ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ (การใช้ชื่อของบริษัทมหาชนจำกัด) (ลงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๓๕)

กฎกระทรวง
ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๓๕)
ออกตามความในพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด
พ.ศ. ๒๕๓๕

--------------------------------------------------------------------------------

 
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ มาตรา ๑๔ (๔) และมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
 
ข้อ ๑ บริษัทต้องไม่ใช้ชื่อดังต่อไปนี้ เป็นชื่อหรือส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทโดยมิได้รับพระบรมราชานุญาต หรือมิได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

(๑) พระนามของพระเจ้าแผ่นดิน พระมเหสี หรือรัชทายาท หรือพระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวงศ์ปัจจุบัน
(๒) ชื่อประเทศ กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ หรือองค์การของรัฐ
(๓) ชื่อที่มีความหมายแสดงว่า บริษัทหรือกิจการของบริษัทเป็นบริษัทหรือกิจการที่รัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการ ราชการ ส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐหรือองค์การของรัฐทั้งของประเทศไทยหรือต่างประเทศ รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ เป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ดำเนินกิจการ

ข้อ ๒ บริษัทต้องไม่ใช้ชื่อ คำ หรือข้อความที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ เป็นชื่อหรือส่วนหนึ่งของชื่อบริษัท

(๑) ขัดต่อแนวนโยบายแห่งรัฐ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(๒) อาจก่อให้เกิดความสำคัญผิด หรือการหลอกลวงประชาชนเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของ ลักษณะ วัตถุประสงค์ หรือฐานะของกิจการ หรือในประการอื่น

ข้อ ๓ ในกรณีที่ใช้ชื่อเป็นอักษรภาษาต่างประเทศ บริษัทต้องเขียนชื่อภาษาต่างประเทศนั้นเป็นภาษาอังกฤษ ให้มีการออกเสียงตรงหรือมีความหมายตรงกับชื่อภาษาไทย โดยมีคำว่า "Public Company Limited" ต่อท้ายชื่อ

ข้อ ๔ ในกรณีที่บริษัทประกอบกิจการธนาคาร บริษัทจะไม่ใช้คำว่า "บริษัท" นำหน้าชื่อ ก็ได้

 

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕
อมเรศ ศิลาอ่อน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้คือ โดยที่มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติให้การใช้ชื่อบริษัทเป็นภาษาต่างประเทศ ลักษณะต้องห้ามของการใช้ชื่อบริษัท และกำหนดประเภทของธุรกิจที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องใช้คำว่า "บริษัท " นำหน้าชื่อ ต้องเป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้