หรือให้รับได้ ให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามวรรคสามโดยอนุโลม

          ข้อ ๖ การขออนุญาต การขอจดทะเบียน หรือการแจ้งใดที่นายทะเบียนได้พิจารณาสั่งการอนุญาตรับจดทะเบียน หรือได้รับไว้แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลและภาพคำขอ พร้อมเอกสารประกอบเข้าระบบคอมพิวเตอร์โดยทันที

          ข้อ ๗ สำเนาเอกสารประกอบคำขอที่ยื่นต่อนายทะเบียน ให้ผู้ขออนุญาต ผู้ขอจดทะเบียน หรือ ผู้แจ้งอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้อง

          ข้อ ๘ ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๖๖ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาปรับใช้สำหรับคำขอใดที่ไม่ได้ยื่นภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดเพราะมีพฤติการณ์ที่จำเป็น อันมิได้เกิดจากความผิดของผู้มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนหรือแจ้ง ถ้าผู้นั้นมีหนังสือขอขยายเวลาโดยแจ้งพฤติการณ์ที่จำเป็นต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่พฤติการณ์เช่นว่านั้นสิ้นสุดลง นายทะเบียนอาจขยายเวลาให้ได้ตามที่เห็นสมควร

          ข้อ ๙ ในการขออนุญาต การขอจดทะเบียน หรือการแจ้งตามระเบียบนี้ ให้ผู้ขออนุญาต ผู้ขอจดทะเบียน ผู้แจ้ง หรือผู้รับมอบอำนาจ ซึ่งเป็นผู้มาติดต่อแสดงบัตรประจำตัวของตน ต่อนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่
          บัตรประจำตัว ให้หมายถึง บัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวข้าราชการ บัตรประจำตัวพนักงานองค์การของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หนังสือเดินทาง เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง บัตรประจำตัวอื่นที่ทางราชการออกให้ หรือเอกสารอื่นที่ใช้แทนเอกสารดังกล่าวได้ตามกฎหมาย

          ข้อ ๑๐ การแก้ไข ขีดฆ่า หรือตกเติมคำหรือข้อความในคำขอและเอกสารประกอบใด ๆ ให้ผู้ขออนุญาต ผู้ขอจดทะเบียน ผู้แจ้ง หรือผู้รับมอบอำนาจจากบุคคลดังกล่าวโดยหนังสือมอบอำนาจได้ให้อำนาจไว้เป็น ผู้ลงลายมือชื่อกำกับการแก้ไข ขีดฆ่า หรือตกเติม
          การแก้ไข ขีดฆ่า หรือตกเติมคำหรือข้อความในหนังสือมอบอำนาจ จะต้องให้ผู้มอบอำนาจลงลายมือชื่อกำกับการแก้ไข ขีดฆ่า หรือตกเติมนั้น

หมวด ๒
แบบพิมพ์และเอกสารที่ใช้ในการขออนุญาต การขอจดทะเบียนและการแจ้งของหอการค้า

          ข้อ ๑๑ คำขอและเอกสารประกอบ ให้ใช้แบบพิมพ์ที่มีรูปแบบ ข้อความ และขนาดตามที่
          นายทะเบียนกำหนด โดยในการยื่นคำขอรวมทั้งเอกสารประกอบ ให้เป็นไปตามรายละเอียดประเภทของการขออนุญาต การขอจดทะเบียน หรือการแจ้งที่กำหนดไว้ท้ายระเบียบนี้

          ข้อ ๑๒ การกรอกข้อความในแบบพิมพ์คำขอ และเอกสารประกอบที่ใช้ในการขออนุญาต
          การขอจดทะเบียน หรือการแจ้ง ให้ใช้พิมพ์ดีด หรือบันทึกข้อมูลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์

          ข้อ ๑๓ เอกสารประกอบคำขอที่เป็นภาษาต่างประเทศ ให้จัดทำคำแปลเป็นภาษาไทย และให้ผู้แปลรับรองความถูกต้องของคำแปลตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

หมวด ๓
การอนุญาตจัดตั้งหอการค้า

          ข้อ ๑๔ การจัดตั้งหอการค้าต้องขออนุญาตต่อนายทะเบียน โดยผู้เริ่มก่อการจัดตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคน ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และเป็นผู้ประกอบวิสาหกิจตามความหมายในกฎหมายว่าด้วยหอการค้า

          ข้อ ๑๕ ผู้ขออนุญาตจะต้องลงลายมือชื่อในคำขอต่อหน้านายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่
          การลงลายมือชื่อต่อหน้านายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ผู้ขออนุญาตต้องแสดงบัตรประจำตัวพร้อมสำเนาหลักฐานดังกล่าว และให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่บันทึกข้อความว่าได้เห็นต้นฉบับแล้ว และลงลายมือชื่อกำกับไว้ในสำเนาด้วย

          ข้อ ๑๖ ในการขออนุญาต ผู้ขออนุญาตต้องเสนอร่างข้อบังคับของหอการค้า ที่จะขอจดทะเบียนไปพร้อมกับการขออนุญาต

          ข้อ ๑๗ เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนตั้งหอการค้า และออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขออนุญาตแล้ว ให้รับจดทะเบียนข้อบังคับของหอการค้านั้นไปพร้อมกัน และให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งไปยังสำนักงานกลางทะเบียนหอการค้าภายในสิบห้าวันทำการ เพื่อประกาศราชกิจจานุเบกษา

          ข้อ ๑๘ ในการพิจารณาความประพฤติของผู้ที่จะเป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้ง ให้ผู้เริ่มก่อการแสดงหนังสือรับรองความประพฤติที่รับรองโดยพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ประจำอยู่ในท้องที่ที่ผู้เริ่มก่อการจัดตั้งมีภูมิลำเนา ข้าราชการพลเรือนประเภทบริหาร ประเภทอำนวยการ ประเภทวิชาการตั้งแต่ระดับปฏิบัติการซึ่งมีอายุงานตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือประเภททั่วไปตั้งแต่ระดับชำนาญงานขึ้นไป
          ในกรณีที่ไม่มีบุคคลตามวรรคหนึ่งรับรอง ให้นายทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบความประพฤติของผู้เริ่มก่อการจัดตั้ง โดยวิธีการตรวจสอบหรือให้ผู้เริ่มก่อการจัดตั้งแสดงหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าผู้เริ่มก่อการจัดตั้งนั้นมีความประพฤติดี

หมวด ๔
การจดทะเบียนตั้งหรือเปลี่ยนตัวกรรมการและแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับ

          ข้อ ๑๙ การขอจดทะเบียนตั้งกรรมการชุดแรกของหอการค้า ให้ผู้เริ่มก่อการอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อในคำขอ
ภายใต้ข้อบังคับของหอการค้า ในการขอจดทะเบียนตั้งหรือเปลี่ยนตัวกรรมการ หรือการขอจดทะเบียนแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับ ให้กรรมการอย่างน้อยหนึ่งคนตามที่ได้จดทะเบียนไว้เดิมลงลายมือชื่อในคำขอ

          ข้อ ๒๐ในการพิจารณาความประพฤติของผู้ที่จะเป็นกรรมการ หากที่ประชุมใหญ่สมาชิกไม่ได้มีการลงมติรับรองความประพฤติของผู้ที่จะเป็นกรรมการไว้ ให้ผู้ที่จะเป็นกรรมการแสดงหนังสือรับรองความประพฤติที่รับรองโดยข้าราชการพลเรือนประเภททั่วไประดับชำนาญงานขึ้นไป ประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการขึ้นไป ประเภทอำนวยการ และประเภทบริหาร หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งประจำอยู่ในท้องที่ที่ผู้จะเป็นกรรมการมีภูมิลำเนาอยู่ หรือจะมาแสดงตนต่อหน้านายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อทำการสอบสวนถึงความประพฤติก็ได้

          ข้อ ๒๑ คำขอซึ่งมิได้มีการลงลายมือชื่อเป็นไปตามข้อ ๑๙ นายทะเบียนจะรับจดทะเบียนได้ต่อเมื่อคำขอนั้นได้ลงลายมือชื่อโดยกรรมการ หรือผู้ที่จะเป็นกรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยมติที่ประชุมใหญ่ หรือมติที่ประชุมคณะกรรมการให้เป็นผู้ยื่นคำขอ และมีหลักฐานอันเป็นเอกสารประกอบการขอจดทะเบียน ดังต่อไปนี้
          (๑) กรณีขอจดทะเบียนโดยอาศัยมติที่ประชุมคณะกรรมการ ให้ผู้ขอจดทะเบียนส่งหลักฐานดังต่อไปนี้
               ก. สำเนาหนังสือบอกกล่าวนัดประชุมคณะกรรมการที่มีระเบียบวาระที่เกี่ยวข้องกับการขอจดทะเบียนพร้อมด้วยหลักฐานการส่งหนังสือบอกกล่าวนัดประชุมนั้น ไปยังกรรมการทุกคนหรือหลักฐานที่รับทราบการนัดประชุมของกรรมการทุกคนหรือหลักฐานอื่นใดแล้วแต่กรณี ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ
               ข. สำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการที่ปรากฏมติในเรื่องที่ขอจดทะเบียน
               ค. สำเนาบัญชีรายชื่อซึ่งปรากฏลายมือชื่อกรรมการที่เข้าประชุม
          (๒) กรณีขอจดทะเบียนโดยอาศัยมติที่ประชุมใหญ่สมาชิก ให้ผู้ขอจดทะเบียนส่งหลักฐานดังต่อไปนี้
               ก. สำเนาหนังสือบอกกล่าวนัดประชุมใหญ่สมาชิกที่มีระเบียบวาระที่เกี่ยวข้องกับการขอจดทะเบียน พร้อมด้วยหลักฐานการส่งหนังสือบอกกล่าวนัดประชุมนั้นไปยังสมาชิกทุกคน หรือหลักฐานที่รับทราบการนัดประชุมใหญ่สมาชิก หรือหลักฐานอื่นใดแล้วแต่กรณีตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ
               ข. สำเนารายงานการประชุมใหญ่สมาชิกที่ปรากฏมติในเรื่องที่ขอจดทะเบียน
               ค. สำเนาบัญชีรายชื่อซึ่งปรากฏลายมือชื่อสมาชิกที่เข้าประชุม

          ข้อ ๒๒ ในกรณีที่มีกรรมการหรือสมาชิกหรือผู้เกี่ยวข้องคัดค้านการจดทะเบียนใด ๆ เป็นหนังสือต่อนายทะเบียนก่อนที่จะได้รับจดทะเบียน ให้นำความในข้อ ๒๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

          ข้อ ๒๓ เมื่อมีผู้คัดค้านการจดทะเบียนและนายทะเบียนพิจารณาเห็นว่า เพื่อเป็นการกำหนดประเด็นข้อคัดค้านให้ชัดเจน หรือเพื่อทราบข้อเท็จจริงอื่นใดเพิ่มเติม ให้นายทะเบียนมีหนังสือลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับ แจ้งประเด็น หรือรายละเอียดที่ต้องการทราบเพิ่มเติมไปยังกรรมการหรือสมาชิก โดยกำหนดเวลาให้ชี้แจงภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ลงในหนังสือ

          ข้อ ๒๔ การพิจารณาคำขอตามข้อ ๑๙ กรณีที่มีผู้คัดค้านการจดทะเบียน และรายชื่อสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมใหญ่ไม่ตรงกับรายชื่อสมาชิกตามสำเนาทะเบียนสมาชิกที่นำส่งไว้ต่อนายทะเบียน จนเป็นเหตุให้เกิดประเด็นหรือข้อพิพาทเกี่ยวกับจำนวนสมาชิกผู้เข้าประชุมใหญ่ หรือเกี่ยวกับสมาชิกภาพของสมาชิกให้เป็นหน้าที่ของผู้ขอจดทะเบียน นำส่งสำเนาทะเบียนสมาชิกฉบับล่าสุดที่มีรายชื่อสมาชิกเป็นปัจจุบันหรือฉบับที่ใช้อ้างอิงในการประชุมใหญ่ต่อนายทะเบียน และให้ถือเอาทะเบียนสมาชิกที่นำส่งใหม่ดังกล่าวนั้นเป็นหลักฐานในการพิจารณา
               หากมีการโต้แย้งในความถูกต้องเกี่ยวกับจำนวนหรือสมาชิกภาพที่ปรากฏตามสำเนาทะเบียนสมาชิกที่นำส่งไว้ต่อนายทะเบียน หรือที่นำส่งใหม่ตามความในวรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียอาจใช้สิทธิทางศาล เพื่อหาข้อยุติในข้อโต้แย้งนั้นก็ได้ และในระหว่างการพิจารณาไม่ปรากฏแก่นายทะเบียนว่าศาลได้มีคำสั่งห้ามนายทะเบียนรับจดทะเบียนไว้เป็นการชั่วคราว หรือมีคำสั่งศาลในทำนองเดียวกัน ก็ให้นายทะเบียนพิจารณาคำขอต่อไป

          ข้อ ๒๕ กรณีที่นายทะเบียนพิจารณารับจดทะเบียนหรือไม่รับจดทะเบียนคำขอใด ที่มีผู้คัดค้านการจดทะเบียนให้นายทะเบียนแจ้งหอการค้าและผู้คัดค้านทราบ พร้อมทั้งแจ้งสิทธิและระยะเวลาในการอุทธรณ์หรือโต้แย้งตามกฎหมายว่าด้วยหอการค้า หรือตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในหมวด ๑๑

หมวด ๕
สมาชิกและทะเบียนสมาชิก

          ข้อ ๒๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๙ ๒๐ ๒๑ ๒๒ และ ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙ และแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหอการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ ให้หอการค้ากำหนดรายละเอียดคุณสมบัติของสมาชิกแต่ละประเภทไว้ในข้อบังคับของหอการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนด้วย

          ข้อ ๒๗ ในกรณีที่สมาชิกของหอการค้าเป็นนิติบุคคล และมีที่ตั้งที่ทำการหลายแห่งหรือมีสำนักงานสาขาให้ถือว่าถิ่นอันเป็นที่ตั้งของที่ทำการหรือของสำนักงานสาขาเป็นภูมิลำเนาของนิติบุคคลนั้น ในการที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของหอการค้าใด ๆ ได้

          ข้อ ๒๘ สำเนาทะเบียนสมาชิกของหอการค้าให้มีรายการและรูปแบบที่กำหนดไว้ท้ายระเบียบนี้
ให้หอการค้ายื่นสำเนาทะเบียนสมาชิกต่อนายทะเบียนภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตหรือนับแต่วันที่หอการค้าได้มีการรับสมาชิกใหม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับทะเบียนสมาชิก
          การยื่นสำเนาทะเบียนสมาชิกต่อนายทะเบียนตามวรรคสอง อาจจะส่งหรือยื่นสำเนาทะเบียนสมาชิก ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผ่นบันทึกข้อมูล (CD หรือ DVD) หรือจัดส่งสำเนาทะเบียนสมาชิกนั้นทางไปรษณีย์ ทั้งนี้ ให้หอการค้าจัดทำหนังสือนำส่ง โดยต้องปรากฏลายมือชื่อของกรรมการอย่างน้อยหนึ่งคนในหนังสือนั้น เมื่อนายทะเบียนรับสำเนาทะเบียนสมาชิกพร้อมหนังสือนำส่งไว้แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลและภาพเอกสารเข้าระบบคอมพิวเตอร์โดยทันที

          ข้อ ๒๙ สำเนาทะเบียนสมาชิกที่หอการค้านำส่งต่อนายทะเบียนนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตรงกับทะเบียนสมาชิกที่หอการค้าเก็บรักษาไว้

หมวด ๖
ตราของหอการค้า

          ข้อ ๓๐ หอการค้าจะมีตราของหอการค้าหรือไม่ก็ได้ หากประสงค์จะมีตราของหอการค้าก็ให้กำหนดรูปแบบของตราไว้ในข้อบังคับของหอการค้า
ตราของหอการค้าต้องไม่มีรูปแบบหรือลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
          (๑) เครื่องหมายตรามหาจักรีบรมราชวงศ์
          (๒) พระบรมราชาภิไธย พระปรมาภิไธยย่อ ของพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล และพระนามาภิไธยย่อของสมเด็จพระอัครมเหสีหรือสมเด็จพระยุพราช
          (๓) พระบรมราชสัญลักษณ์ และพระราชสัญลักษณ์ ของพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสีและสมเด็จพระยุพราช
          (๔) พระมหามงกุฎ มงกุฎขัตติยราชนารี หรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์อื่นใดที่ใกล้เคียงกับมงกุฎ
          (๕) ฉัตรต่างๆ อันเป็นลักษณะของเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ
          (๖) ตราแผ่นดิน ตราราชการ ตราครุฑพ่าห์ ธงหลวง ธงชาติ หรือธงราชการ เว้นแต่จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต
          (๗) พระราชลัญจกร และลัญจกรในราชการ
          (๘) เครื่องหมายกาชาด ชื่อกาชาด กาเยเนวา เครื่องหมายราชการ หรือเครื่องหมายใดๆ ที่ขัดต่อรัฐประศาสโนบายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
          (๙) เครื่องหมายราชการ องค์การ หน่วยงานของรัฐหรือองค์การระหว่างประเทศ ที่ขอสงวนไว้
          (๑๐) สัญลักษณ์ประจำชาติไทย ได้แก่ ช้างไทย ดอกราชพฤกษ์ และศาลาไทย

หมวด ๗
ชื่อของหอการค้า

          ข้อ ๓๑ ชื่อของหอการค้าต้องเป็นอักษรไทย โดยจะมีอักษรต่างประเทศกำกับไว้ท้ายหรือใต้ชื่ออักษรไทยด้วยก็ได้

          ข้อ ๓๒ชื่อของหอการค้าจังหวัดที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร จะต้องประกอบด้วยคำว่า "หอการค้าจังหวัด" และตามด้วยชื่อของจังหวัดอันเป็นที่ตั้งของหอการค้าจังหวัดนั้น สำหรับในกรณีของกรุงเทพมหานคร ให้ใช้ชื่อว่า "หอการค้าไทย"

          ข้อ ๓๓ ชื่อของหอการค้าต่างประเทศ จะต้องปรากฏชื่อประเทศ อันเป็นสัญชาติของสมาชิกส่วนใหญ่ที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือสัญชาติของบุคคลผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นซึ่งลงทุนเกินกึ่งจำนวนของทุนในนิติบุคคล ในกรณีที่สมาชิกเป็นนิติบุคคล ประกอบอยู่ด้วย และให้มีได้เพียงประเทศละหนึ่งหอเท่านั้น

หมวด ๘
การส่งสำเนารายงานประจำปีและสำเนางบดุล

          ข้อ ๓๔ หอการค้าต้องจัดทำงบดุลให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วนำเสนอเพื่ออนุมัติต่อที่ประชุมใหญ่ของหอการค้าภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันที่สิ้นปีการบัญชี ในการนี้ให้หอการค้าจัดทำรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินกิจการเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ในคราวเดียวกับที่เสนองบดุลด้วย
          สำเนางบดุลของหอการค้า ให้กรรมการอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องและประทับตราของหอการค้าไว้ในสำเนางบดุลนั้นทุกหน้า

          ข้อ ๓๕ หอการค้าต้องจัดส่งสำเนารายงานประจำปีและสำเนางบดุลที่ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่มีการประชุมใหญ่
          การนำส่งสำเนารายงานประจำปีและสำเนางบดุลตามวรรคหนึ่ง ให้กรรมการอย่างน้อยหนึ่งคนเป็นผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือนำส่งนั้น เมื่อนายทะเบียนได้รับไว้แล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลและภาพเอกสารเข้าระบบคอมพิวเตอร์โดยทันที
          งบดุลของหอการค้าให้ระบุข้อความในงบดุลด้วยว่า ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ครั้งใด เมื่อวันที่ เดือน ปีใด หากมิได้ระบุข้อความดังกล่าวไว้ ต้องจัดส่งสำเนารายงานการประชุมใหญ่ที่อนุมัติงบดุลนั้นไปพร้อมกับสำเนางบดุลที่นำส่งด้วย

หมวด ๙
การตรวจ คัดสำเนา หรือรับรองสำเนาเอกสาร

          ข้อ ๓๖ การขอตรวจ คัดสำเนา หรือรับรองสำเนาเอกสารเกี่ยวกับหอการค้า ให้ผู้ขอยื่นแบบตามแบบพิมพ์ที่กำหนดไว้ท้ายระเบียบนี้

          ข้อ ๓๗ การขอตรวจหรือคัดสำเนาเอกสารเกี่ยวกับหอการค้าที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของนายทะเบียนในการอนุญาต การรับจดทะเบียน หรือการรับแจ้ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะมีคำสั่งศาลหรือได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่
          ผู้ที่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ตรวจหรือคัดสำเนาเอกสารตามวรรคหนึ่ง จะต้องอยู่ในฐานะผู้ขออนุญาต ผู้ขอจดทะเบียน ผู้ชำระบัญชี ผู้คัดค้าน ผู้มีส่วนได้เสียจากคำสั่งของนายทะเบียน ผู้ซึ่งได้เข้ามาในกระบวนการพิจารณาของนายทะเบียน เนื่องจากสิทธิของบุคคลนั้นจะถูกกระทบกระเทือนจากคำสั่งของนายทะเบียน หรือผู้รับมอบอำนาจจากบุคคลดังกล่าว
          การขอตรวจ หรือคัดสำเนาเอกสารตามวรรคหนึ่ง ต้องทำเป็นหนังสือและระบุเอกสารที่จะขอตรวจหรือคัดสำเนาโดยชัดเจน
ความในข้อนี้มิให้ใช้บังคับแก่การขอตรวจเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องซึ่งกระทำเป็นปกติในการขออนุญาต การขอจดทะเบียน หรือการแจ้ง

          ข้อ ๓๘ การรับรองสำเนาเอกสารเกี่ยวกับหอการค้า ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ลงลายมือชื่อรับรอง โดยมีข้อความดังนี้

          ข้อ ๓๙ หนังสือรับรองความประพฤติของผู้เริ่มก่อการจัดตั้ง หรือหนังสือรับรองประวัติกรรมการของหอการค้าอันถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้ตรวจ คัดสำเนา หรือทำการรับรองสำเนาเอกสารนั้นได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของข้อมูลที่ให้ไว้ล่วงหน้าหรือในขณะนั้น

          ข้อ ๔๐ การยื่นขอใบอนุญาตหอการค้าฉบับใหม่แทนฉบับเดิมที่สูญหายหรือถูกทำลายให้กรรมการหอการค้าหรือผู้รับมอบอำนาจโดยส่งหนังสือมอบอำนาจ ยื่นแบบตามแบบพิมพ์ที่นายทะเบียนกำหนดรูปแบบขึ้นท้ายระเบียบนี้


หมวด ๑๐
การเลิกและชำระบัญชีหอการค้า

          ข้อ ๔๑ เมื่อปรากฏแก่นายทะเบียนว่า หอการค้าใดไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ หรือหยุดดำเนินกิจการตั้งแต่สองปีขึ้นไป หรือหอการค้าขาดส่งสำเนางบดุลและสำเนารายงานประจำปีต่อนายทะเบียนติดต่อกันสามปี นับแต่ปีปัจจุบันย้อนหลังลงไป ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งกรรมการของหอการค้านั้นมาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินกิจการ หรือส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงานของหอการค้า หรือนายทะเบียน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่อาจเข้าไปตรวจสอบในสำนักงานของหอการค้า เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของหอการค้านั้น และหากข้อเท็จจริงปรากฏแก่นายทะเบียนว่าหอการค้าไม่ได้ดำเนินกิจการหรือหยุดดำเนินกิจการตั้งแต่สองปีขึ้นไปแล้ว ก็ให้รายงานเสนอตามลำดับชั้นถึงรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาสั่งให้เลิกหอการค้า

          ข้อ ๔๒ เมื่อหอการค้าได้เลิกกันด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง นอกจากกรณีที่รัฐมนตรีมีคำสั่งให้เลิกตามข้อ ๔๑ ให้หอการค้านั้นแจ้งต่อนายทะเบียนภายในกำหนดเวลาสิบห้าวัน นับแต่วันที่เกิดมีเหตุที่ทำให้เลิกและให้ผู้ชำระบัญชีอย่างน้อยหนึ่งคน ลงลายมือชื่อในคำขอแจ้งเลิกหอการค้า

          ข้อ ๔๓ เมื่อนายทะเบียนได้รับทราบคำสั่งของรัฐมนตรีที่ให้เลิกหอการค้า หรือได้รับการแจ้งเลิกหอการค้าตามข้อ ๔๑ และ ๔๒ ให้นายทะเบียนทำการเพิกถอนใบอนุญาต และขีดชื่อหอการค้าที่เลิกกันนั้นออกจากทะเบียน และให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งไปยังสำนักงานกลางทะเบียนหอการค้าภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่นายทะเบียนเพิกถอนใบอนุญาตและขีดชื่อหอการค้า เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา

          ข้อ ๔๔ การชำระบัญชีของหอการค้าที่ได้มีการเลิกให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของแต่ละหอการค้านั้น หรือเป็นไปตามบทบัญญัติ มาตรา ๔๖ และ ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙

          ข้อ ๔๕ เมื่อหอการค้าได้เลิกกันแล้ว ให้ผู้ชำระบัญชีจัดทำรายงานการชำระบัญชียื่นต่อนายทะเบียนทุกระยะสามเดือน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปของบัญชีที่ชำระอยู่ จนกว่าจะเสร็จการชำระบัญชี

          ข้อ ๔๖ เมื่อการชำระบัญชีของหอการค้าได้เสร็จสิ้นลงก็ให้ผู้ชำระบัญชีแจ้งต่อนายทะเบียน และให้ถือว่าหอการค้านั้นได้ดำเนินการชำระบัญชีจนเสร็จสิ้นแล้ว

          ข้อ ๔๗ ในการรายงานการชำระบัญชีและการแจ้งเสร็จการชำระบัญชีของหอการค้า ให้ผู้ชำระบัญชีอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อในแบบรายงานการชำระบัญชี หรือคำขอแจ้งเสร็จการชำระบัญชีแล้วแต่กรณี

หมวด ๑๑
การอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียน

          ข้อ ๔๘ การแจ้งสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยหอการค้า กรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ตั้งหอการค้า หรือไม่รับจดทะเบียนการแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับของหอการค้า ให้แจ้งคำสั่งเป็นหนังสือโดยระบุเหตุผลของการสั่งให้ผู้ขออนุญาตหรือผู้ขอจดทะเบียนทราบ พร้อมทั้งแจ้งให้ทราบด้วยว่าผู้ขออนุญาตหรือผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อรัฐมนตรีภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
          ในการอุทธรณ์คำสั่งตามความในวรรคหนึ่ง ผู้ขออนุญาตหรือผู้ขอจดทะเบียนจะยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อรัฐมนตรี หรือนายทะเบียน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้ และให้ถือว่าวันที่ยื่นอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นวันที่ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี

          ข้อ ๔๙ การแจ้งสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง กรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนตั้งหรือเปลี่ยนตัวกรรมการ หรือไม่รับจดทะเบียนผู้ใดเป็นกรรมการของหอการค้าหรือไม่รับการแจ้งเลิกหรือการแจ้งเสร็จการชำระบัญชีของหอการค้า ให้แจ้งคำสั่งเป็นหนังสือโดยระบุเหตุผลของการสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนและกรรมการผู้ที่ถูกปฏิเสธการรับจดทะเบียน หรือผู้ชำระบัญชีทราบ พร้อมทั้งแจ้งให้ทราบด้วยว่าผู้ขอจดทะเบียนหรือกรรมการดังกล่าว หรือผู้ชำระบัญชีมีสิทธิอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง

           ข้อ ๕๐ การแจ้งสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามข้อ ๔๘ และ ๔๙ ให้กระทำภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่มีคำสั่ง และให้กระทำโดยวิธีใดวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้
          (๑) แจ้งโดยวิธีส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ
          (๒) ในกรณีที่คู่กรณีหรือผู้รับมอบอำนาจจากคู่กรณี ประสงค์จะมารับหนังสือแจ้งคำสั่งด้วยตนเอง ก็ให้คู่กรณีหรือผู้รับมอบอำนาจนั้นลงลายมือชื่อโดยระบุวันที่รับหนังสือแจ้งคำสั่งไว้เป็นหลักฐานด้วย และให้ถือว่าได้รับทราบคำสั่งนั้นแล้ว
          (๓) แจ้งโดยวิธีอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในหมวด ๔ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙

          ข้อ ๕๑ คำอุทธรณ์หรือข้อโต้แย้งจะต้องทำเป็นหนังสือ โดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงให้ชัดเจน

          ข้อ ๕๒ เมื่อนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับคำอุทธรณ์หรือโต้แย้งแล้ว ให้ดำเนินการ ดังนี้
          (๑) กรณีเป็นการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามข้อ ๔๘ ให้นายทะเบียนพิจารณาสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และความเห็นเสนอตามลำดับชั้นจนถึงรัฐมนตรีผู้มีอำนาจวินิจฉัย หรือดำเนินการตามที่รัฐมนตรีจะพิจารณาเห็นสมควร
          (๒) กรณีเป็นการอุทธรณ์ต่อนายทะเบียนตามข้อ ๔๙ ให้นายทะเบียนเป็นผู้พิจารณา หากเห็นด้วยกับอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ก็ให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่ได้วินิจฉัยไปแล้วได้ ถ้าไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ กรณีอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนอื่นนอกจากนายทะเบียนหอการค้าประจำกรุงเทพมหานคร ให้นายทะเบียนดังกล่าวสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย พร้อมความเห็นเสนอต่อนายทะเบียนกลางหอการค้าเป็นผู้วินิจฉัย แต่หากเป็นกรณีอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนหอการค้าประจำกรุงเทพมหานคร ก็ให้นายทะเบียนสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย พร้อมความเห็นเสนอปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้วินิจฉัย

บทเฉพาะกาล

          ข้อ ๕๓ บรรดาคำขอซึ่งได้ยื่นไว้ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้เป็นไปตามระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ในขณะยื่นคำขอนั้น

          ข้อ ๕๔ คำขอที่ยื่นภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ผู้ขออนุญาตจัดตั้ง ผู้ขอจดทะเบียน และผู้แจ้งจะใช้แบบพิมพ์เดิมที่แนบท้ายระเบียบสำนักงานกลางทะเบียนหอการค้า ว่าด้วยการจดทะเบียนหอการค้า พ.ศ. ๒๕๔๗ ก็ได้

 

สั่ง ณ วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๕
นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

 
  NEXT