กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการออกหุ้นเพื่อชำระหนี้และโครงการแปลงหนี้เป็นทุนในการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท พ.ศ. ๒๕๔๔(ลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๔)

กฎกระทรวง
กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการออกหุ้นเพื่อชำระหนี้และโครงการ
แปลงหนี้เป็นทุนในการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท
พ.ศ. ๒๕๔๔
--------------------------------------------------------------------------------

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๔ (๔) แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ และมาตรา ๕๔/๑ แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๔ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ การออกหุ้นเพื่อชำระหนี้ตามโครงการแปลงหนี้เป็นทุนในการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทตามมาตรา ๕๔/๑ จะต้องเป็นการออกหุ้นใหม่ของบริษัทและให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้

(๑) คณะกรรมการต้องจัดส่งโครงการแปลงหนี้เป็นทุนให้แก่ผู้ถือหุ้น พร้อมกับหนังสือนัดประชุมเพื่อพิจารณาอนุมัติการออกหุ้นใหม่เพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามโครงการแปลงหนี้เป็นทุน
(๒) โครงการแปลงหนี้เป็นทุนต้องมีรายการอย่างน้อย ดังต่อไปนี้

(ก) นโยบายและวิธีดำเนินการโครงการแปลงหนี้เป็นทุน เหตุผล ผลดี ผลเสีย และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการตามโครงการแปลงหนี้เป็นทุน
(ข) สรุปรายการย่อของงบการเงินของปีที่ทำโครงการแปลงนี้เป็นทุน ซึ่งแสดงสินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนของผู้ถือหุ้น รายได้รวมและกำไรขาดทุนของบริษัท
(ค) สรุปรายการย่อของงบการเงินประจำปีที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีแล้วย้อนหลังสามปีล่าสุดก่อนปีที่ทำโครงการแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งแสดงสินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนของผู้ถือหุ้น รายได้รวม และกำไรขาดทุนของบริษัท ในกรณีที่บริษัทจัดตั้งไม่ครบสามปี ให้สรุปรายการย่อดังกล่าวย้อนหลังตามจำนวนรอบปีบัญชีที่มี
(ง) ชื่อ ที่อยู่และจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้แต่ละรายที่บริษัทประสงค์จะออกหุ้นใหม่เพื่อชำระหนี้ตามโครงการแปลงหนี้เป็นทุน ทั้งนี้ หนี้นั้นต้องมีหลักฐานและอาจกำหนดจำนวนเงินได้โดยแน่นอน และในกรณีที่เจ้าหนี้นั้นเป็นกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือรองผู้จัดการของบริษัทเป็นผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท หรือเป็นคู่สมรสหรือบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าวข้างต้น ให้ระบุฐานะของเจ้าหนี้เช่นว่านั้นไว้โดยชัดเจนด้วย
การนับจำนวนหุ้นดังกล่าว ให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้ถือหุ้นด้วย
(จ) ชื่อและจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้รายอื่นแต่ละรายนอกจากเจ้าหนี้ตาม (ง) ที่มีจำนวนหนี้สูงสุดอย่างน้อยสิบลำดับ
(ฉ) ชนิดและจำนวนหุ้นที่บริษัทจะออกใหม่เพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แต่ละรายตามโครงการแปลงหนี้เป็นทุน
(ช) ราคาหุ้นที่ออกใหม่และหลักเกณฑ์ในการกำหนดราคาหุ้น

(๓) การออกหุ้นใหม่เพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามโครงการแปลงหนี้เป็นทุนต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

ข้อ ๒ เมื่อได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นแล้ว ให้บริษัทเปิดเผยสรุปรายการย่อของโครงการแปลงหนี้เป็นทุนตามข้อ ๑ (๒) โดยปิดประกาศ ณ ที่ทำการสำนักงานแห่งใหญ่และสำนักงานสาขาของบริษัท (ถ้ามี) โดยไม่ชักช้า
ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับ ในกรณีที่มีกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับอื่นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนดให้บริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการออกหุ้นเพิ่มทุนซึ่งมีรายการไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๒) และบริษัทได้ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับนั้นแล้ว

ข้อ ๓ ให้บริษัทจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของบริษัท โดยแนบสำเนาโครงการแปลงหนี้เป็นทุนพร้อมสำเนาเอกสารหลักฐานการชำระเงินค่าหุ้นโดยการแปลงหนี้เป็นทุนและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเฉพาะหุ้นที่ออกใหม่ตามโครงการแปลงหนี้เป็นทุน
ให้นายทะเบียนบันทึกจำนวนหุ้นที่ออกใหม่ตามโครงการแปลงหนี้เป็นทุนไว้ในทะเบียนด้วย

 

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๔
อดิศัย โพธารามิก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๕๔/๑ แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๔ บัญญัติให้มีการออกหุ้นใหม่เพื่อชำระหนี้ตามโครงการแปลงหนี้เป็นทุนในกรณีที่บริษัทปรับโครงสร้างหนี้ได้ โดยการออกหุ้นใหม่ดังกล่าวต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้