พระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙ (รวมล่าสุด)

พระราชบัญญัติ
สมาคมการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙


ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๙
เป็นปีที่ ๒๑ ในรัชกาลปัจจุบัน

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยสมาคมการค้า
          จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้น ไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้

          มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙"

          มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

          มาตรา ๓ บรรดาบทกฎหมาย กฎและข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

หมวด ๑

บททั่วไป

          มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
          "สมาคมการค้า" หมายความว่า สถาบันที่บุคคลหลายคนซึ่งเป็นผู้ประกอบวิสาหกิจ จัดตั้งขึ้นเพื่อทำการส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจอันมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้แบ่งปันกัน
          "ผู้ประกอบวิสาหกิจ" หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบธุรกิจทางการค้า อุตสาหกรรมหรือการเงิน และให้หมายความรวมถึงบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจอื่นใดในทางเศรษฐกิจที่รัฐมนตรีจะได้กำหนดในกฎกระทรวง
          [ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙]  
          [ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๓๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙]   
          "นายทะเบียน" หมายความว่า นายทะเบียนกลางสมาคมการค้า หรือนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี
          "พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
          "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

          มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตรา ท้ายพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการอื่น เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
          กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
          [ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙]
          [ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๐๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙]    
          [ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙]    
          [ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๓๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙]  
          [ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๕๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙]
          [ดูประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๒]   

หมวด ๒

การจัดตั้งสมาคมการค้า

          มาตรา ๖ ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ห้ามมิให้ผู้ประกอบวิสาหกิจตกลง เข้ากันเพื่อทำการส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจในรูปอื่นใดนอกจากเป็นสมาคมการค้าตามพระราชบัญญัตินี้เท่านั้น

          มาตรา ๗* ให้จัดตั้งสำนักงานกลางทะเบียนสมาคมการค้าขึ้นในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อควบคุมการออกใบอนุญาตและการจดทะเบียนสมาคมการค้าทั่วราชอาณาจักร และทำหน้าที่เป็นสำนักงานทะเบียนสมาคมการค้าประจำกรุงเทพมหานคร
          ในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้จัดตั้งสำนักงานทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัด ขึ้นตรงต่อสำนักงานกลางทะเบียนสมาคมการค้า
          ให้อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามอบหมายเป็นนายทะเบียนกลาง สมาคมการค้าและนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำกรุงเทพมหานคร และให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นอกจากกรุงเทพมหานครหรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายเป็นนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัด


          * แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสมาคมการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๓ 
          [ดูระเบียบสำนักงานกลางทะเบียนสมาคมการค้า ว่าด้วยการจดทะเบียนสมาคมการค้า พ.ศ. ๒๕๔๗]
          [ดูระเบียบสำนักงานกลางทะเบียนสมาคมการค้า ว่าด้วยการจดทะเบียนสมาคมการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๒]

          มาตรา ๘ ห้ามมิให้ผู้ใดจัดตั้งสมาคมการค้า เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน
การตั้งสาขาสมาคมการค้าจะกระทำมิได้

          มาตรา ๙ การขออนุญาตนั้น ให้ผู้เริ่มก่อการจัดตั้งมีจำนวนไม่น้อยกว่าสามคนยื่นคำขอต่อนายทะเบียน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
          [ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๐๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙]

          มาตรา ๑๐* เมื่อนายทะเบียนได้รับคำขออนุญาตและพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อบังคับไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่เป็นภัยต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ หรือต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และผู้เริ่มก่อการจัดตั้งเป็นผู้ซึ่งมีความประพฤติดี ให้นายทะเบียนสั่งอนุญาต และออกใบอนุญาตสมาคมการค้าให้แก่ผู้ขออนุญาต พร้อมทั้งจดทะเบียนสมาคมการค้าให้ด้วย


          * แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสมาคมการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๔
ถ้านายทะเบียนมีคำสั่งไม่อนุญาต ให้แจ้งคำสั่งเป็นหนังสือไปยังผู้ขออนุญาตโดยมิชักช้า ผู้ขออนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ โดยยื่นอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรี ภายใน กำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
          การอนุญาตให้ตั้งสมาคมการค้าและการเลิกสมาคมการค้า ให้นายทะเบียนกลางสมาคมการค้าประกาศในราชกิจจานุเบกษา

          มาตรา ๑๑ ให้สมาคมการค้าที่ได้รับใบอนุญาตและจดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล

          มาตรา ๑๒ ถ้าใบอนุญาตสมาคมการค้าสูญหายหรือถูกทำลาย ให้สมาคมการค้ายื่นคำขอรับใบแทน

          มาตรา ๑๓ สมาคมการค้าต้องมีข้อบังคับ และข้อบังคับนั้น อย่างน้อยต้องมีข้อความดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อ
(๒) วัตถุที่ประสงค์
(๓) ที่ตั้งสำนักงาน
(๔) วิธีรับสมาชิกและให้สมาชิกออกจากสมาคมการค้า ตลอดจน สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
(๕) การดำเนินกิจการของสมาคมการค้า การตั้ง การออกจากตำแหน่ง และการประชุมของกรรมการตลอดจนการประชุมใหญ่

ข้อบังคับของสมาคมการค้าต้องนำไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียน พร้อมกับการยื่นคำขออนุญาตจัดตั้งสมาคมการค้า ก่อนออกใบอนุญาต ถ้านายทะเบียนเห็นสมควรจะสั่ง ให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับนั้นก็ได้

          มาตรา ๑๔* (ยกเลิก)


* ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติสมาคมการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๕

          มาตรา ๑๕ ชื่อของสมาคมการค้าต้องเป็นอักษรไทยแต่จะมีอักษรต่างประเทศกำกับไว้ท้าย หรือใต้ชื่ออักษรไทยด้วยก็ได้ และจะใช้ชื่อได้แต่เฉพาะที่ปรากฏในข้อบังคับเท่านั้น ห้ามมิให้ใช้ ข้อความ "แห่งประเทศไทย" หรือข้อความที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน ประกอบเป็นชื่อของสมาคมการค้า
ให้สมาคมการค้าจัดให้มีป้ายชื่ออ่านได้ชัดเจนติดไว้ที่หน้าสำนักงาน

          มาตรา ๑๖ ห้ามมิให้บุคคลใดใช้ชื่อที่มีอักษรไทยประกอบว่า "สมาคมการค้า" หรือ อักษรต่างประเทศซึ่งแปลหรืออ่านว่า "สมาคมการค้า" ในดวงตรา ป้ายชื่อ จดหมาย ใบแจ้งความ หรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับธุรกิจ โดยมิได้เป็นสมาคมการค้า เว้นแต่เป็นการใช้ในการขออนุญาต จัดตั้งสมาคมการค้า

          มาตรา ๑๗ ให้นายทะเบียนมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือเรียก บุคคลใด ๆ มาสอบถาม หรือให้ส่งเอกสารมาเพื่อประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับ การขออนุญาตจัดตั้งสมาคมการค้าได้

หมวด ๓

การดำเนินกิจการของสมาคมการค้า

          มาตรา ๑๘ ให้สมาคมการค้ามีคณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินกิจการของสมาคมการค้า และเป็นผู้แทนของสมาคมการค้าในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการ จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งคนใดหรือหลายคนทำการแทนก็ได้

          มาตรา ๑๙ นอกจากการออกจากตำแหน่งกรรมการตามข้อบังคับของสมาคมการค้าแล้ว ให้กรรมการสมาคมการค้าออกจากตำแหน่งเมื่อเป็นบุคคลล้มละลาย หรือเมื่อต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้ และไม่มีสิทธิเป็นกรรมการสมาคมการค้าใด ๆ อีก เว้นแต่จะพ้นกำหนดสามปีนับแต่ได้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายหรือนับแต่วันพ้นโทษ

          มาตรา ๒๐ สมาชิกของสมาคมการค้ามีสิทธิขอตรวจสอบกิจการ และ ทรัพย์สินของสมาคมการค้าได้ โดยยื่นคำขอเป็นหนังสือต่อสมาคมการค้า

          มาตรา ๒๑ สมาคมการค้าจะดำเนินกิจการได้แต่เฉพาะในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) ส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจประเภทที่อยู่ในวัตถุที่ประสงค์
(๒) สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิก แก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องต่าง ๆ รวมทั้งเจรจาทำความตกลงกับบุคคลภายนอกเพื่อประโยชน์ร่วมกันในการประกอบวิสาหกิจประเภท ที่อยู่ในวัตถุที่ประสงค์ สอดส่องและติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดการค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศ เกี่ยวกับสินค้าที่สมาชิกประกอบวิสาหกิจ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่การค้า การเงิน เศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศ
(๓) ทำการวิจัยเกี่ยวกับการประกอบวิสาหกิจประเภทที่อยู่ในวัตถุที่ประสงค์ แลกเปลี่ยนและเผยแพร่ความรู้ในทางวิชาการ ตลอดจนข่าวสารการค้าอันเกี่ยวกับวิสาหกิจนั้น ๆ
(๔) ขอสถิติหรือเอกสาร หรือขอทราบข้อความใด ๆ จากสมาชิก เกี่ยวกับการดำเนินวิสาหกิจประเภทที่อยู่ในวัตถุที่ประสงค์ ทั้งนี้ด้วยความยินยอมของสมาชิก
(๕) ส่งเสริมคุณภาพของสินค้าที่ผลิตหรือจำหน่ายโดยผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่เป็นสมาชิกให้เข้ามาตรฐาน ตลอดจนวิจัยและปรับปรุงวิธีการผลิตและการค้าให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
(๖) ร่วมมือกับรัฐบาลในการส่งเสริมการค้า อุตสาหกรรม การเงิน หรือธุรกิจอื่นใดในทางเศรษฐกิจอันอยู่ในวัตถุที่ประสงค์
(๗) ส่งเสริมการผลิตเพื่อให้สินค้ามีปริมาณเพียงพอแก่ ความต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ
(๘) ทำความตกลงหรือวางระเบียบให้สมาชิกปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติ เพื่อให้การประกอบวิสาหกิจประเภทที่อยู่ในวัตถุที่ประสงค์ได้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย
(๙) ประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างสมาชิกหรือระหว่างสมาชิก กับบุคคลภายนอกในการประกอบวิสาหกิจ

          มาตรา ๒๒ ห้ามมิให้สมาคมการค้ากระทำการใดๆ ดังต่อไปนี้
          *(๑) ประกอบวิสาหกิจโดยสมาคมการค้านั้นเอง หรือเข้าดำเนินการในการประกอบวิสาหกิจของสมาชิก หรือเข้ามีส่วน ถือหุ้น เป็นหุ้นส่วน หรือร่วมทุนในการประกอบวิสาหกิจกับบุคคลใดๆ เว้นแต่เป็นการถือตราสารหนี้ หรือเข้าถือหุ้นในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้แก่สมาคมการค้า


          * แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสมาคมการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๖
          (๒) ดำเนินการค้าด้วยประการใด ๆ ในอันที่จะกดราคาสินค้า หรือค่าบริการให้ตกต่ำเกินสมควรหรือทำให้สูงเกินสมควร หรือทำให้เกิดปั่นป่วนเกี่ยวกับราคาสินค้าหรือค่าบริการ
          *(๓) ให้เงิน หรือให้กู้ยืมเงินแก่สมาชิกหรือบุคคลอื่นใด เว้นแต่เป็นการให้เพื่อการกุศลสาธารณะ หรือตามหน้าที่ศีลธรรม หรือตามควรแก่อัธยาศัยในสังคม หรือเพื่อเป็นสวัสดิการแก่พนักงานของสมาคมการค้า

          * แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสมาคมการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๗
          (๔) ดำเนินการด้วยประการใด ๆ เพื่อเพิ่ม ลด หรือกำกัดปริมาณ การผลิต ปริมาณสินค้าที่จำหน่ายหรือบริการอื่นและการดำเนินการดังกล่าวนั้น เป็นผลเสียหายแก่ตลาดการค้า การเงิน ภายในหรือภายนอกประเทศ หรือเศรษฐกิจของประเทศ
          (๕) ดำเนินการด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายการแข่งขันอันพึง มีตามปกติวิสัยของการประกอบวิสาหกิจ เว้นแต่จะเป็นการปฏิบัติตามนโยบายหรือระเบียบของทางราชการ
          (๖) ดำเนินการด้วยประการใด ๆ อันอาจเป็นภัยต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ หรือ ต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
          (๗) กีดกันหรือขัดขวางมิให้ผู้ใดซึ่งมีคุณสมบัติที่จะเป็นสมาชิก ได้ตามข้อบังคับของสมาคมการค้าเข้าเป็นสมาชิกหรือบังคับด้วยประการใด ๆ ให้เข้าเป็นสมาชิกโดยผู้นั้น ไม่สมัครใจ หรือให้สมาชิกออกจากสมาคมการค้าโดยเจตนาอันไม่สุจริตหรือขัดต่อข้อบังคับของสมาคมการค้า
          (๘) เปิดเผยสถิติ เอกสาร หรือข้อความอันเกี่ยวกับประโยชน์ส่วนได้เสีย โดยเฉพาะของสมาชิกผู้ใด เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสมาชิกผู้นั้น
          (๙) ให้ หรือยอมให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่กรรมการดำเนินกิจการในหน้าที่ของกรรมการ

          มาตรา ๒๓ ห้ามมิให้สมาคมการค้าแบ่งปันผลกำไร หรือรายได้ให้แก่สมาชิก หรือดำเนินการในทางการเมือง

หมวด ๔

การควบคุมสมาคมการค้า

          มาตรา ๒๔ ให้นายทะเบียนมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือ ให้กรรมการ หรือสมาชิกมาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของสมาคมการค้า หรือให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงาน หรือรายงานการประชุมของสมาคมการค้าได้

          มาตรา ๒๕ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ เข้าไปตรวจสอบในสำนักงานของสมาคมการค้าได้ในระหว่างเวลาทำงานของสมาคมการค้า
          ในการปฏิบัติการตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงบัตรประจำตัวพนักงาน เจ้าหน้าที่ต่อผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง
บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด
          ในการปฏิบัติการของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกหรือช่วยเหลือตามสมควร หรือให้คำชี้แจงแก่นายทะเบียน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ขอร้อง

          มาตรา ๒๖ ให้สมาคมการค้าจัดทำทะเบียนสมาชิกเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานของสมาคมการค้า และให้ส่งสำเนาทะเบียนสมาชิกนั้นแก่นายทะเบียนภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต และจดทะเบียนเป็นสมาคมการค้า ทะเบียนสมาชิกนั้นอย่างน้อยให้มีรายการดังต่อไปนี้
          (๑) ชื่อและสัญชาติของสมาชิก
          (๒) ชื่อที่ใช้ในการประกอบวิสาหกิจและประเภทของวิสาหกิจ
          (๓) ที่ตั้งสำนักงานของสมาชิก
          (๔) วันที่เข้าเป็นสมาชิก
          เมื่อมีการรับสมาชิกใหม่หรือมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับทะเบียนสมาชิก ให้สมาคมการค้าแจ้งการรับสมาชิกใหม่ หรือการเปลี่ยนแปลงนั้น ต่อนายทะเบียน ภายในกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันที่รับสมาชิกใหม่หรือมีการเปลี่ยนแปลง

          มาตรา ๒๗ ให้สมาคมการค้าจัดทำงบดุลอย่างน้อยครั้งหนึ่งทุกรอบสิบสองเดือน อันจัดว่า เป็นรอบปีในทางบัญชีของสมาคมการค้านั้น
          งบดุลนั้นต้องมีรายการแสดงจำนวนสินทรัพย์และหนี้สินของสมาคมการค้า กับทั้งบัญชีรายรับรายจ่าย งบดุลต้องทำให้แล้วเสร็จและจัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วนำเสนอเพื่อ อนุมัติต่อที่ประชุมใหญ่ของสมาคมการค้าภายในกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่สิ้นปีการบัญชี

          มาตรา ๒๘ ให้สมาคมการค้าจัดทำรายงานประจำปี แสดงผลการดำเนินกิจการของสมาคมการค้า เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ในคราวที่เสนองบดุล และ ให้ส่งสำเนารายงานกับงบดุลไปยังนายทะเบียนภายใน กำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่มีการประชุมใหญ่

          มาตรา ๒๙ การแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับของสมาคมการค้าจะกระทำได้ก็แต่โดยมติของที่ประชุมใหญ่ และต้องนำไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติ แต่ถ้านายทะเบียนเห็นว่าการแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับนั้นขัดต่อวัตถุที่ประสงค์ของสมาคมการค้า หรือขัดต่อกฎหมาย ห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนการแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับนั้น
          ถ้านายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนการแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับ ให้นำ มาตรา ๑๐ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

          มาตรา ๓๐ การตั้งกรรมการหรือการเปลี่ยนตัวกรรมการของสมาคมการค้า ต้องนำไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันตั้งหรือเปลี่ยนตัวกรรมการ
          *ถ้านายทะเบียนเห็นว่าผู้ได้รับการตั้งให้เป็นกรรมการนั้น เป็นผู้ซึ่งมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจเป็นภัยต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ หรือต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นายทะเบียนมีอำนาจไม่รับจดทะเบียนผู้นั้นเป็นกรรมการของสมาคมการค้าได้


* แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสมาคมการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๘

          มาตรา ๓๑ ผู้ใดประสงค์จะขอตรวจหรือคัดเอกสาร หรือขอให้คัดและรับรองสำเนาเอกสาร เกี่ยวกับสมาคมการค้า ให้ยื่นคำขอตามแบบที่นายทะเบียนกลางสมาคมการค้ากำหนด
          [ดูระเบียบสำนักงานกลางทะเบียนสมาคมการค้า ว่าด้วยการจดทะเบียนสมาคมการค้า พ.ศ. ๒๕๔๗]
          [ดูระเบียบสำนักงานกลางทะเบียนสมาคมการค้า ว่าด้วยการจดทะเบียนสมาคมการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๒]

          มาตรา ๓๒ เมื่อปรากฏว่าคณะกรรมการ กรรมการหรือสมาชิกของสมาคมการค้ากระทำการใด ๆ อันอาจเป็นภัยต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ หรือต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้คณะกรรมการ กรรมการหรือสมาชิกนั้นระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำนั้น ภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด

          มาตรา ๓๓ เมื่อสมาคมการค้ากระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา ๒๒ รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้กรรมการทั้งคณะ หรือเป็นรายบุคคลออกจากตำแหน่งได้ ในกรณีเช่นนี้ คณะกรรมการหรือกรรมการนั้นไม่มีสิทธิเป็นกรรมการสมาคมการค้าอีก เว้นแต่ จะพ้นกำหนดสามปีนับแต่วันที่ถูกรัฐมนตรีสั่งให้ออกจากตำแหน่ง

          มาตรา ๓๔ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าสมาคมการค้าใด จะดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมายหรืออาจเป็นภัยต่อเศรษฐกิจความมั่นคงของประเทศ หรือต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้สมาคมการค้านั้นแจ้งวันเวลาประชุมทุกคราวมา ให้นายทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน ในกรณีเช่นนี้ให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปฟังการประชุมได้
          สมาคมการค้าใดไม่แจ้งวันเวลาประชุมตามคำสั่งของนายทะเบียน ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้สมาคมการค้านั้นงดการประชุมได้ครั้งหนึ่งไม่เกิน เก้าสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนสั่ง
          ในกรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้งดการประชุม ให้นำมาตรา ๑๐ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

          มาตรา ๓๕* ถ้าที่ประชุมใหญ่ของสมาคมการค้าลงมติ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือข้อบังคับของสมาคมการค้า เมื่อสมาชิกคนหนึ่งคนใดหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอ ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่นั้นเสีย แต่ในกรณีที่สมาชิกร้องขอให้เพิกถอนให้กระทำภายใน กำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้ลงมตินั้น


* แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสมาคมการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙

          มาตรา ๓๖* ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้เลิกสมาคมการค้าได้ในกรณีดังต่อไปนี้
          (๑) เมื่อปรากฏว่าการกระทำของสมาคมการค้าผิดต่อกฎหมาย หรือเป็นภัยต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ หรือต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
          (๒) เมื่อสมาคมการค้าปฏิบัติการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๒๒ และการกระทำนั้นเป็นการเสียหายอย่างร้ายแรง
          (๓) เมื่อสมาคมการค้าไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปหรือหยุดดำเนินกิจการตั้งแต่สองปีขึ้นไป
(๔) เมื่อปรากฏว่าสมาคมการค้าให้ หรือยอมให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่กรรมการดำเนินกิจการในหน้าที่ของกรรมการ
กรรมการของสมาคมการค้าที่รัฐมนตรีสั่งให้เลิกตาม (๑) (๒) หรือ (๔) ผู้ใดซึ่งมีส่วนในการกระทำอันเป็นเหตุให้สมาคมการค้านั้นถูกรัฐมนตรีสั่งให้เลิก ไม่มีสิทธิเป็นกรรมการสมาคมการค้าอีก เว้นแต่จะพ้นกำหนดสามปีนับแต่วันที่รัฐมนตรีสั่งให้เลิกสมาคมการค้านั้น


* แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสมาคมการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๐

หมวด ๕

การเลิกสมาคมการค้า

          มาตรา ๓๗ สมาคมการค้าย่อมเลิกด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้
          (๑) ถ้ามีข้อบังคับกำหนดให้เลิกในกรณีใด เมื่อมีกรณีนั้น
          (๒) ถ้าตั้งโดยมีกำหนดเวลา เมื่อสิ้นกำหนดเวลานั้น
          (๓) เมื่อที่ประชุมใหญ่ลงมติให้เลิก
          (๔) เมื่อล้มละลาย
          (๕) เมื่อรัฐมนตรีสั่งให้เลิกตาม มาตรา ๓๖
          ให้สมาคมการค้าที่เลิกตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) แจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่เกิดมีเหตุที่ทำให้เลิก

          มาตรา ๓๘ ภายใต้บังคับ มาตรา ๑๐ วรรคสาม เมื่อสมาคมการค้าใดเลิกไป เพราะเหตุใดเหตุหนึ่งตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๓๗ ให้นายทะเบียนเพิกถอนใบอนุญาต และขีดชื่อสมาคมการค้านั้นออกจากทะเบียน ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าสมาคมการค้านั้นคงดำเนินการต่อไปได้เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีเท่านั้น

          มาตรา ๓๙ การชำระบัญชีสมาคมการค้าซึ่งเลิกตาม มาตรา ๓๗ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันว่าด้วยการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด มาใช้บังคับโดยอนุโลม

          มาตรา ๔๐ เมื่อได้ชำระบัญชีแล้ว ถ้ามีทรัพย์สินเหลืออยู่เท่าใดจะแบ่งให้แก่สมาชิกของ สมาคมการค้าไม่ได้ ทรัพย์สินทั้งนั้นจะต้องโอนไปให้แก่นิติบุคคลอื่นที่มีวัตถุที่ประสงค์ เกี่ยวกับการกุศลสาธารณะตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับของสมาคมการค้า หรือถ้าไม่ได้ระบุไว้ ก็ให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมใหญ่ว่าจะโอนไปให้แก่นิติบุคคลใดที่มีวัตถุที่ประสงค์ เกี่ยวกับการกุศลสาธารณะ ในกรณีนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ให้ทรัพย์สินที่เหลือนั้นตกเป็นของรัฐ

หมวด ๖

บทกำหนดโทษ

          มาตรา ๔๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖ หรือมาตรา ๘ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา ๔๒ ผู้ใดเป็นสมาชิกของสมาคมการค้าที่มิได้รับอนุญาตตามมาตรา ๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

          มาตรา ๔๓* (ยกเลิก)


* ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติสมาคมการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๑

          มาตรา ๔๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าสิบบาทจนกว่าจะได้จัดการแก้ไข ให้ถูกต้อง

มาตรา ๔๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าสิบบาทจนกว่าจะเลิกใช้

          มาตรา ๔๖ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๒๔ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๕ วรรคสี่ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

          มาตรา ๔๗ สมาคมการค้าใดไม่ยอมให้สมาชิกตรวจสอบกิจการ และทรัพย์สินของสมาคมการค้านั้นตามมาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน หนึ่งพันบาท

          มาตรา ๔๘ สมาคมการค้าใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๒ หรือมาตรา ๒๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

          มาตรา ๔๙ กรรมการของสมาคมการค้าผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๒ หรือกระทำการอันเป็นการผิดวัตถุที่ประสงค์ของสมาคมการค้าและการกระทำนั้นเป็นภัย ต่อเศรษฐกิจความมั่นคงของประเทศ หรือต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท

          มาตรา ๕๐ สมาคมการค้าใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ หรือ มาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

          มาตรา ๕๑ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๓๒ หรือมาตรา ๓๔ วรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

          มาตรา ๕๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๓ หรือยังขืนเป็นกรรมการหรือสมาชิกของสมาคมการค้า ที่เลิกตามมาตรา ๓๗ หรือตามมาตรา ๕๕ วรรคสามแล้ว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา ๕๓ สมาคมการค้าใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๗ วรรคสอง หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๙ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

          มาตรา ๕๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา ๕๔/๑* บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียว ให้อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบได้ และเมื่อผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับตามที่ได้เปรียบเทียบแล้ว ให้คดีเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา


* แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสมาคมการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๒

บทเฉพาะกาล

          มาตรา ๕๕ บรรดาสมาคมที่ได้จดทะเบียนเป็นสมาคมตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ อันมีลักษณะ หรือวัตถุที่ประสงค์อย่างเดียวกับสมาคมการค้า หากประสงค์จะเป็นสมาคมการค้า ตามพระราชบัญญัตินี้ต้องขออนุญาตเป็นสมาคมการค้าภายในกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อได้รับอนุญาตให้เป็นสมาคมการค้า ตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้นายทะเบียนสมาคมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ขีดชื่อสมาคมนั้นออกเสียจากทะเบียนสมาคม
          บรรดาทรัพย์สินและหนี้สินของสมาคมที่มีลักษณะ หรือวัตถุที่ประสงค์อย่างเดียวกับสมาคมการค้าที่ได้รับอนุญาตและจดทะเบียน เป็นสมาคมการค้าตามพระราชบัญญัตินี้ ให้โอนมาเป็นของสมาคมการค้าที่ได้จัดตั้งขึ้นใหม่
ถ้าสมาคมที่มีลักษณะหรือวัตถุที่ประสงค์อย่างเดียว กับสมาคมการค้าที่ได้จดทะเบียนเป็นสมาคมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ขออนุญาตเป็นสมาคมการค้าตามพระราชบัญญัตินี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นอันเลิก และให้นายทะเบียนสมาคมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ขีดชื่อสมาคมนั้นออกเสียจากทะเบียนสมาคม
          ถ้าสมาคมไม่พอใจในคำสั่งของนายทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ให้ขีดชื่อออกจากทะเบียนสมาคมก็มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ โดยยื่นอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรี ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ถนอม กิตติขจร
นายกรัฐมนตรี


ค่าธรรมเนียม

(๑) คำขอ ฉบับละ ๒ บาท
(๒) ใบอนุญาตสมาคมการค้า ฉบับละ ๕๐๐ บาท
(๓) ใบแทนใบอนุญาตสมาคมการค้า ฉบับละ ๕๐ บาท
(๔) การจดทะเบียนแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับ หรือการจดทะเบียนตั้ง หรือเปลี่ยนตัวกรรมการ ครั้งละ ๕ บาท
(๕) การขอตรวจหรือคัดเอกสาร ครั้งละ ๕ บาท
(๖) การขอให้คัดและรับรองสำเนาเอกสาร ฉบับละ ๒๐ บาท

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจาก ในเวลานี้ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยสมาคมการค้าโดยเฉพาะ สมาคมการค้าต่าง ๆ ที่มีอยู่ได้จดทะเบียนเป็นสมาคมธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่วัตถุที่ประสงค์และวิธีดำเนินการของสมาคมการค้าย่อมแตกต่างกับสมาคมธรรมดาเป็นอันมาก และสมาคมการค้าย่อมมีอิทธิพลสำคัญเกี่ยวกับการค้าและเศรษฐกิจของประเทศและอาจดำเนินกิจการ อันทำให้เกิดความปั่นป่วนแก่ตลาดการค้าหรือตลาดการเงินทั้งในประเทศและนอกประเทศ หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทบกระเทือนการครองชีพของประชาชนได้ จึงเป็นการสมควรที่ จะแยกสมาคมการค้าออกจากสมาคมธรรมดา และวางระเบียบในการจัดตั้ง กำหนดขอบเขตแห่งวัตถุที่ประสงค์ วิธีดำเนินกิจการของสมาคมการค้า และการควบคุมการดำเนินงานของสมาคมการค้า ทั้งกำหนดข้อห้าม มิให้สมาคมการค้าดำเนินการใดๆ อันจะเป็นผลกระทบกระเทือนการค้า เศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศ ตลอดจนกำหนดวิธีการลงโทษสมาคมการค้าเมื่อดำเนินการอันผิดกฎหมาย รวมทั้งการสั่งยุบเลิกสมาคมการค้า จึงเป็นการสมควรที่จะตรากฎหมายว่าด้วยสมาคมการค้าขึ้นโดยเฉพาะ