กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขออนุญาตประกอบธุรกิจตามมาตรา ๑๗ พ.ศ. ๒๕๔๖ (ลงวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๖)

กฎกระทรวง
กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขออนุญาตประกอบธุรกิจตามมาตรา ๑๗
พ.ศ. ๒๕๔๖

-------------------------------------------------------------------------------

 

          อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗ และมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๔๒ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งตามมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพาณิชย์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

          ข้อ ๑ ให้คนต่างด้าวที่ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจตามมาตรา ๑๗ ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามแบบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ประกาศกำหนด พร้อมด้วยหลักฐานและเอกสาร ดังต่อไปนี้

(ก) บุคคลธรรมดา

(๑) สำเนาหนังสือเดินทางหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
(๒) สำเนาทะเบียนบ้าน ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรหรือหลักฐานการได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
(๓) คำรับรองของผู้ขอรับใบอนุญาต แสดงว่าตนมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๔๒
(๔) หนังสือแจ้งรายละเอียดของประเภทธุรกิจ ที่ขอรับใบอนุญาต ซึ่งประกอบด้วยรายการดังต่อไปนี้

๑) ประเภทธุรกิจที่ขอรับใบอนุญาต รวมทั้งขั้นตอนการดำเนินการ
๒) ประมาณการรายจ่ายเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ผู้ขอรับใบอนุญาตจะใช้ในประเทศไทย สำหรับการประกอบธุรกิจเพื่อให้ได้มาซึ่งสินทรัพย์ถาวรและเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ ในแต่ละปีเป็นเวลาสามปี หรือตามระยะเวลาที่ประกอบธุรกิจในกรณีที่การประกอบธุรกิจไม่ถึงสามปี
๓) ขนาดของกิจการ
๔) จำนวนแรงงานในประเทศไทยที่ผู้ขอรับใบอนุญาตว่าจ้าง
๕) แผนการนำเทคโนโลยีเข้ามาจากต่างประเทศและการถ่ายทอดเทคโนโลยี(ถ้ามี)
๖) แผนการวิจัยและการพัฒนาโดยให้อธิบายแผนงานที่จะมีการวิจัยและพัฒนา (ถ้ามี)
๗) ระยะเวลาที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจ
๘) ผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมที่คาดว่าประเทศไทยจะได้รับจากการประกอบธุรกิจ

(๕) แผนที่แสดงที่ตั้งโดยสังเขปของสถานที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย

(ข) นิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย

(๑) สำเนาหนังสือรับรองหรือหลักฐานการเป็นนิติบุคคล ซึ่งแสดงรายการเกี่ยวกับชื่อ ทุน วัตถุประสงค์ ที่ตั้งสำนักงาน รายชื่อกรรมการและผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล
(๒) หนังสือแต่งตั้งผู้แทนโดยผู้มีอำนาจลงนาม ผูกพันนิติบุคคลตาม (๑) เป็นผู้แต่งตั้งให้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินกิจการในประเทศไทยแทนนิติบุคคล
(๓) สำเนาหนังสือเดินทาง ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้แทนที่ได้รับแต่งตั้งตาม (๒)
(๔) สำเนาทะเบียนบ้าน ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร หรือหลักฐานการได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองของผู้แทนที่ได้รับแต่งตั้งตาม (๒)
(๕) คำรับรองของผู้ขอรับใบอนุญาตแสดงว่าผู้ขอรับใบอนุญาต กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนที่ได้รับแต่งตั้งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๔๒
(๖) หลักฐานหรือเอกสารตาม (ก) (๔) และ (๕)

(ค) นิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย

(๑) หลักฐานหรือเอกสารตาม (ก) (๔) และ (๕)
(๒) หลักฐานหรือเอกสารตาม (ข) (๑)
(๓) คำรับรองของผู้ขอรับใบอนุญาตแสดงว่าผู้ขอรับใบอนุญาต กรรมการ หรือผู้จัดการ มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๔๒
(๔) หนังสือแจ้งสัดส่วนการถือหุ้นระหว่างคนไทย กับคนต่างด้าว จำนวนหุ้น ประเภทหรือ ชนิดของหุ้นที่คนต่างด้าวถือ

          ข้อ ๒ ผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องกรอกข้อความในคำขอโดยการพิมพ์ให้ครบถ้วน พร้อมทั้งลงลายมือชื่อผู้ขอรับใบอนุญาตหรือลงลายมือชื่อของผู้รับมอบอำนาจ ในกรณีที่มีการมอบอำนาจให้บุคคลอื่นเป็นผู้กระทำการแทน

          ข้อ ๓ ในกรณีที่การมอบอำนาจได้กระทำในต่างประเทศ หนังสือมอบอำนาจนั้นต้องมีคำรับรองของเจ้าหน้าที่ หรือผู้ซึ่งกฎหมายของประเทศนั้นกำหนดให้เป็นผู้มีอำนาจรับรอง หรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของสถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยซึ่งประจำอยู่ในประเทศนั้น รับรองไว้ไม่เกินหกเดือนก่อนวันยื่นคำขอรับใบอนุญาต

          ข้อ ๔ ในกรณีที่การมอบอำนาจนั้นได้กระทำในประเทศไทยโดยผู้มอบอำนาจมิได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ต้องส่งสำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือเดินทางหรือหนังสือรับรองถิ่นที่อยู่ชั่วคราว หรือหลักฐานอื่น ที่แสดงว่าในขณะที่มอบอำนาจ ผู้นั้นได้เข้ามาในประเทศไทยจริง

          ข้อ ๕ ในกรณีที่หลักฐานหรือเอกสารประกอบคำขอได้มีการลงลายมือชื่อในต่างประเทศ ผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องจัดให้มีคำรับรองการลงลายมือชื่อดังกล่าว โดยให้นำความในข้อ ๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

          ข้อ ๖ ในการยื่นหลักฐานหรือเอกสารประกอบคำขอ หากเป็นภาษาต่างประเทศจะต้องมีคำแปลเป็นภาษาไทย โดยผู้ขอรับใบอนุญาตและผู้แปลต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้อง

          ข้อ ๗ ในการยื่นสำเนาหรือภาพถ่ายหลักฐานหรือเอกสารประกอบคำขอ ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องรับรองความถูกต้องของสำเนาหรือภาพถ่ายนั้น

          [ดูประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดแบบคำขอและใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ตามมาตรา ๑๗ พ.ศ. ๒๕๔๖]

          ข้อ ๘ การยื่นคำขอรับใบอนุญาต ให้ยื่น ณ สถานที่ดังต่อไปนี้

(๑) กรุงเทพมหานคร ให้ยื่น ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือ ณ สถานที่อื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
(๒) จังหวัดอื่น ให้ยื่น ณ สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด หรือ ณ สถานที่อื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

          ข้อ ๙ ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาอนุญาต พนักงานเจ้าหน้าที่อาจขอให้ผู้ขอรับใบอนุญาตชี้แจง ข้อเท็จจริงหรือส่งหลักฐานหรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องก็ได้

          ข้อ ๑๐ ใบอนุญาตให้ใช้แบบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ประกาศกำหนด

 

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑ พฤษภาคม พ. ศ. ๒๕๔๖
อดิศัย โพธารามิก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดให้คนต่างด้าวซึ่งประสงค์จะประกอบธุรกิจตามบัญชีสองและบัญชีสามท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๔๒ ต้องยื่นคำขออนุญาตต่อรัฐมนตรีหรืออธิบดีตามหลักเกณฑ์และวีธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้